ตาต่อตา ยุงต่อยุง… “บราซิล” เดินกลยุทธ์ใหม่สู้ไข้เลือดออกด้วย “ยุง”!

Share

 

การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาใหญ่ทางการสาธารณสุข โดยเฉพาะในบราซิลซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมากที่สุดในโลก ถึงกับต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ เนื่องจากเกิดการระบาดอย่างหนักของโรค ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้พบผู้ป่วยมากถึง 1 ล้านคน ถือเป็นสถิติซึ่งสูงกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และมีตัวเร่งคือภาวะโลกร้อนทำให้วงจรชีวิตของยุงลายสั้นลง นั่นหมายความว่ามีการเพิ่มขึ้นของประชากรยุงอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด มีไอเดียใหม่ใช้กลยุทธ์ตาต่อต่อ ฟันต่อฟัน ด้วยยุงต่อยุง โดยทีมนักวิจัยจากโครงการยุงโลก (The World Mosquito Program-WMP) เตรียมปล่อยยุงลาย (Aedes aegypti) ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia ต้านทานไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ได้เป็นอย่างดี เป้าหมายเพื่อออกไปผสมพันธุ์กับยุงธรรมชาติในหลายพื้นที่ของประเทศบราซิล จะได้ยุงรุ่นลูกจากยุงตัวเมียเหล่านั้นที่มีภูมิต้านทานโรคไข้เลือดออก และไม่เป็นพาหะมาสู่คน

ยกระดับการจัดการยุงแบบเต็มสูบ

จะไทยหรือบราซิลก็ไม่ต่างกัน วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกโดยพื้นฐานคือ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งเปี่ยมประสิทธิภาพและไม่เปลืองงบประมาณมากนัก

แต่ถ้าระบาดอย่างหนักก็เอาไม่อยู่เช่นกัน เหตุนี้หน่วยงานด้านสุขภาพในท้องถิ่นและระดับชาติของบราซิล จึงต้องยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่พันธุ์ยุงลายแบบจัดเต็ม

เอเธล มาซีล เลขาธิการฝ่ายเฝ้าระวังสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข บราซิล ยอมรับว่า วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ใช้อยู่คือ การค้นหาภาชนะบรรจุน้ำนิ่งที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นวิธีที่เก่าและเน้นไปที่การควบคุมพาหะของโรค รัฐบาลจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทั้งใช้การฉีดวัคซีน ทำหมันยุงตัวผู้ รวมทั้งทางเลือกล่าสุดคือ ปล่อยยุงที่ติดเชื้อ Wolbachia ออกไปผสมพันธุ์กับยุงธรรมชาติ

กระบวนการดังกล่าวเป็นการทำให้ยุงลายติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia เมื่อเชื้อเจริญเติบโตในตัวยุง จะเข้าไปแย่งอาหาร ทำให้ไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นต้นตอของไข้เลือดออกเพิ่มจำนวนได้ยากขึ้น โดยชาวบราซิลตั้งชื่อไข่และตัวอ่อนของยุงที่ติดเชื้อแบคทีเรียนี้ว่า “Wolbitos” และเรียกวิธีการนี้ว่า Wolbachia

โดยที่ผ่านมามีการใช้วิธี Wolbachia กับ 5 เมืองของบราซิลดูแลประชากร 3.2 ล้านคน เตรียมจะขยายพื้นที่ไปยังเขตเทศบาลใหม่อีก 6 แห่ง ครอบคลุมประชากรเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านคน

Cátia Cabral นักชีววิทยาที่ทำงานร่วมกับ WMP นับตั้งแต่เริ่มโครงการในบราซิลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยเริ่มโครงการนำร่องเมื่อปี 2015 ที่เมืองนิเตรอย เมืองที่มีประชากรราว 5 แสนคน อยู่ตรงข้ามอ่าวกัวนาบารา บอกว่า เราเริ่มต้นในห้องเล็กๆ โดยมีกรงเพาะเลี้ยงยุงเล็กๆ เพียง 3 กรง จนสามารถเพาะเลี้ยงยุงได้ 32,000 ตัว ปัจจุบันห้องปฏิบัติการในเมืองริโอเดอจาเนโร ซึ่งเปรียบเสมือนโรงงานเพาะยุงสายพันธุ์ใหม่มีตัวเต็มวัยจำนวน 1.5 ล้านตัว ผลิตไข่ยุงได้ 10 ล้านฟองในแต่ละสัปดาห์

“การใช้วิธี Wolbachia ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยที่เมืองนิเตรอยพบผู้ป่วยต้องสงสัยเพียง 689 ราย เทียบกับเมืองริโอเดจาเนโรที่อยู่ใกล้เคียงที่มีการทดลองใช้วิธี Wolbachia ในระดับที่เล็กว่า พบผู้ป่วยมากถึง 61,779 ราย”

ขณะที่ แอ็กเซล เกรเอล นายกเทศมนตรีเมืองนิเตรอย บอกว่า “ริโอเป็นเมืองที่มีประชากรมากกว่า 12 เท่า แต่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่านิเตรอยถึง 100 เท่า แน่นอนว่า การใช้วิธี Wolbachia นั้นมีความสำคัญต่อผลลัพธ์ของเรามาก”

ทั้งนี้ การศึกษาในปี 2021 ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายยุงที่ติดเชื้อ Wolbachia ในนิเตรอย พบว่าไข้เลือดออกลดลง 69% รวมถึงอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดจากยุงลายอีกสองโรคคือ ชิคุนกุนยา และ ซิกา ลดลง 56% และ 37% ตามลำดับ

ทางด้าน Luciano Moreira นักวิจัยของ Fiocruz ซึ่งเป็นผู้นำ WMP ในบราซิล บอกว่า ขณะนี้มีเทศบาลมากกว่า 50 แห่งที่ติดต่อขอรับ “Wolbitos” (ไข่และตัวอ่อนของยุงที่มีเชื้อ Wolbachia) ห้องปฏิบัติการเพาะพันธุ์ยุงแห่งใหม่ จึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นไปอีก

คาดว่าภายใน 10 ปี จะสามารถดูแลชาวบราซิลให้ปลอดจากโรคไข้เลือดออกได้ประมาณ 70 ล้านคน.

 

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles