เมื่อเทคโนโลยี โน้มตัวลงมาโอบกอดงานศิลปะ

Share

 

โลกที่เคยคิดกันว่าเป็นโลกคู่ขนาน ระหว่างโลกศิลปะและโลกเทคโนโลยี เริ่มโน้มตัวเข้าหากัน จนผสานรวมกลมกลืนกันเป็นโลกใบเดียว ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

 

ทันที ที่มีสถานการณ์โควิดเข้ามาเปลี่ยนโลก การใช้ชีวิตเราก็เปลี่ยนไป ใครจะไปคิดว่าศิลปะจะได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน มองให้เป็นเรื่องดี ก็คือดี เพราะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาหลอมรวมกับสิ่งต่างๆ ก็ทำให้เราสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ชื่อก้องโลกได้เพียงปลายนิ้ว นั่งดูงานศิลป์กันแบบชิลๆ บนโซฟาในบ้านตัวเอง จะกินข้าวโพดคั่วไปด้วยก็ไม่ผิด เมื่อ Google Arts and Culture ได้ร่วมมือกับแกเลอรี และพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก เปิดให้ผู้รักงานศิลปะเข้าชมผลงานชื่อดังได้อย่างดื่มด่ำผ่าน virtual tour ในโลกเสมือน ทำให้คุณได้ดูแฟชันในยุค 1740-1895 บนโซฟาในบ้าน พอเริ่มเบื่อ ก็สลับไปดูผลงานของจิตรกรชาวฝรั่งเศสในพิพิธภัณฑ์อย่าง Musee d’Orsay ในกรุงปารีส และเปิดวาร์ปไปชมงานของจิตรกรเอก Rembrandt ที่ Rijksmuseum ในอัมสเตอร์ดัม ได้เพียงชั่วพริบตา

Musee d’Orsay
Musee d’Orsay

ยุคของโควิด ทำเราได้รื่นรมย์กับศิลปะ แบบไม่ต้องเดินทาง ต้องบอกว่าการแพร่ระบาดของโควิด ช่วยเร่งให้ทุกวิวัฒนาการมาเร็วขึ้น เพราะผู้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ตามใจปรารถนา นอกจากนี้ยังทำให้กิจกรรมการไลฟ์สตรีมมิง คอนเสิร์ตยิ่งใหญ่ระดับโลกได้รับความนิยมล้นหลามในช่วงเวลาแบบนี้เช่นกัน

ในโลกของศิลปะ เทคโนโลยีที่เป็นซูเปอร์ฮีโร่ ที่มีบทบาทสำคัญและหลอมรวมโลกดิจิทัลเข้ากับโลกศิลปะได้อย่างแนบเนียน คือ AI และ IoT นอกจากช่วยเผยแพร่งานศิลปะแล้ว กระทั่งการสร้างชิ้นงานศิลปะก็ยังทำได้ และทำได้ดีซะด้วย หนึ่งในตัวอย่างคือ มีศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์จาก Oxford ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือหลายเรื่อง ออกมาสารภาพว่าเคยใช้อัลกอริทึมในการสร้างคำ 350 คำสำหรับการแต่งหนังสือเล่มหนึ่งของเขา และไม่มีใครสังเกตรู้ว่าเป็นฝีมือของ AI กระทั่งบรรณาธิการของหนังสือเล่มนั้นก็ตาม

ความเป็นมาของศิลปะดิจิทัล และเทคโนโลยี

ครั้งแรกที่มีคนพยายามหลอมรวมระหว่างทัศนศิลป์ หรือ visual art เข้ากับเทคโนโลยี เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 60 โดยมีศิลปินที่จับมือกับนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรจาก Bell Laboratories เพื่อสร้างผลงานและการแสดงที่โดดเด่น ด้วยการใช้นวัตกรรมด้านการแปลงเสียงผ่านระบบไร้สายพร้อมเทคโนโลยีการฉายภาพวิดีโอด้วย projector นั่นคือการทักทายกันครั้งแรกอย่างเบาๆ ระหว่างศิลปะ และดิจิทัล

เมื่อพูดถึงศิลปินที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะได้อย่างยอดเยี่ยม ต้องเจ้าพ่อป๊อบอาร์ตรายนี้ Andy Warhol ซึ่งสำหรับโลกผู้หลงใหลศิลปะแบบ pop art คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Andy ในฐานะป็อบอาร์ตตัวพ่อ ที่สร้างผลงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนซุปกระป๋องแคมป์เบลล์ อันเลื่องชื่อ และภาพมาริลิน มอนโรในสีสันคัลเลอร์ฟูล ที่โด่งดัง โดย Andy Warhol คือศิลปินคนแรกๆ ที่สร้างภาพวาดดิจิทัลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ Amiga ในปี 1985 จนกลายเป็นเทคนิคที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินรุ่นหลัง

เมื่อเกิดโควิด สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวงการต่างๆ มากมาย ไม่เว้นกระทั่งงานศิลปะ ที่มีการสำรวจพบว่า 95% ของงานแสดงศิลปะถูกแคนเซิลเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปลอดภัย และมีองค์กร 24% ที่ต้องลดพนักงาน แม้ว่า 65% ของผู้ร่วมสำรวจบอกว่ายังสามารถสร้างคอนเท้นท์ได้อยู่ก็ตาม แต่จากนี้ จะไม่เป็นไร เพราะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาได้

เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยกอบกู้งานศิลปะอย่างไร?

