เฮลีออน แชร์เรื่องราวสุดประทับใจในโครงการ Smiles Can’t Wait ย้ำคนไทยใส่ใจสุขภาพปากและฟัน ช่วยลดความเสี่ยงสูญเสียฟันเมื่อสูงวัย

Share

 

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เราจึงต้องยิ่งใส่ใจในการดูแลสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ และเมื่อพูดถึงปัญหาด้านสุขภาพ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงโรคกลุ่ม NCDs หรือ Non-communicable Diseases หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเบาหวาน ทว่า อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่อาจคุกคามการใช้ชีวิตในระยะยาวก็คือเรื่องของสุขภาพช่องปากนั่นเอง แม้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในวันนี้ แต่ในอนาคตข้างหน้าอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

รศ.ทพ.ดร.นิยม ธำรงค์อนันต์สกุล คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “กลุ่มผู้สูงวัยส่วนมากที่ประสบปัญหาการสูญเสียฟันไปก่อนเวลาอันควร มักมีสาเหตุจากการขาดการดูแลเอาใจใส่สุขภาพฟันตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ทั้งเรื่องของการรับประทานอาหาร เย็นจัด ร้อนจัด แข็งจัด โดยเฉพาะคนไทยที่ติดอาหารรสหวาน ไปจนถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการดูแลสุขภาพฟันและช่องปากที่ไม่เหมาะสม กล่าวได้ว่าคนไทยวัยหนุ่มสาวสนใจสุขภาพในช่องปากน้อยมากเมื่อเทียบกับการดูแลสุขภาพส่วนอื่น ๆ เมื่อรู้ตัวอีกทีก็เข้าสู่วัยชราที่ฟันไม่สามารถใช้การได้ดีดังเดิมแล้ว การสูญเสียฟันยังส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายรวมไปถึงคุณภาพชีวิต ทั้งการบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียดและต้องกลืนอาหาร จนเป็นที่มาของโรคภัยต่าง ๆ ทั้งโรคในระบบการย่อยอาหาร โรคกรดไหลย้อน อาการปอดติดเชื้อจากการสำลักอาหาร ภาวะการกลืนลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อรอบปากอ่อนแรง ริมฝีปากปิดไม่สนิทจนน้ำลายไหล ปัญหาอาหารตกค้างในกระพุ้งแก้ม และอีกมากมาย สำหรับบางท่านที่ใส่ฟันเทียม แต่ฟันเทียมมีขนาดเล็กหรือไม่ได้มาตรฐานหรือกรณีที่ใส่ฟันเทียมชุดเดิมเป็นเวลานานเกินไป อาจทำให้ฟันเทียมหลวมและหลุดได้ง่าย เสี่ยงที่ฟันเทียมจะหลุดเข้าไปติดหลอดลมหรือกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้าไม่ได้พบแพทย์อย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ผู้สูงอายุเองก็ต้องศึกษาวิธีการดูแลฟันเทียมที่ถูกต้องและหมั่นพบทันตแพทย์ถ้าฟันเทียมที่ใส่เกิดผิดปกติหรือไม่พอดี การใส่ใจต่อสิ่งเหล่านี้ก็นับเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก”

เมื่อไม่นานมานี้ เฮลีออน ในประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับคณะทันตแพทย์ศาสตร์และโรงพยาบาลภาคี ได้แก่ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กองทันตกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงสมาคมร้านขายยาแห่งประเทศไทย จัดโครงการ “เพราะรอยยิ้มไม่ควรต้องรอ ความสุขก็เช่นกัน” (Smiles Can’t Wait Campaign) โดยมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูญเสียฟันที่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการทำฟันเทียม ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการฟันเทียมได้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม

แม้ในเบื้องต้น โครงการจะพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้สูงวัยที่จำเป็นต้องใช้ฟันเทียมเท่านั้น หากในระหว่างการดำเนินงานกลับเกิดเรื่องราวน่าประทับใจและควรค่าแก่การบอกเล่าอย่างมาก “ลูกชายของคนไข้รายหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการได้กลับมาเล่าให้เราฟังว่า ปัจจุบันคุณพ่อของเขาได้จากไปแล้วอย่างสงบแต่คุณพ่อก็ดีใจมากที่มีโอกาสได้ใส่ฟันเทียม แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็มีความสุขมากกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะคุณพ่อได้หัวเราะ พูดคุย กินอาหารจานโปรด ใช้เวลาในช่วงสุดท้ายกับลูกหลานอย่างสบายใจ และตัวเขาเองเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้สุขภาพกายใจและใจของคุณพ่อดีขึ้นเป็นเพราะการที่ได้ใส่ชุดฟันเทียมนี่เอง ทำให้เขาได้เห็นทั้งรอยยิ้ม ความสดใส และความสุขใจของคุณพ่อที่ขาดหายนานมาก ซึ่งก่อนจากไปคุณพ่อยังฝากมากล่าวขอบคุณคุณหมอและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด ที่ให้โอกาสคนสูงวัยได้มีความสุขกับครอบครัวในช่วงสุดท้ายและจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีอะไรติดค้างใจอีก ซึ่งเรื่องราวนี้ทำให้พวกเรา เฮลีออน ในประเทศไทย และพันธมิตรโครงการทุกภาคส่วน รู้สึกตื้นตันและมีกำลังใจในการสานต่อโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่อง” รศ.ทพ.ดร.นิยม ธำรงค์อนันต์สกุล กล่าว

หนึ่งในทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการดูแลคนไข้ที่ประสบปัญหาเรื่องการสูญเสียฟันมาอย่างยาวนาน ทพ.วิศรุตม์ ประวัติวัชรา คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มากล่าวย้ำเตือนถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปากว่า “เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย มักจะเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากมากขึ้น เช่น โรคเหงือก และโรคปริทันต์ มีสาเหตุมาจากการสะสมตัวของจุลินทรีย์บนฟัน ส่งผลให้เกิดอาการเหงือกอักเสบและสามารถพัฒนาไปสู่โรคปริทันต์อักเสบได้ มีอาการเหงือกร่น กระดูกรองรับฟันเริ่มถูกทำลาย ฟันโยก อาจจะหนักจนถึงขั้นสูญเสียฟัน นอกจากนี้ ยังมีคนไข้ที่พิการซ้ำซ้อนที่ประสบภาวะจมูกโหว่และไม่มีฟันเลย จึงไม่สามารถรับประทานอาหารที่ต้องเคี้ยวได้ ทานได้แต่อาหารเหลว และเวลาทานคือต้องใช้วิธีหยอดลงคอ เพื่อกันไม่ให้สำลักจากจมูก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและสะเทือนใจมาก”

“ในฐานะทันตแพทย์อยากฝากถึงคนทุกวัย ให้หมั่นดูแลสุขอนามัยช่องปาก ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งแล้ว และเพิ่มการเอาใจใส่ดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยสูงอายุ ที่บุตรหลานควรเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ การทำความสะอาด ตลอดจนช่วยดูแลสุขภาพในช่องปากของท่านด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ทั้งตัวผู้สูงอายุและบุตรหลานควรมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาฟันปลอมของอย่างถูกวิธี โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้ฟันปลอมหัก เช่น การใช้ฟันปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน การบดเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวเกินไป รวมถึงข้อควรระวังอื่น ๆ เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพในช่องปาก และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน” ทพ.วิศรุตม์ ประวัติวัชรา กล่าว

Related Articles