ผู้ปกครองหมั่นสังเกต! “โรคตาขี้เกียจ” ภาวะมองเห็นไม่ชัดที่พบบ่อยในเด็ก แพทย์ รพ. วิมุต ชี้ รู้ไว-รักษาได้ พ่อแม่รีบเช็กอาการเสี่ยง ก่อนรักษาไม่หาย

Share
คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองทุกคนล้วนอยากให้ลูกหลานมีพัฒนาการที่เหมาะสมและเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงสมวัย และอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องคอยสังเกต คือพัฒนาการในด้าน ‘การมองเห็น’ โดยเด็กบางคนอาจมีการมองไม่ชัดเท่าคนทั่วไป หรือมีอาการตาพร่ามัว ซึ่งอาจเป็นอาการของ “โรคตาขี้เกียจ” ภาวะที่ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน และหากไม่รีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ พอโตไปอาจรักษาไม่หาย วันนี้ พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน ศูนย์จักษุ รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงอาการและสาเหตุของโรค กลุ่มเสี่ยง พร้อมวิธีการป้องกันและรักษา เพื่อให้เด็ก ๆ ทุกคนโตมามีดวงตาที่แข็งแรง มองเห็นโลกสดใสชัดเจนไปนาน ๆ
พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน ศูนย์จักษุ รพ.วิมุต
ผู้ปกครองควรระวัง “โรคตาขี้เกียจ”โรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) คือ ภาวะที่ตาหนึ่งข้างหรือสองข้างมีพัฒนาการมองเห็นภาพชัดไม่เต็มที่ ซึ่งส่วนมากสามารถเกิดได้ในเด็กเล็กอายุ 1 – 7 ปี เป็นต้นไป ทำให้การมองเห็นคมชัดน้อยกว่าปกติ พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ อธิบายเพิ่มเติมว่า “น้อง ๆ ที่มีภาวะตาขี้เกียจจะมีการมองเห็นลดลงกว่าปกติเมื่อเทียบกับคนทั่วไปโดยมีความรุนแรงของโรคหลายระดับ ในกรณีที่เป็นข้างเดียวเพียงเล็กน้อยอาจไม่กระทบรุนแรงนัก แต่ถ้าเป็นมากหรือเป็นทั้ง 2 ตาจะยิ่งทำให้แย่ลง แต่อาจมีผลในกรณีที่ทำกิจกรรมที่ต้องการความคมชัดสูง หรืออาจทำให้ความสามารถในการมองภาพสามมิติลดลง”

ส่องสาเหตุเสี่ยง “โรคตาขี้เกียจ” ที่ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกต
โรคตาขี้เกียจมักพบบ่อยในเด็กและมีสาเหตุนำโรคอยู่หลายประการ กลุ่มแรกคือเด็ก ๆ ที่มีภาวะตาเหล่ ส่งผลให้ตาสองข้างมองคนละตำแหน่งและทำให้เกิดภาพซ้อน ร่างกายของเด็กจึงมีกลไกในการลดการเกิดภาพซ้อน ด้วยการยับยั้งพัฒนาการของตาข้างที่ไม่ถนัด ต่อมาคือกลุ่มที่มีค่าสายตา โดยพบได้บ่อยในเด็กที่มีค่าสายตาทั้งสองข้างต่างกันมาก ทำให้เกิดการเลือกพัฒนาเฉพาะตาข้างที่ถนัด ส่วนตาที่ไม่ถนัดก็จะไม่ใช้งาน ทำให้พัฒนาความสามารถในการมองเห็นไม่เต็มที่ ในกรณีที่มีค่าสายตามากทั้งสองข้าง ก็อาจมีภาวะตาขี้เกียจพร้อมกันทั้งสองข้างได้ พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าวเสริมว่า “ในอีกกลุ่มที่มีภาวะต้อกระจกแต่กำเนิด เปลือกตาตก กระจกตาขุ่น ซึ่งเป็นอาการผิดปกติที่บดบังหรือรบกวนการมองเห็น จะเป็นกลุ่มที่รักษายากที่สุด นอกจากนี้หากเป็นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ คลอดก่อนกำหนด หรือคนในครอบครัวเป็นโรคตาขี้เกียจ ก็มีโอกาสมากกว่าคนทั่วไปที่จะเป็นโรคตาขี้เกียจเช่นกัน”

 

“โรคตาขี้เกียจ” รักษาไวโอกาสหายยิ่งสูง

โดยปกติภาวะนี้อาจไม่มีอาการแสดงชัดเจน แต่หากผู้ปกครองหรือตัวเด็กเองสังเกตเห็นความผิดปกติที่กระทบการมองเห็น เช่น ต้อกระจก หนังตาตก ตาเหล่ ซึ่งเป็นอาการชัดเจนที่ก่อเกิดโรค ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาได้ทันที ส่วนในกรณีที่เป็นตาขี้เกียจจากการมีค่าสายตา อาจต้องพิจารณาความสามารถในการมองเห็นเพิ่มเติม ซึ่งตรวจสอบด้วยตัวเองได้ยาก จึงแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์โดยตรง โดย พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ เล่าถึงการรักษาว่า “การตรวจตาในเด็กจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เบื้องต้นจะตรวจการมองเห็น การกลอกตาและการใช้กล้ามเนื้อตา ค่าสายตา ตรวจขยายของม่านตา ตรวจวัดแว่นโดยการหยอดยาคลายการเพ่ง เป็นต้น จากนั้นเมื่อรู้ถึงต้นเหตุก็จะรักษาตามอาการ อาจใช้การผ่าตัด การตัดแว่น จ่ายยาหยอดตา หรือปิดตาข้างดีเพื่อให้ตาข้างที่มีปัญหามีพัฒนาการ ก็จะช่วยให้โรคตาขี้เกียจบรรเทาหรือหายสนิทได้”

“เนื่องจากตาขี้เกียจมีความรุนแรงหลายระดับ มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และใช้เวลาในรักษาแตกต่างกัน การตอบสนองต่อการรักษาจึงแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรเอาใจใส่และหมั่นสังเกตการมองเห็นของเจ้าตัวเล็กอยู่เสมอ เพราะหากเจออาการผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้รับการรักษาได้เร็ว เพิ่มโอกาสหายหรือกลับมามองเห็นใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น เด็ก ๆ จะได้โตมาเห็นโลกชัดเจนอย่างที่ควรจะเป็น” พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าวทิ้งท้าย
innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles