แพทย์ รพ.วิมุต แนะรู้จักอาการปวดท้อง รู้ไว รักษาได้ตรงจุด

Share

 

โอย ปวดท้องจัง! เมื่อได้ยินคนข้าง ๆ ร้องขึ้นมาแบบนี้ เราอาจคิดถึงอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหลัก ๆ ไม่กี่แบบ เช่น โรคกระเพาะอาหาร อาหารเป็นพิษ หรือท้องอืดท้องเฟ้อ แต่แพทย์เตือนให้เราสังเกตลักษณะอาการปวดท้องให้ดี เพราะอาการเจ็บป่วยทั่วไปนี้อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนภาวะโรคร้ายแรงอื่น ๆ ไว้โดยที่เราไม่รู้ตัว

 

อาการปวดท้อง ไม่เท่ากับ โรคกระเพาะเสมอไป

 

พญ.สาวินี จิริยะสิน แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร
พญ.สาวินี จิริยะสิน แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต

พญ.สาวินี จิริยะสิน แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า “เรื่องหนึ่งที่หมออยากแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารก็คือการกินข้าวไม่ตรงเวลาไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดโรคกระเพาะ โดยทั่วไป อาการกระเพาะอาหารอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหารมี 2 สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นที่ชื่อว่า Helicobacter pylori และการกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือทำให้กระเพาะอาหารหรือลำไส้เกิดเป็นแผลได้ สาเหตุที่เหลืออาจเป็นอย่างอื่น เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ถ้าสงสัยว่าอาการปวดท้องเป็นจากโรคกระเพาะ สามารถทานยาลดกรดเพื่อรักษาเบื้องต้นก่อนได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นแนะนำมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป”

ดังที่กล่าวไปว่าหากรักษาเบื้องต้นไม่หาย เราควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่แท้จริง เช่น หากปวดจุกลิ้นปี่สงสัยโรคกระเพาะก็พิจารณาส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น หากปวดท้องหนักมาก ปวดเกร็งทั้งท้อง นอนไม่ได้เลย อาจเป็นอาการจากกระเพาะอาหารทะลุ ซึ่งการเอกซเรย์ธรรมดาก็สามารถเห็นได้และสามารถผ่าตัดได้เลย นอกจากนี้ยังมีการอัลตราซาวด์ช่องท้องซึ่งใช้ตรวจความผิดปกติของตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือนิ่วในท่อน้ำดี นอกจากนี้ยังมีการสืบค้นด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือ การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ตามดุลยพินิจของแพทย์

 

เราจะทราบได้อย่างไรว่าอาการปวดท้องของเราเป็นแบบไหน?

“ในทางการแพทย์ เราแบ่งลักษณะการปวดท้องออกเป็น 3 แบบ” พญ.สาวินี จิริยะสิน อธิบาย “แบบที่ 1 คือปวดจากอวัยวะภายใน ซึ่งจะเป็นการปวดแบบปวดลึก ปวดบิด ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ส่วนแบบที่ 2 คือการปวดท้องตามตำแหน่งของอวัยวะนั้น ๆ สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน และแบบที่ 3 คือการปวดร้าว ซึ่งเป็นการปวดที่ร้าวหรือแผ่ไปยังบริเวณอื่น ๆ ตามการลำเลียงของเส้นประสาท เช่น ปวดท้องใต้ลิ้นปี่แล้วปวดร้าวไปที่บริเวณหลัง คิดถึงโรคตับอ่อนอักเสบ หรือ ปวดท้องแล้วร้าวลงขาหนีบ คิดถึงนิ่วในท่อไต  เป็นต้น”

ลักษณะอาการปวดท้องที่คนไข้สามารถสังเกตตัวเองได้คือแบบที่ 2 หรือการปวดท้องตามตำแหน่งของอวัยวะ ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งช่องท้องของคนไข้เป็น 9 โซน ได้แก่

โซน 1: ช่องท้องด้านขวาบนจะเป็นอวัยวะเช่น ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคฝีหนองในตับ ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ

โซน 2: กลางลำตัวบริเวณลิ้นปี่ ซึ่งเป็นบริเวณของกระเพาะอาหาร ตับอ่อน อาการปวดอาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือภาวะตับอ่อนอักเสบ

โซน 3: ช่องท้องด้านซ้ายบน เช่น ม้าม (อาจเกิดจากการขาดเลือดของม้าม ซึ่งเจอได้น้อยในเวชปฏิบัติ)

โซน 4, 6: บริเวณเอว หมายถึง ด้านข้างสะดือซ้ายและขวา อวัยวะได้แก่ ไต ท่อไต ลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเกิดจากกรวยไตอักเสบ นิ่วในท่อไต ลำไส้ใหญ่อักเสบ ไปจนถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่

โซน 5: ตรงกลางท้องรอบสะดือ อวัยวะคือลำไส้เล็ก ที่อาจเกิดจากลำไส้เล็กอักเสบหรือไส้ติ่งอักเสบในระยะเริ่มต้น

โซน 7, 9: ท้องน้อยด้านซ้ายและขวา ซึ่งนอกจากไส้ติ่งที่ช่วงแรกจะมีอาการปวดรอบสะดือ หลังจากนั้น 6-8 ชั่วโมง จะมีการย้ายตำแหน่งมาปวดบริเวณขวาล่างเมื่อการอักเสบลุกลามมากขึ้น อวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ปีกมดลูก รังไข่ และลำไส้ใหญ่ทั้งสองด้าน โดยอาจเกิด ปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ กระเปาะของลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ ซึ่งมักพบด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา

โซน 8: บริเวณท้องน้อยเหนือหัวหน่าว จะเป็นส่วนของกระเพาะปัสสาวะ มดลูก ซึ่งอาจเกิดจาก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งต้องซักประวัติตกขาว ประจำเดือนเพิ่มเติม และแนะนำปรึกษา สูตินรีแพทย์

 

โพรไบโอติกส์ ช่วยสร้างสมดุลระบบทางเดินอาหารได้จริงหรือ?

 

ลำไส้ใหญ่ของเราเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ราวห้าร้อยชนิดซึ่งมีทั้งชนิดที่ดีและไม่ดี การศึกษาทางการแพทย์พบว่าจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีความสำคัญต่อสุขภาพหลัก ๆ มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) กับ ไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) โดยพบว่าในลำไส้ของคนที่ป่วยมักมีจุลินทรีย์สองชนิดนี้น้อยกว่าคนปกติ ฉะนั้น หากเราเติมจุลินทรีย์ที่ดีในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์เข้าสู่ร่างกายก็จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ และมีงานวิจัยสนับสนุนด้วยว่าโพรไบโอติกส์สามารถช่วยรักษาอาการท้องเสียหรือลำไส้แปรปรวน ตลอดจนช่วยปรับสมดุลลำไส้ได้

อาการปวดท้องแบบไหนที่ต้องไปพบแพทย์

“หากเรามีอาการปวดท้องรุนแรงมากและต่อเนื่องเกิน 6 ชม. ร่วมกับมีไข้ อาเจียนอย่างมาก มีเลือดออกทางเดินอาหาร ปวดร้าวทะลุหลัง ปวดเกร็งทั้งท้อง ฯลฯ อาการเหล่านี้อาจเป็นโรคที่ต้องมีการผ่าตัดเร่งด่วน หรือได้รับการรักษาทันที เช่น กระเพาะทะลุ ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอุดตัน ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น หรือ อาการปวดท้องน้อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการแท้งบุตร หรือท้องนอกมดลูกก็ต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีเช่นกัน” พญ.สาวินี จิริยะสิน กล่าวสรุป

 

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles