รู้จักกับ แอป กู้โลก! เพราะขยะอาหาร คือเรื่องใหญ่ของโลกวันนี้

Share

 

ปัญหาของอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ยังคงเป็นประเด็นที่โลกจำเป็นต้องให้ความสนใจและเร่งลงมือปฏิบัติการอย่างจริงจัง แต่ละปีมีอาหารถูกทิ้งมากกว่า 1,300 ล้านตัน หรือราว 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตจากทั่วโลก เฉพาะในญี่ปุ่นแต่ละปีมีอาหารเหลือทิ้งราว 19 ล้านตัน โดยหนึ่งในสามเป็นอาหารที่ยังกินได้ เทียบเป็นมูลค่าราว 1 แสนล้านดอลลาร์ มากพอจะเลี้ยงคนได้ถึง 160 ล้านคน!

อาหารเหลือทิ้งเหล่านี้นอกจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ยังสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม…

การกำจัด Food Waste โดยการฝังกลบ สร้างก๊าซมีเทนจากกระบวนการการย่อยสลายของขยะอาหาร ส่งผลกระทบทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25-30 เปอร์เซ็นต์ การฝังกลบขยะยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนลงสู่ดินและน้ำ กลายเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ

ประเทศไทยเองมีขยะอาหารมากถึง 17.6 ล้านตันต่อปี!

การทิ้งอาหารที่ส่วนหนึ่งยังกินได้ เช่น อาหารเหลือจากการกินของแต่ละคนแต่ละครัวเรือน รวมถึงอาหารที่หมดอายุทางรสชาติ (Best Before : BBF คงกินได้ แต่คุณภาพด้อยลง) ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการความปลอดภัยทางด้านอาหาร ตัวอย่างเช่น ตามสถานประกอบการอาหารที่แต่ละวันมีอาหารเหลือจากให้บริการลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งในอดีตหลายร้านจะทิ้งอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจในความสดใหม่ของอาหาร บางประเทศมีการกำหนดบทลงโทษ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่ถ้าขายอาหารเกินวันหมดอายุบนหน้าฉลาก

เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความสดใหม่และต้องได้คุณภาพอย่างที่สุด ที่ผ่านมาจะเห็นว่า แม้กระทั่งในร้านอาหารที่ลูกค้าเข้าไปใช้บริการ ถ้ากินไม่หมดไม่สามารถห่อกลับบ้านได้ ปัจจุบันด้วยภาครัฐให้ความสำคัญกับนโยบายซีโร่เวสต์ มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายผ่อนคลายมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ยังคงเข้มงวด

พลิกโลกกลับ ซีโร่เวสต์ต้องมา

ขณะที่บางประเทศในยุโรปมีกฎหมายควบคุมด้านอาหารเหลือทิ้งเช่นกัน แต่เป็นการกำหนดให้ร้านอาหารต้องห่ออาหารที่ลูกค้ากินเหลือให้ถือกลับไปด้วย ทำให้ลดจำนวนอาหารเหลือทิ้งไปมาก

เช่น ประเทศฝรั่งเศสที่สั่งห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ให้ทิ้งอาหารที่ขายไม่ออก หรือสเปนมีบทลงโทษปรับเงินซูเปอร์มาร์เก็ตที่ทิ้งขยะอาหาร และร้านอาหารจะต้องเสนอถุงใส่อาหารเหลือเพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกลับบ้านได้ ขณะที่รัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งแคลิฟอร์เนียและนิวเจอร์ซีย์ มีกฎหมายให้ลดปริมาณขยะอาหารที่จะนำไปฝังกลบ

วิธีการหนึ่งที่ช่วยลดจำนวนอาหารเหลือทิ้งในร้านอาหารคือ การใช้แอปพลิเคชันเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้า

ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน Treatsure ผลงานสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ที่จับมือกับเชนโรงแรมชั้นนำ อย่าง Hyatt, Accor Group และ Singapore Marriott Tang Plaza Hotel เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกสั่งอาหารที่เหลือจากการเลือกบริการในแต่ละวันกลับไปกินที่บ้านได้ในราคาถูกลง 10 เท่า เช่น อาหารจากไลน์บุฟเฟต์ตามร้านอาหารของโรงแรม

ปัจจุบัน มีผู้ใช้งาน Treatsure มากกว่า 30,000 ราย นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2560 ช่วยชีวิตอาหารเหลือทิ้งไปแล้วประมาณ 30 ตัน จาก 817,000 ตัน

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีแอปพลิเคชัน Tabete เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 โดยทำข้อตกลงกับร้านอาหารดังๆ ให้แจ้งเมนูที่คาดว่าจะเหลือของวันนั้น ถ่ายรูปส่งให้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกเมนูที่ต้องการและไปรับได้ตามเวลาที่กำหนด ในสนนราคาที่ต่ำกว่าวางขายในเวลาปกติ ปัจจุบันมีร้านอาหารเข้าร่วมแล้วราว 3,000 ร้าน รวมทั้งอาหารไทยด้วย ช่วยกู้อาหารให้พ้นจากการถูกทิ้งแล้วเกือบ 4,000,000 จาน

สำหรับประเทศไทย แอปพลิเคชันยินดี” (Yindii) เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการสเปซเอฟ รุ่นที่ 2 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สร้างขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาขยะอาหาร ต่ออายุอาหารเหลือทิ้งจากร้านต่างๆ ขายในราคาที่ถูกลดจากราคาจริง 50-80% ในรูปแบบ happy hour sale

ที่เป็นกิมมิกคือ การนำส่งลูกค้าในลักษณะคล้ายกล่องสุ่ม ลูกค้าไม่สามารถทราบว่าเมนูที่จะได้รับในตอนเย็นเป็นเมนูอะไร ฉะนั้นจะต้องแจ้งว่าแพ้อาหารประเภทใดบ้าง เพื่อลดปัญหาอาหารเหลือ แต่ยังคงคุณภาพของร้านนั้นๆ         

เพราะวันนี้เรื่องของมลพิษและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อพลิกโลกกลับมาอยู่ในวิถียั่งยืนให้ได้.

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles