ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศแบบสุดขั้วบ่อยและถี่ขึ้น สะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นการเกิดไฟป่าที่ทวีความรุนแรงในหลายพื้นที่ คลื่นความร้อนที่เกิดมากขึ้น 5 เท่าในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ 150 ปีก่อน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอีกตามอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น สภาพอากาศแปรปรวนจนแทบจะคาดเดาไม่ได้ เกิดพายุทอร์นาโด พายุหมุนเขตร้อน น้ำท่วมในพื้นที่ทะเลทราย พายุหิมะถล่มนอกฤดูกาล ฯลฯ
โลกเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง!
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปแล้วไม่สามารถหวนกลับมาได้อีก นับแต่นี้มีเพียงแต่ประคับประคองบรรเทาไม่ให้รุนแรงมากไปกว่าที่ผ่านมา ภายใต้กรอบที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกต้องไม่เพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศา
ก่อนหน้านี้มีความพยายามค้นหาหลากหลายวิธีการรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด ตั้งแต่บนอวกาศยันใต้ทะเล สร้างแผงกั้นแสงอาทิตย์กางกั้นความร้อนให้น้ำแข็งละลายช้าลง ท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์และเสียงคัดค้านมากมาย ทำให้งานวิจัยทดลองไปได้ไม่สุด ไม่สามารถยืนยันผลเป็นที่แน่ชัด
ล่าสุด เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษตกลงใจลุยไปข้างหน้า อนุมัติเงินทุนจำนวนราว 50 ล้านปอนด์ผ่านหน่วยงานวิจัยและการประดิษฐ์ขั้นสูง หรือ ARIA ดำเนินการวิจัยและทดลองภาคสนามขนาดเล็กเกี่ยวกับวิศวกรรมธรณี เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญในการประเมินเทคโนโลยีเหล่านี้ในขั้นต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นการฉีดละอองลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (SAI) ทำให้เมฆมีความสว่างมากขึ้นเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ การเพิ่มความสว่างของเมฆทะเล (MCB) โดยพ่นละอองน้ำทะเลจากชายฝั่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มการสะท้อนแสงของเมฆเหนือมหาสมุทร หรือจำลองการใช้กระจกหรือแผงสะท้อนแสงในอวกาศ (SRM) ศึกษาผลกระทบของการสะท้อนแสงอาทิตย์ออกจากโลก
ด้วยหวังว่าหากช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิวและอันตรายจากวิกฤตสภาพอากาศแม้ได้เพียงชั่วคราว ทำให้มีเวลามากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แน่นอนว่าเกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้าง กังวลว่าการนำเงินจำนวนมหาศาลมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีเหล่านี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งเบี่ยงเบนความสนใจจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน บางโครงการมีการคัดค้านอย่างหนักกระทั่งต้องยกเลิกไป เช่น โครงการการจัดการรังสีดวงอาทิตย์ (SRM)
ขณะที่ศาสตราจารย์มาร์ก ไซเมส ผู้อำนวยการโครงการของ ARIA ยืนยันว่า ทุกๆ การทดลองจะกระทำอย่างเข้มงวด ระมัดระวังและปลอดภัยอย่างที่สุด
“เรายังขาดข้อมูลทางกายภาพที่แท้จริงที่จะแสดงให้เราเห็นว่าแนวทางที่มีศักยภาพเหล่านี้จะได้ผลจริงหรือไม่ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร การสร้างแบบจำลองและการศึกษาในร่มเป็นสิ่งสำคัญในฐานะข้อกำหนดเบื้องต้น ช่วยให้เราเข้าใจอะไรได้มากขึ้น”
สอดคล้องกับ แมทธิว เฮนรี นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์กายภาพ มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ที่บอกว่า
“ผมเชื่อว่าเราจำเป็นต้องศึกษาวิศวกรรมธรณีฟิสิกส์พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเครื่องมือเดียวที่มีศักยภาพในการลดอุณหภูมิในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อุณหภูมิโลกจะคงที่เท่านั้น ขณะที่ธารน้ำแข็งจะยังคงละลาย ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ดังนั้นการทดลองขนาดเล็กจะช่วยปรับปรุงแบบจำลองเหล่านี้ ให้ข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อแสดงกระบวนการเฉพาะพื้นที่ได้ดีขึ้น
ทางด้านโฆษก ARIA ย้ำว่า โครงการต่างๆ ออกแบบมาเพื่อสำรวจแนวทางที่เป็นไปได้ในการลดอุณหภูมิโลกในระยะสั้นอย่างจริงจัง เพื่อดำเนินการร่วมกับความพยายามในการลดคาร์บอนในระยะยาว
…ต้องไม่ลืมว่า เราแทบไม่เหลือเวลาให้ใจเย็นกันแล้ว.
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่