Digital Narcissism ความหลงตัวเองในโลกดิจิทัล นำพาชีวิตสู่ความเป็นอาชญากร

Digital Narcissism
Share

 

Digital Narcissism

ความหลงตัวเองในโลกดิจิทัล

นำพาชีวิตสู่ความเป็นอาชญากร

 

ซีรีส์กึ่งสารคดีเชิงข่าว Inventing Anna ดูเผิน ๆ ก็เหมือนเรื่องราวสนุกชวนติดตามเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยชีวิตของ Anna Delvey สาวน้อยไฮโซทายาทมหาเศรษฐีที่ปลุกปั้นธุรกิจใหม่กลางเมืองนิวยอร์ก โปรไฟล์หรูหราสุดยอดของเธอดึงดูดคนดังทั่วมหานครของโลกให้มารู้จัก นำมาสู่การสร้างธุรกิจที่กลายเป็นเรื่องแหกตาระดับโลก จน Netflix ขอซื้อลิขสิทธิ์มาจากเธอเมื่อปี 2018

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเราคงไม่สปอยล์กันในที่นี้ แต่ลองคิดดูเราจะพบว่าสิ่งที่แอนนาทำไม่ต่างจากชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่อาศัยโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตนขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าตัวตนของเราในอินสตาแกรมที่บอกว่า “หน้าสดในห้องนอน” นั้น มักจะหมายถึง “แต่งหน้าจัดเต็มในรีสอร์ตสุดหรู” เพื่อสร้างความเหนือจริง และสร้างภาพจำให้คนอื่นรับรู้ถึงตัวตนของเราในโลกดิจิทัลที่จะเพิ่มเติมสีสันเข้าไปเท่าไรก็ไม่มีใครว่า

ความหรูหราของชีวิตในโซเชียลมีเดียจึงสะท้อนผ่านรูปอาหารจานสวยในภัตตาคารชื่อดัง ซูเปอร์คาร์ เรือยอชต์ รีสอร์ตราคาแพงระยับ ฯลฯ เพราะคนในโลกโซเชียลไม่ได้สนใจว่าเขาคนนั้นเป็นเจ้าของสินทรัพย์ราคาแพงเหล่านั้นจริงหรือไม่ เพียงแต่โพสต์ให้ต่อเนื่องก็สร้างไลฟ์สไตล์คนดังได้แล้ว

ยอดคนติดตามที่ได้จากหมื่นเป็นแสนคนก็จะเป็นใบเบิกทางให้เข้าไปร่วมงานปาร์ตี้ไฮโซกับเหล่าเซเลบทั้งหลาย สร้างความพรีเมียมได้อีก เมื่อโปรไฟล์แบบนี้เริ่มติดลมบน ก็ไม่แปลกอะไรที่เจ้าของโปรไฟล์จะหลงใหลได้ปลื้มกับตัวตนใหม่ของตัวเองในโลกดิจิทัล กลายเป็น Digital Narcissism เพิ่มดีกรีการหลงตัวเองเข้าไปอีกขั้น

Credit Anna Sorokin arrives for sentencing at New York State Supreme Court, in New York, Thursday, May 9, 2019. Steven Hirsch/New York Post via AP
Credit Anna Sorokin arrives for sentencing at New York State Supreme Court, in New York, Thursday, May 9, 2019. Steven Hirsch/New York Post via AP

สำหรับ “เซเลบตัวจริง” ที่ใช้ชีวิตแบบนี้เป็นปกติอยู่แล้วย่อมไม่ได้ยากลำบากอะไรที่มีภาพแบบนี้ออกสื่อ แต่กับคนธรรมดาที่เผลอใจหลงใหลไปกับโลกปลอม ๆ ที่ตัวเองสร้างขึ้นจะพบว่ามันยากมากที่จะได้ชีวิตแบบนี้มาครอบครอง จึงต้องหาเรื่องราวสุดคูลเข้ามาเพิ่มเป็นโปรไฟล์ในชีวิต เช่นแอนนาที่แต่งภูมิหลังตัวเองเป็นทายาทเศรษฐีในยุโรป ซึ่งยิ่งโกหก ยิ่งปลอมเท่าไร ก็ยิ่งได้รับความชื่นชมมากขึ้นเท่านั้น แต่นั่นก็เพิ่มโอกาสให้คนอื่นจับผิดได้มากขึ้นเช่นกัน

แล้วทำไมต้องเสี่ยงโกหก ? เพราะเรื่องปลอม ๆ เหล่านี้มันดึงดูดให้คนสนใจได้เสมอ การบอกว่าตัวเองเป็นลูกมหาเศรษฐี เป็นศิษย์เอกของโปรเฟสเซอร์ชื่อดัง เป็นผู้ช่วยนักธุรกิจระดับโลก ฯลฯ มันคือ “แรร์คอนเทนต์” ที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในโลกความเป็นจริงแต่ปรุงแต่งได้ง่ายในโลกดิจิทัล และมันเป็นใบเบิกทางชั้นดีในการยกระดับชีวิตเข้าสู่โลกใหม่ที่พร้อมด้วยเงินทุนและชื่อเสียง

เพราะเมื่อรวยและโด่งดัง ก็ย่อมได้รับความเชื่อถือจากคนรอบข้างเสมอ คราวนี้จะหาทุนทำโครงการอะไรที่เคยอยากทำก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แอนนามองเห็นช่องว่างที่เกิดขึ้นและกระโจนเข้าใส่อย่างกัดไม่ปล่อยจนชีวิตเธอพังเพราะโลกปลอม ๆ ที่สร้างขึ้น

ข้อเท็จจริงที่น่ากังวลก็คือคนแบบแอนนา ไม่ได้มีแค่คนเดียวแต่แฝงตัวเงียบ ๆ อยู่ในทุกสังคมรวมถึงบ้านเราก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังเข้าสู่ภาวะ Digital Narcissism จมอยู่กับโลกดิจิทัลปลอม ๆ ที่ตัวเองสร้างขึ้นจนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นเรื่องจริง อะไรคือเรื่องโกหก ในขณะที่สังคมรอบข้างก็ให้ความชื่นชมนับถือในโปรไฟล์จอมปลอมของเขา

หากเขาใช้ใบเบิกทางที่ได้ ลงทุนในธุรกิจจริงที่น่าเชื่อถือและสร้างความเติบโตให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลได้ ก็ถือว่ารอดตัวไป แต่หากเป็นเรื่องตรงกันข้ามผมเชื่อว่าเขาจะจบลงที่ธุรกิจลวง ๆ อย่างแชร์ลูกโซ่ที่เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง DeFi, GameFi หรือเงินสกุลดิจิทัลมาเป็นตัวบังหน้า

บทเรียนชีวิตของแอนนาจึงอาจเป็นเพียงเรื่องบันเทิงเริงใจที่ไม่ได้ให้บทเรียนใด ๆ กับคนรุ่นใหม่เพราะยังคงเห็นคนเจริญรอยตามเธออีกนับไม่ถ้วน ด้วยความตื้นเขินของสังคมดิจิทัลทำให้มันคุ้มที่จะลองเสี่ยงดวงดูสักครั้ง

Picture Credit : Anna Sorokin arrives for sentencing at New York State Supreme Court, in New York, Thursday, May 9, 2019. Steven Hirsch/New York Post via AP

ปฐม อินทโรดม

ปฐม อินทโรดม

ประสบการณ์ทั้งภาครัฐและเอกชนด้านไอทีมากว่า 20 ปี อดีตผู้บริหารสื่อไอทีรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ชให้กับกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่เบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย รวมถึงที่ปรึกษาทางธุรกิจของบริษัทมหาชนจำกัด และบริษัทจำกัดอีกหลายแห่ง ส่วนร่วมกับภาครัฐ ร่วมเข้าเป็นกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย อุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมบล็อกเชนไทย เป็นต้น ด้านถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับสถาบันการศึกษาหลายแห่งเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

Related Articles