 

AI กับการสร้างผลงานศิลปะ

เมื่อไม่นานมานี้ Christie ซึ่งเป็นบริษัทประมูลงานศิลปะชื่อดัง ขายผลงานที่สร้างขึ้นโดย AI ได้ในราคา 432,500 เหรียญ โดยเป็นภาพวาดที่เบลอหน้า อันมีชื่อว่า Portrait of Edmond Belamy ด้วยการใช้เครื่องมือ GANs (Generative Adversarial Networks) ที่พัฒนาโดย AI เพื่อสร้างภาพที่บิดเบือนและให้ความแปลกตา ผลงานชิ้นนี้ถ้ามองเผินๆ ในทีแรก จะรู้สึกว่าเป็นอะไรที่แปลกมาก แต่ก็มีศิลปินหลายคนที่วาดภาพด้วยการตั้งใจใช้เทคนิคแบบนี้อยู่หลายคนเช่นกัน

Credit : YouTube STIRworld Chanel : Visual artwork by Amir Zhussupov

ผลงานศิลปะที่สร้างด้วย AI บางชิ้นยังดูคล้ายงานที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์ ตัวอย่างเช่น เครื่องมือ AICAN จะฝึกฝนจากการเพ้นท์ภาพของศิลปินนับ 100,000 ชิ้น เช่นงานของ Bruegel และ Rambrandt และยังมีแอปฯ มากมายที่ใช้ AI มาเป็นผู้ช่วยศิลปินสร้างสรรค์ผลงาน

First AI-generated art piece
Credit : AI Is Blurring the Definition of Artist, American Scientist

อีกตัวอย่างของพลังสร้างสรรค์ของ AI กับงานศิลปะ คืองานของ Refik Anadol ศิลปินผู้ใช้ภาพกว่า 500,000 ภาพ พร้อมไฟล์ audio จำนวนนับหลายพันจากผลงานของวงออเคสตร้า LA Phiharmonic พร้อมวิดีโอจำนวนหลายร้อยคลิป มาฝึกฝนอัลกอริทึ่มเพื่อผสานรวมข้อมูลเหล่านี้ เรียงร้อยออกมาเป็นผลงานภาพและฉายขึ้นที่ Walt Disney Concert Hall เป็นเวลานานหลายสิบวันเลยทีเดียว

Credit : Credit YouTube La Phil Chanel

เทคโนโลยี ยังช่วยให้ซื้อขายงานศิลปะกันง่ายขึ้น

แพลตฟอร์มการประมูลงานศิลปะผ่านออนไลน์ เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่ได้ผลเอาเรื่องอยู่ และยังช่วยให้ศิลปินหน้าใหม่ขายผลงานได้ง่ายขึ้นบน Amazon ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากผู้ขายอย่างแน่นอน แต่ประเด็นคือบางทีผลงานเหล่านี้อาจจะไปตกอยู่นอกหมวดงานศิลปะ ซึ่งอาจจะทำให้ค้นหาได้ยาก

แต่สำหรับศิลปินที่โด่งดัง และมีผลงานเป็นที่รู้จักดี สามารถขายผ่านสื่อตัวกลางที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานศิลปะและมีความเป็นมืออาชีพสูงในวงการนี้ อย่างการประมูลงานของ Christie และ Artnet

ในการโปรโมทผลงานอีกรูปแบบ ก็อาจจะใช้แอปฯ ด้านการตลาดที่ใช้เทคโนโลยี AR มาช่วย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมในงานศิลปะ ช่วยให้ศิลปินได้โปรโมทผลงานตัวเองด้วยการตกแต่งห้องแสดงงานศิลปะแบบเสมือน ให้ผู้ชมเข้าไปชมได้ราวกับกำลังดูงานจริงอยู่ และยังแชร์ไปให้เพื่อนฝูงดูกันต่อได้

เหล่านี้ไม่นับรวมรูปแบบการขายงานศิลปะผ่านเทคโนโลยี blockchain ที่สามารถรวบรวมผลงานทั้งหมดในรูปดิจิทัล และเปิดให้ผู้ซื้อจับจองผ่านกระแสเงินดิจิทัลในสกุลต่างๆ ซึ่งบางผลงานสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาลจากเทรนด์นี้

คลิกที่นี่ >>>> เพื่ออ่านเรื่อง

 

เรียบเรียงจากบทความ Technology is changing how art is made, displayed, and sold. Here’s the deal, www.itrexgroup.com

 

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles