ส่องสาเหตุ และพฤติกรรม เสี่ยงท้องผูกเรื้อรัง

ส่องสาเหตุ และพฤติกรรม เสี่ยงท้องผูกเรื้อรัง
Share

 

แพทย์เผยพฤติกรรมเสี่ยงที่คนคาดไม่ถึง ย้ำท้องผูกหายขาดได้ถ้ารักษาตรงจุด

 

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงต้องเคยเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นโรคยอดฮิตของคนวัยทำงานอย่าง กรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร และรวมไปถึงอาการท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แต่ยังมีอีกโรคหนึ่ง ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ โรคที่ว่านี้ก็คือ “โรคท้องผูก” นั่นเอง เพราะหลายครั้งอาการท้องผูกอาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายได้ และหากปล่อยให้อาการท้องผูกอยู่กับเราไปนาน ๆ จนถึงขั้น “ท้องผูกเรื้อรัง” ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยการรักษาที่ซับซ้อนกันเลยทีเดียว

นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต
นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต

นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ “โรคท้องผูก” (Constipation) ที่อาการเป็นได้มากกว่าการไม่ขับถ่าย โดยสามารถพบในคนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นภายใต้ปัจจัยหลากหลายที่ไม่ใช่แค่ “การไม่กินผัก” พร้อมมาช่วยไขข้อสงสัยที่ว่า ทำไม “ยาระบาย” จึงไม่ใช่ทางออกระยะยาวสำหรับโรคท้องผูก และจริง ๆ แล้ว ท้องผูกหายขาดได้

“ท้องผูก” ไม่ใช่แค่ถ่ายไม่ออก

“หลายคนยังเข้าใจผิด นึกว่าอาการท้องผูก ต้องเท่ากับถ่ายไม่ออกหรือถ่ายน้อยครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว อาการของโรคท้องผูก ยังมีอะไรมากกว่าแค่การไม่ถ่าย เช่น ถ่ายไม่สุด ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำหลายครั้งในหนึ่งวัน ถ่ายออกยาก ต้องนั่งนานหรือเบ่งเยอะ หรือถ่ายแล้วรู้สึกเจ็บ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเข้าข่ายโรคท้องผูกทั้งสิ้น” นพ. กุลเทพ อธิบาย “บางคนบอกว่า ต้องขับถ่ายทุกวันสิถึงจะดี แต่ที่จริงแล้ว การมีระบบขับถ่ายที่ดี หมายความว่าคุณถ่ายออกทั้งหมดได้แบบสบาย ๆ ไม่ต้องเบ่ง แม้จะถ่ายเพียงสัปดาห์ละ 5 ครั้งก็ถือว่าไม่ผิดปกติ”

ส่องสาเหตุ และพฤติกรรมเสี่ยงโรคท้องผูกเรื้อรัง

ส่องสาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยงท้องผูกที่หลายคนคาดไม่ถึง

“ท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แน่นอนว่าการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย การกลั้นอุจจาระ หรือไลฟ์สไตล์ที่ไม่แอ็กทีฟขาดการออกกำลังกาย เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เราท้องผูก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่า บางครั้งอาการท้องผูกอาจเกิดจากความผิดปกติของส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่

  • การรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ส่วนปลายผิดปกติ ซึ่งทำให้เราไม่ปวดถ่ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องถ่าย
  • กล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่ายทำงานไม่สัมพันธ์กัน หมายถึงกล้ามเนื้อหูรูดไม่คลายเมื่อเบ่งอุจจาระและอาจพบร่วมกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งทำงานไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ถ่ายไม่ออก
  • ลำไส้ใหญ่เคลื่อนตัวช้า ทำให้อุจจาระออกมาได้ไม่หมด

ท้องผูกไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ รีบพบแพทย์ก่อนโรคอื่นถามหา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของคนในปัจจุบัน ทำให้บางครั้งเราต้องอั้นหรือขับถ่ายไม่เป็นเวลา จนหลาย ๆ คนเผลอมองว่าเป็นเรื่องปกติไม่น่ากังวล

“เมื่อใดก็ตามที่พฤติกรรมการขับถ่ายเราเปลี่ยนไป แสดงว่าร่างกายกำลังบอกอะไรเราอยู่ บางคนมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายมานานเกิน 3 เดือนหรือที่เราเรียกว่าท้องผูกเรื้อรังแล้วเพิ่งมาพบแพทย์ ก็อาจทำให้รักษาได้ยากขึ้นได้”

นพ. กุลเทพ เตือนว่าหากอาการท้องผูกไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาการท้องผูกอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น ริดสีดวง ลำไส้เป็นแผล นอกจากนี้ท้องผูกยังอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ได้เหมือนกัน เช่น มะเร็งลำไส้ ภาวะลำไส้อุดตัน ซึ่งยิ่งเจอเร็วก็ยิ่งมีโอกาสหาย “จริง ๆ แล้วแนะนำว่าหากท้องผูกติดกันหลายวันควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ยิ่งถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออุจจาระมีเลือดปน ต้องมาพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาให้ทันท่วงที”

ทำไม “ยาระบาย” จึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ยาระบายออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้และทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น ซึ่งทำให้เราขับถ่ายได้เป็นครั้ง ๆ ไปเท่านั้น ซึ่งการรักษาที่ปลายเหตุ และไม่ใช่วิธีรักษาในระยะยาว เนื่องจากท้องผูกเกินจากหลายสาเหตุซึ่งอาศัยวิธีรักษาที่แตกต่างกัน

  • เกิดจากการที่ลำไส้ไม่ตอบสนองต่ออุจจาระที่ลงมา ทำให้ไม่รู้สึกปวดอุจจาระ เราก็ต้องใช้วิธีฝึกลำไส้ให้ความรู้สึกกลับมา
  • กล้ามเนื้อขับถ่ายทำงานผิดปกติ ในกรณีนี้ต้องใช้เครื่องมืออย่าง Anorectal Manometry เข้ามาช่วยวิเคราะห์การทำงานของกล้ามเนื้อโดยละเอียด ซึ่งมักช่วยรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังให้หายขายได้เมื่อทำควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมและฝึกขับถ่ายด้วยท่าที่ถูกต้อง (Biofeedback training)
  • ลำไส้เคลื่อนตัวช้า จะใช้วิธีวินิจฉัยที่เรียกว่า Colonic Transit Test ผ่านการรับประทานยาแคปซูลที่มีแถบทึบแสงขนาดเล็ก (Radiopaque Makers) ที่จะบอกการเคลื่อนไหวของลำไส้ว่าสามารถจำกัดของเสียได้เร็วหรือช้าเพียงใด โดยการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้เป็นวิธีรักษาโรคท้องผูกให้หายขาดอย่างตรงจุด

“ท้องผูก” เป็นแล้วหายขาดได้ แค่ต้องแก้ให้ถูกวิธี

นพ. กุลเทพ เผยว่า “คนไข้หลายคนที่ศูนย์ฯ เป็นท้องผูกมานานหลายปี กว่าจะมาหาหมอก็ต้องรอให้อาการเรื้อรังสะสม เพราะเชื่อว่าเป็นโรคที่เป็น ๆ หาย ๆ คงไม่มีวันหายขาด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด” ปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก สำหรับโรคท้องผูก ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีชั้นนำ อย่างเช่น Anorectal Manometry และ Colonic Transit Test เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อและลำไส้ได้อย่างละเอียด ช่วยให้แพทย์พบสาเหตุและวิธีรักษาได้อย่างแม่นยำ พร้อมอาศัยความชำนาญและประสบการณ์อันยาวนานในการดูแลรักษาคนไข้อย่างใส่ใจและเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรม ซึ่งทำให้คนไข้หายขาดจากท้องผูกได้ “อยากย้ำอีกครั้งว่า โรคท้องผูกอย่าปล่อยให้เรื้อรังจนเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ยิ่งหาสาเหตุได้เร็วยิ่งหายได้ไวและหายขาดด้วย” นพ. กุลเทพ กล่าวทิ้งท้าย

 

ข้อมูลโดย โรงพยาบาลวิมุต

Related Articles