โลกร้อนเป็นเหตุ ไม่ใช่หมีขาวที่เป็นแพะ เตือน! นับถอยหลังระบบนิเวศพัง

Share

 

ภาพของหมีขาวงีบหลับบนภูเขาน้ำแข็งที่ปริแตกลอยอยู่กลางทะเล อาจดูสวยงามจนคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดภาพช่างภาพสัตว์ป่าแห่งปีระดับนานาชาติ แต่เบื้องหลังภาพคือเรื่องราวอันน่าเศร้า ผลพวงจากภาวะเรือนกระจก

“โลกร้อน” ไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว แต่กระทบกับทุกห่วงโซ่ระบบนิเวศความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต ทั้งน้ำ อาหาร อากาศ และโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเซาะกร่อนสุขภาพของทั้งโลก

การละลายของน้ำแข็งบริเวณอาร์กติกที่เกิดเร็วขึ้น ผลจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปถึง 4 เท่า ไม่เพียงทำให้ประชากรหมีขั้วโลกแทบไร้ที่อยู่ สิ่งที่น่ากังวลคือ การฟื้นคืนชีพของเชื้อโรคที่หลับใหลอยู่ใต้น้ำแข็งมาเป็นร้อยเป็นพันปี เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น เช่น การระบาดของโรคแอนแทร็กในประชากรกวางเรนเดียร์

ล่าสุด วารสาร Public Library of Science (PLOS ONE) รายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับหมีขั้วโลกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในเขตอาร์กติกกำลังเพิ่มความเสี่ยงที่หมีขั้วโลกจะติดเชื้อโรคต่างๆ มากขึ้น จากการเก็บตัวอย่างเลือดและมูลของเจ้าบ้านตัวโตขนสีขาว ที่อยู่แถบทะเลชุกชี ขอบทวีปมหาสมุทรอาร์กติก ระหว่างอลาสกาและรัสเซีย วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่เคยทำเมื่อ 30 ปีก่อน

นักชีววิทยาด้านสัตว์ป่า Karyn Rode จากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา เจ้าของงานวิจัยร่วมกับ Caroline Van Hemert บอกถึงเหตุผลของการทำวิจัยนี้ว่าต้องการทราบผลจากการสัมผัสเชื้อซอมบี้เหล่านี้ โดยเฉพาะกับเชื้อโรคบางชนิดที่เชื่อว่าแพร่กระจายบนบกเป็นหลัก

พบว่า หมีขาวติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต มากถึง 5 ชนิด ซึ่งเป็นตัวก่อโรคและพบได้บ่อยในหมีขั้วโลกได้แก่ ปรสิต 2 ชนิดที่ทำให้เกิดโรคทอกโซพลาสโมซิส และ นีโอสโปโรซิส แบคทีเรีย 2 ชนิด ที่ทำให้เกิดโรคไข้กระต่ายและโรคบรูเซลโลซิส และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบในสุนัข

แม้ว่าเชื้อที่พบนี้จะไม่ก่อโรคในหมีขั้วโลก เพราะความสามารถในการปรับตัวให้มีความทนต่อโรคเป็นเลิศ แต่ตัวมันเองก็เป็นพาหะของโรค!

ปัจจุบันทั่วโลกมีหมีขั้วโลกเหลืออยู่ประมาณ 26,000 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในแคนาดา นอกจากนี้ยังพบในสหรัฐอเมริกา รัสเซีย กรีนแลนด์ และนอร์เวย์ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาหมีขาวจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นฐานสำหรับล่าเหยื่อในทะเลด้วย จึงไม่แปลกที่งานวิจัยก่อนหน้ารายงานว่าหมีใช้เวลาส่วนใหญ่ของปีอยู่บนบก

“หมีขั้วโลกเป็นสัตว์นักล่าชั้นเยี่ยม การศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่า หมีขั้วโลกได้รับเชื้อบางชนิดจากสัตว์ที่เป็นเหยื่อ นั่นทำให้เชื่อว่ามีบางสิ่งในระบบนิเวศอาร์กติกที่กำลังเปลี่ยนไป”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจพบแอนติบอดี Neospora caninum ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางระบบประสาทและการตายของลูกวัวตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยพบในตัวอย่างเลือดหมีขาวมากขึ้นจาก 13.7% เป็น 65.1% ในระยะเวลา 30 ปี ถือเป็นการเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีรายงานในหมีขั้วโลก

ดร.โรด ย้ำว่า สิ่งที่ได้พบจากตัวอย่างเลือดของหมีขั้วโลกเป็นตัวบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังประสบอยู่เช่นกัน

ที่น่าวิตกคือ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบอาร์กติกบางครั้งล่าหมีขั้วโลกกินเป็นอาหาร และเชื้อโรคหลายชนิดที่ตรวจพบจากการศึกษาในครั้งนี้สามารถแพร่สู่มนุษย์ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงการวิจัยเบื้องต้น ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อให้ได้ผลสรุปที่แน่ชัด.

 

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles