แทบขาดใจ Global Boiling ทำอย่างไรเมื่อโลกอยู่ในภาวะหม้อต้มกบ!

Global Boiling
Share

 

จะไทยหรือประเทศไหนๆ ก็สุกได้เสมอกัน…

ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าปีนี้ หรือในความเป็นจริงต้องบอกว่าปีที่แล้ว “ร้อนที่สุด” โดยเฉพาะเอเชีย เพราะการทุบสถิติความร้อนเมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง แต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 ที่อุณหภูมิโลกทำสถิติร้อนสูงสุดใหม่เกือบทุกวัน และยังคงร้อนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

กระทั่งล่าสุดประเทศไทยทำนิวไฮทะลุ 44 องศาเซลเซียสไปแล้ว ยิ่งอินเดียผู้ประกาศสาวถึงกับเป็นลมกลางอากาศขณะไลฟ์สดในรายการ โรงเรียนหลายแห่งต้องประกาศปิดเรียนเป็นการชั่วคราวทั้งในอินเดียและฟิลิปปินส์

ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยหลักแล้วเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็วจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเกิดแทรกขึ้นมาในภาวะที่อุณหภูมิโลกระยะยาวกำลังสูงขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบเต็มๆ ในช่วงต้นปีจนถึงราวกลางปี 2567 ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับปรากฏการณ์ลานีญา โดยพื้นที่ที่เคยร้อนแล้งจะมีฝนตกชุก ส่วนพื้นที่ที่เคยฝนตกชุกก็จะร้อนแล้งสลับขั้วกัน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ต้องออกมายอมรับว่า ภาวะโลกร้อนทำให้อากาศในเอเชียเมื่อปีที่แล้วสุดขั้วยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ตั้งแต่ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ไปจนถึงน้ำท่วมและพายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์ดังกล่าวรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ โดยแนวโน้มภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่านับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2504-2533

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2566 มีรายงานการเกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อันตรายทางด้านอุตุนิยมวิทยาอุทกวิทยาในเอเชียรวม 79 ครั้ง ในจำนวนนี้มากกว่าร้อยละ 80 เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมและพายุ โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย และมีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอีก 9 ล้านคน เช่น ผลกระทบทางด้านสุขภาพอันเนื่องจากความร้อนจัดที่มักไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ

ความร้อนดังกล่าวส่งผลต่อธารน้ำแข็งกว่า 20 แห่งจากทั้งหมด 22 แห่งในภูมิภาคเอเชียสูญเสียมวลอย่างต่อเนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนทำลายสถิติ ขณะเดียวกันความร้อนยังละลายชั้นดินเยือกแข็งที่เรียกว่า ‘เพอร์มาฟอร์สต์’ (Permafrost) เป็นผลให้พื้นที่ที่เคยปกคลุมด้วยหิมะในเอเชียในปี 2566 ลดน้อยลงมากถึงมากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2541-2563

รายงานดังกล่าวยังระบุรายละเอียดว่าในปี 2566 เหตุการณ์ภัยพิบัติจากสภาพอากาศกว่าร้อยละ 80 ที่เกิดจากน้ำท่วมและพายุรุนแรง โดยเฉพาะน้ำท่วมทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในอินเดีย เยเมน และปากีสถาน เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าภูมิภาคแห่งนี้มีความเปราะบางมากที่สุดและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านวาตภัยก็เช่นกัน ในปี 2566 มีพายุหมุนเขตร้อนสุดขั้วกว่า 17 ลูกที่ก่อตัวขึ้นเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และทะเลจีนใต้ แม้จำนวนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีปริมาณน้ำฝนตกหนักในคราเดียวทำลายสถิติ โดยเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ เช่นจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ที่หอสังเกตการณ์สำนักงานใหญ่ในฮ่องกง บันทึกปริมาณน้ำฝนรายชั่วโมงได้รวมกว่า 158.1 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเริ่มบันทึกในปี 2427 หรือกว่า 140 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันหลายสถานีในเวียดนามก็บันทึกปริมาณน้ำฝนรายวันสูงสุดในระดับทำลายสถิติด้วยเช่นกัน

ฝนตกหนักเหล่านี้ทำให้เกิดน้ำท่วมในประเทศซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงเยเมนอีกด้วย นอกจากนี้ผลกระทบยังขยายขอบเขตไปไกลถึงพื้นที่ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายนในปี 2566

สำหรับแนวโน้มอุณหภูมิโลกในปี 2567 นั้น นักเฝ้ามองปรากฏการณ์เหล่านี้มีความกังวลกันว่าทิศทางมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยแต่ละปีที่ร้อนขึ้นทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาวของโลกยิ่งเข้าใกล้ 1.5 องศาเซลเซียสมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจาก “โลกร้อน” เป็น “โลกเดือด” (Global Boiling) เป็นผลให้เกิดอากาศแบบสุดขั้ว ยังก่อให้เกิดสภาพอากาศที่แปรปรวนจนคาดเดาไม่ได้

แม้ว่าจะมีผู้กล่าวว่า ทฤษฎีกบต้มนั้นไม่มีอยู่จริง เพราะกว่าน้ำจะเดือด กบเหล่านั้นก็กระโดดออกจากหม้อต้มแล้ว แต่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสุดขั้วเพราะฝีมือมนุษย์ เราจะกระโดดออกจากหม้อต้มใบใหญ่นี้อย่างไร นอกจากหาโลกใบใหม่อยู่แทน

เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของใคร ทวีปไหน แต่เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ต่างจากหม้อต้มกบใบนี้ที่ระอุและแปรปรวนมากขึ้นทุกวัน แม้ว่าการควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาจะไม่ง่ายก็ตาม แต่ทุกคนต้องช่วยกันหยุดภาวะเดือดนี้ ช่วยกันราฟืนที่กำลังต้มอยู่

ลองเริ่มจากลดการใช้ไฟฟ้า เช่น ถอดปลั๊กเครื่องไฟฟ้าทุกชิ้นก่อนออกจากบ้าน เดินทางด้วยรถสาธารณะ ลดการก่อไอเสีย ซึ่งปัจจุบันเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดกันบ้างแล้ว ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งภาชนะทำจากโฟม ลดขยะอาหาร ปลูกต้นไม้เติมสีเขียวให้กับพื้นที่ เป็นต้น

…เพื่อว่ากบอย่างเราๆ จะอยู่รอดไปด้วยกัน.

 

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles