“แม่น้ำบนท้องฟ้า” อีกความน่าสะพรึงต่อจากนครดูไบจมบาดาล

Share

 

ท่ามกลางข่าวการถล่มใส่กันของเปอร์เซียกับอิสราเอล เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาข่าวที่สร้างความน่าตกใจคือ นครดูไบ เมืองทะเลทรายจมอยู่ใต้บาดาล สะท้อนถึงความแปรปรวนอย่างหนักของภูมิอากาศโลก ที่ปรากฏเป็นสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าและเกิดขึ้นในทั่วโลก ที่สำคัญคือ ความถี่ที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติน้ำท่วม หรือไฟป่า

กรณีของนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ฝนตกหนักที่สุดในรอบ 75 ปี จนต้องยกเลิกเที่ยวบินเกือบ 400 เที่ยว มีผู้โดยสารตกค้างอยู่ในสนามบินหลายพันคน ฯลฯ

ลำพังมีฝนตกก็ถือเป็นเรื่องแปลกแล้วบนคาบสมุทรที่แห้งแล้งขนาดนั้น ด้วยสภาพพื้นที่ที่ 80% เป็นทะเลทราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมากกว่า 100 แห่ง ที่ใช้กักเก็บน้ำ แห้งแล้งขนาดที่ต้องทำ Cloud Seeding หรือฝนเทียม เพื่อให้มีฝนตกลงมาเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำเกษตรกรรม

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายชี้ว่าสาเหตุของฝนที่ถล่มมาแบบไม่ลืมหูลืมตามาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ฟรีเดอริก อ็อตโต นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ “ฝนที่สร้างความเสียหายและทำลายล้างในโอมานและดูไบจะหนักขึ้นอีก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์”

ในความเป็นจริง สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปและแปรปรวนไม่ได้เพิ่งเกิดกับนครดูไบ จะเห็นว่าก่อนหน้านี้ รายงานจากศูนย์สหรัฐฯ ของสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute) พบว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อาจสูญเสียแนวชายฝั่งที่พัฒนาไปแล้วถึง 6% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในปี 2539 และ 2541 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผชิญกับภัยพิบัติปะการังฟอกขาวและการเสียชีวิต 2 ครั้งที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิน้ำทะเลที่ผิดปกติ

หายนะภัยเช่นนี้พาให้ย้อนไปถึงปรากฏการณ์แม่น้ำในชั้นบรรยากาศที่เรียกว่า Atmospheric River!

แม้ว่าจะยังไม่มีการพาดพิงถึงประเด็นนี้อย่างจริงจัง แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงกับวิกฤตพายุฝนถล่มนครดูไบจนจมอยู่ใต้บาดาลคือ ความบิดรวนของสภาพอากาศจนเกิดภาวะภูมิอากาศแบบสุดขั้ว

แล้วแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “แม่น้ำบนท้องฟ้า” คืออะไร?

แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” หรือ Atmospheric River (AR) ไม่ได้หมายถึงแม่น้ำสายใดๆ บนพื้นโลก แต่หมายถึงกระแสของไอน้ำในชั้นบรรยากาศ ที่มีความกว้างประมาณ 400 – 600 กิโลเมตร เป็นกระแสไอน้ำตามธรรมชาติที่ไหลเวียนเป็นแนวยาวเหมือนแม่น้ำบนท้องฟ้า ที่มาของชื่อ Atmospheric River

การเดินทางของไอน้ำนั้นขับเคลื่อนโดยรูปแบบลมและสภาพอากาศ เมื่ออากาศอุ่นและชื้นลอยขึ้น อากาศจะเย็นลงและควบแน่นเป็นเมฆ กระบวนการนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภูมิภาคนั้นๆ แต่ยังขยายออกไปหลายพันกิโลเมตร ซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ห่างไกลออกไป โดยมีอิทธิพลของอุณภูมิและกระแสลมเป็นตัวกำหนดเส้นทางและผลกระทบของแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ

ความที่แม่น้ำบนท้องฟ้าประกอบขึ้นจากการรวมตัวของไอน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการระเหยของน้ำจากผิวมหาสมุทร เราจึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มีบทบาทสำคัญต่อทรัพยากรน้ำ และความสมดุลทางนิเวศวิทยาโดยรวมของภูมิภาค โดยโลกนี้มีแม่น้ำบนฟากฟ้าราว 4-5 สายนำพาความชื้นจากแถบเขตร้อนขึ้นไปยังแถบเขตอบอุ่น

กระแสไอน้ำดังกล่าวไม่เพียงพัดพานำความชุ่มชื้นไปยังส่วนต่างๆ ของโลก แต่ในขณะเดียวกันสามารถก่อเกิดพายุติดต่อกัน ทำให้ฝนตกปริมาณมากเทียบเท่าฝนตก 6 เดือนภายในเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น เช่นกรณีล่าสุดที่เกิดกับมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ต้องกลายเป็นเมืองใต้น้ำเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เป็นเพราะปรากฏการณ์นี้

ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาลิฟาของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่า การเกิดแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ นอกจากจะทำให้อากาศร้อนขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดพายุไซโคลนได้บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น เพราะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณไอน้ำอย่างมหาศาล นำเอาไออากาศอุ่นมายังแอนตาร์กติกา ทำให้เกิดคลื่นลมซัดผืนน้ำแข็งส่วนที่เริ่มละลายจนกลายเป็นช่องโหว่กลางผืนน้ำแข็ง ที่เรียกว่า “โพลีเนีย(Polynya) ซึ่งจะยิ่งลดความสามารถในการสะท้อนแสงและความร้อนในขั้วโลกใต้ลงไปอีก

คาดการณ์กันว่า ในอนาคตหากอัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศไม่ลดลง ภาวะโลกร้อนที่แย่ลงจะทำให้มีการเกิดแม่น้ำในชั้นบรรยากาศบ่อยขึ้นกว่าเดิมถึง 50%.

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles