จับตา น้ำแข็ง “Arctic” ละลาย ชนวนเหตุขั้วอำนาจเปิด War ครั้งใหม่ ชิงขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

Share

 

ทวีปที่พอนึกถึงชื่อก็รู้สึกถึงความหนาวเย็นและแผ่นน้ำแข็งสุดลูกหูลูกตา แต่จะมีใครรู้ว่าน้ำแข็งเหล่านั้นเริ่มละลายจนกังวลเรื่องระดับน้ำจะท่วมโลก แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือ มีบางประเทศกำลังเข้าไปครอบครองเหตุเพราะ ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกซ่อนไว้ใต้แผ่นน้ำแข็งนั่นเอง

 

ขณะที่พื้นที่สงครามภาคพื้นดินแย่งชิงพื้นที่ในอิสราเอลยังคงปะทุอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ท่ามกลางแดนดินอันหนาวเย็น เต็มไปด้วยน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก เป็นอีกพื้นที่หอมหวาน ที่หลายประเทศจดๆ จ้องๆ เตรียมเข้าครอบครองแย่งชิงทรัพยากรใต้ผืนน้ำที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

ต้องยอมรับว่า รัสเซีย เป็นประเทศแรกๆ ที่พยายามเข้าไปบุกเบิก เริ่มจากเส้นทางทะเลเหนือ เทียบกับเส้นทางเดิมที่ต้องอ้อมยุโรปและผ่านคลองสุเอช สามารถลดเวลาการเดินทางลงถึง 15 วัน ไม่ต้องอ้อมไปไกล ประหยัดเวลาและประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงกว่ามากมาย เพียงแต่เมื่อก่อนครั้งที่โลกยังไม่วิกฤตเช่นขณะนี้ น่านน้ำมหาสมุทร์อาร์กติกสามารถใช้งานได้เพียงปีละ 4 เดือนในช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง โดยจะต้องใช้เรือตัดน้ำแข็งนำทาง กระนั้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณเรือขนส่งสินค้าที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้ยังเพิ่มขึ้นมากถึง 2 เท่า

แต่ปัจจุบันด้วยภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส กำลังทำให้ข้อจำกัดนี้หมดไป น้ำแข็งที่จับกันเป็นผืนใหญ่ค่อยๆ ปริแตกออก เปิดหน้าน้ำให้มหาสมุทรอาร์ติกเชื่อมต่อเข้ากับทะเลอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น

 

Arctic Circle บริเวณพื้นที่ที่ใครก็อยากเข้าถึง

 

อธิบายก่อนว่า “อาร์กติก” นั้นเป็นพื้นที่ในบริเวณ “ขั้วโลกเหนือ” ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่บางส่วนของ 8 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา กรีนแลนด์ (ดินแดนของเดนมาร์ก) รัสเซีย สหรัฐอเมริกา (อลาสกา) ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ ฉะนั้น ประเทศที่มีสิทธิในดินแดนอันห่างไกลนี้จึงเป็น 8 ประเทศดังกล่าว โดยประเทศที่มีพื้นที่ครอบคลุมอาณาเขตมากที่สุดถึงร้อยละ 60 คือ รัสเซีย เช่น เกาะอเล็กซานดร้า ซึ่งใช้เป็นฐานที่มั่นของกองทหาร จัดเต็มด้วยสรรพาวุธทั้งมวล ไม่เพียงรถหุ้มเกราะ ยังมีเครื่องยิงจรวด และอาวุธนานาชนิดมากมาย

น่าสนใจว่า มีการคาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่แห่งนี้ว่า อาจมีมากถึงหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะทรัพยากรน้ำมันมีมากถึง 90 พันล้านบาร์เรล ก๊าซธรรมชาติแบบเหลวอีก 44 พันล้านบาร์เรล ไม่รวมสินแร่อื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้น การจะปกป้องพื้นที่ดังกล่าวไม่ให้ตกอยู่ในการครอบครองของประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงมีการจัดตั้งเป็นสภาอาร์กติก (Arctic Council) โดยมีสมาชิกสภาจาก 8 ประเทศ บทบาทคือ บรรเทาและป้องกันผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางการเดินเรือในภูมิภาค

บรรดานานาประเทศนอกภูมิภาคจึงใช้การสานสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาร์กติกทั้งแปด 8 รวมทั้งทำสัญญาเพื่อส่งออกทรัพยากรธรรมชาติมาที่ประเทศของตนเอง

ล่าสุดท่ามกลางนโยบายคว่ำบาตรจากนานาชาติต่อกรณีที่รัสเซียบุกยูเครน บริษัท รอสเนฟต์ ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซียประกาศโครงการสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันแห่งใหม่ในอาร์กติก นอกจากนี้ยังมีเมกะโปรเจคด้านพลังงานอีกมากมายที่จะตามมา หนึ่งในนั้นคือโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Arctic LNG 2 ที่กำลังก่อสร้าง

ประเทศจีนเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจวิจัยทางทะเลในอาร์กติกมาอย่างยาวนานผ่านการใช้เรือสำรวจที่ชื่อว่า Xuelong-1 และ Xuelong-2 ไม่เพียงเผ้ามองในฐานะผู้สังเกตการณ์ ที่ได้รับการรับรองจากสภาอาร์กติกในปี 2013 ยังมีการลงทุนผ่านการร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาร์กติก

ตัวอย่างเช่น ร่วมมือกับรัสเซียผ่าน Novatek บริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย และ China National Petroleum Corporation (CNPC) บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน เพื่อพัฒนาโครงการก๊าซธรรมชาติ Yamal-LNG project ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Sabetta บนคาบสมุทรยามาล (Yamal peninsula) ประเทศรัสเซีย คาดการณ์ว่า โครงการนี้จะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งออกได้กว่า 20 ล้านเมตริกตันต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทเอกชนผู้ผลิตกลุ่มแร่หายากรายใหญ่ของจีนยังมีการลงนามตกลงความร่วมมือกับบริษัทด้านพลังงานของกรีนแลนด์ พัฒนาเหมืองกลุ่มแร่หายากที่เมือง Kvanefjeld หรือ Kuannersuit ทางตอนใต้ของเกาะกรีนแลนด์ ทำให้จีนได้หลักประกันในการสกัดกลุ่มแร่หายากและควบคุมการส่งออกกลุ่มแร่หายาก

เหล่านี้เป็นการกล่าวเฉพาะผลประโยชน์จากเส้นทางการค้าทางทะเลสายทะเลเหนือเท่านั้น ซึ่งคาดกันว่าในปี 2035 น้ำแข็งที่หายไปจะยิ่งทำให้เส้นทางนี้คึกครื้นมากขึ้น ต่างพยายามช่วงชิงเค้กก้อนใหม่ แม้จะอยู่ไกลถึงสุดขอบโลกก็ตาม.

 

ข้อมูลเบื้องต้นของดินแดน Arctic

 

อาร์กติก (อังกฤษArctic) เป็นพื้นที่ในบริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งบริเวณของอาร์กติกนี้ประกอบไปด้วยพื้นที่บางส่วนของประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศแคนาดากรีนแลนด์ (ดินแดนของประเทศเดนมาร์ก), ประเทศรัสเซียสหรัฐ (รัฐอะแลสกา), ประเทศไอซ์แลนด์ประเทศนอร์เวย์ประเทศสวีเดน และประเทศฟินแลนด์ รวมถึงบริเวณของมหาสมุทรอาร์กติกด้วย

บริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาร์กติกจะเป็นพื้นที่กว้าง มหาสมุทรปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง พื้นที่รอบ ๆ ปราศจากพืชพันธุ์และผืนดินก็ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งเช่นเดียวกัน[1] แต่กลับอุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งที่อาศัยอยู่ในน้ำแข็ง, ปลา ,สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, นก และรวมถึงมนุษย์ด้วย

ตามธรรมชาติของบริเวณอาร์กติกจะเป็นที่ที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาร์กติกจะมีการปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหนาวเหน็บและธรรมชาติอันโหดร้าย อาร์กติกจะมีความอ่อนไหวได้ง่ายมากจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา เช่น อุณหภูมิบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความอ่อนไหวได้ง่ายนี้ทำให้อาร์กติกนี้ถูกมองเสมือนเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเรา

คำว่า อาร์กติก มากจากภาษากรีกโบราณ αρκτος ซึ่งมีความหมายว่า หมี และยังอ้างอิงไปถึงกลุ่มดาวหมีใหญ่และหมีเล็กที่อยู่ใกล้กับดาวเหนือด้วย

 

ผู้อ่านที่ติดตาม บทความสำหรับการใช้ชีวิตและความรู้รอบตัวจากทั่วโลก รวมถึงเรื่องราวดีๆ จากผู้เขียน rabbit2themoon สามารถอ่านข้อเขียนอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles