5 เทรนด์ ดันตลาดดูแลสุขภาพทั่วโลก พุ่งปรี๊ด ในปี 2567

Share

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดแนวโน้มใหม่ในการดูแลสุขภาพเพิ่มตามมาในแทบจะทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการแช่ตัวในน้ำเย็นจัด การดื่มคอลลาเจน และน้ำผักเพื่อสุขภาพใหม่ๆที่ดาหน้ากันเข้ามาให้สายสุขภาพได้ลิ้มลอง ให้ยูทูปเบอร์ ได้มีคอนเทนต์นำเสนอกันไม่เว้นแต่ละวัน เพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย รวมถึงจิตใจ พร้อมต้านโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคกลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เรียงแถวกันเข้ามาสร้างความสะพรึงกันเรื่อยๆ

เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยฉบับใหม่ของ McKinsey ที่ทำการสำรวจผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ทั้งจีน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเสนอแนวโน้มเกี่ยวกับ อนาคตด้านความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Future Wellness ว่าจะมีปัจจัยอะไรและมีแนวโน้มอะไรใหม่ๆ กันบ้าง

การวิจัย พบว่า Gen Z ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วงปี 2538-2552 ซึ่งมีอายุระหว่าง 12-26 ปี เป็นกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพมากที่สุด และมีการซื้อสินค้าและบริการด้านการดูแลสุขภาพมากกว่าคนรุ่นเก่า ทั้งในหมวดของสุขภาพ การนอนหลับ โภชนาการ ฟิตเนส การดูแลรูปลักษณ์ทั้งภายนอกและภายใน

ทีนี้ มาดูกันว่า 5 เทรนด์ ที่กำหนดตลาดดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคในปี 2567 มีอะไรบ้าง

1. สุขภาพที่ดีสร้างจากที่บ้าน

 

แน่นอนว่า ช่วงโควิดระบาด คือจุดเริ่มต้น และทำให้มีพวกชุดทดสอบ ตรวจสอบสุขภาพต่างๆ ได้จากที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นชุดทดสอบว่าตัวเองขาดวิตามินและแร่ธาตุอะไรบ้าง รวมถึงพวกชุดตรวจสอบอาการจำพวกไข้หวัดธรรมดา ไปจนถึงไข้หวัดใหญ่

การทดสอบที่ทำได้จากที่บ้านกลายเป็นเทรนด์ไปเรียบร้อย เพราะสะดวกสบาย รวดเร็วกว่าการเดินทางไปหาหมอ รวมถึงการนัดหมายแพทย์ได้จากแอปต่างๆ ซึ่งเทรนด์นี้ ส่งผลกระทบต่อตลาดการดูแลสุขภาพ รวมถึงสถาบันและโรงพยาบาลต่างๆ ในแง่ของรายได้กันพอสมควร แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่ปรับตัวรับเทรนด์นี้อยู่

 

2. ยุคของอุปกรณ์สวมใส่เพื่อตามติดสุขภาพและชีวภาพ หรือ biomonitoring

 

ครึ่งหนึ่งของบรรดาคนที่เข้าร่วมการสำรวจ ล้วนเคยซื้อหรือใส่อุปกรณ์สวมใส่เพื่อคอยตามดูข้อมูลสุขภาพตัวเองตลอดเวลา ทั้งในยามหลับและในยามตื่น อย่าง smart watch ถ้าให้ล้ำกว่านั้นก็จะมี แหวนไบโอเมตริกซ์ ที่มีเซนเซอร์ คอยจับข้อมูลเชิงลึกในทุกโมงยามกันทีเดียว ซึ่งก็จะใช้ร่วมกับแอป ตลอดจนเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ติดไว้ที่หลังแขน เป็นต้น

ในแง่ของผู้ผลิตสินค้าและให้บริการ ตลาดนี้โตต่อเนื่องแน่ๆ และยังมีช่องว่างในการขยายบริการให้ครอบคลุมเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีควบคู่กันไป การดูแลเรื่องของน้ำหนัก และโภชนาการ รวมถึงความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการกับเจ้าของสินค้าหรืออุปกรณ์สวมใส่เหล่านี้ ที่กำข้อมูลสุขภาพทั้งหมด เพราะข้อมูลคือทุกสิ่งของการตลาดใหม่ๆ แต่ข้อที่ต้องระวังคือการแชร์ข้อมูลส่วนตัวเพื่อการตลาด ทุกข้อมูลกระทั่งการกำหนดเป้าหมายต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เพราะเหล่านี้ล้วนสร้างความเสี่ยงได้ทั้งสิ้น

3. เทรนด์ต่อมา คือการเพิ่มประสิทธิภาพ Gen AI

 

เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงความต้องการเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ล้วนมองหาสินค้าและบริการสื่อความเป็นตัวตนของตัวเองได้มากที่สุด และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มองหาสินค้าและบริการเฉพาะที่ใช้ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ มาให้คำแนะนำเฉพาะบุคคลได้

ประเด็นนี้ คือช่องว่างสำหรับโอกาสใหม่ๆ ของผู้ให้บริการเช่นกัน การจับคู่เครื่องมือต่างๆ กับ Gen AI จะให้ความแม่นยำและความเฉพาะตัวได้มากขึ้นสำหรับอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ เช่นการกำหนดและออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สวมใส่ได้

 

4. เทรนด์ที่ คลินิค เอาชนะความคลีน

 

ในปีที่ผ่านมาดูเหมือนผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยให้ความใส่ใจกับอะไรก็ตามที่แปะอัตลักษณ์เรื่องความคลีน ทั้งส่วนผสมจากธรรมชาติ เป็นออแกนิก แต่ต่อจากนี้ แนวโน้มผู้บริโภคจะใส่ใจกับเรื่องอะไรก็ตามที่มีผลพิสูจน์ยืนยันทางการแพทย์ ที่เห็นเด่นชัดคือ ยาหรืออาหารเสริม วิตามินที่วางจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ จะชิงพื้นที่จากสินค้าประเภทคลีนทั้งหลาย แต่ก็ยังมีผู้บริโภคในบางประเทศ อย่างจีน ที่ให้ความสำคัญกับสองเรื่องนี้พอๆ กัน

ผลกระทบในแง่ของผู้ให้บริการสินค้า ก็อาจจะต้องใส่ใจเรื่องของการขอใบรับรอง หรือการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ จากแพทย์ก็ดี หน่วยงานด้านการดูแลสุขภาพก็ดี เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบทางคลินิก เป็นต้น การอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจะเป็นแต้มต่อนอกเหนือจากความคลีนของสินค้าเพียงอย่างเดียว

 

5. เทรนด์ ของความต้องการคำแนะนำจากแพทย์กันมากขึ้น

 

ต้องยอมรับว่า อินฟลูเอนเซอร์ คือหนึ่งในแรงผลักดันสินค้าและบริการชั้นดีตลอดเวลาที่ผ่านมา และอินฟลูเอนเซอร์ เหล่านี้ ก็จะเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีของผู้บริโภค แต่ระดับความน่าเชื่อถือก็แตกต่างกันไป เทรนด์ใหม่ ที่กำลังเกิดขึ้น คือคำแนะนำจากแพทย์ จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจเรื่องสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งการใช้ชีวิต การนอนหลับ การมีสติ รวมถึงสุขภาพโดยรวม (รวมถึงยาและวิตามินตามเคาน์เตอร์)

ในแง่ของผู้ให้บริการ หรือผู้ผลิตสินค้า ต้องพิจารณาเรื่องนี้กันมากขึ้น ว่าผู้ส่งสารรายไหน จะโดนใจผู้บริโภคมากที่สุด กระทั่งสินค้าที่ช่วยสร้างเสริมเรื่องของสติและจิตใจ ก็อาจต้องอาศัยคำแนะนำของแพทย์ด้วยเช่นกัน

นอกจากเทรนด์เหล่านี้ หากจะมัดรวมปัจจัยเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Wellness ที่มีการเติบโต ก็จะเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพของบรรดาสุภาพสตรี ในเรื่องต่างๆ ทั้งการดูแลสุขภาพช่วงวัยทอง หรือสินค้าที่ช่วยดูแลเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น การดูแลสุขภาพของผู้สูงวัย การบริหารจัดการเพื่อควบคุมน้ำหนัก ฟิตเนสส่วนตัว หรือการจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัว สุขภาพที่เกี่ยวกับเรื่องของลำไส้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกโปรไบโอติกส์ อาหารในหมวดนี้ ทั้งคอมบูชา หรือโยเกิร์ต กระทั่งกิมจิก็ตาม รวมถึงเรื่องสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการนอนหลับที่ดี และการมีเพศสัมพันธ์

 

ที่มา: mckinsey

Related Articles