ตามดู Demerit Point และ Traffic Fines ระบบตัดแต้มและค่าปรับจราจร จากประเทศเพื่อนบ้านแล้วย้อนดูตัวเรา

Demerit Point และ Traffic Fines รูปแบบการตัดแต้มและค่าปรับจราจรในเพื่อนบ้านที่คุ้นเคย นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับเราคือต้องเรียนรู้
Share

 

หลังจาก สตช. และกรมการขนส่ง ประกาศใช้นโยบายการตัดคะแนนการขับขี่ที่เชื่อมโยงกับใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทยไปเมื่อต้นปี แม้ยังไม่มีดราม่า แต่ควรส่องกันให้รู้ว่าระบบตัดแต้มความประพฤติในการขับขี่ของเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างสิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น ดุเดือด หรือหวานเย็นกันขนาดไหน

 

การจราจรบนท้องถนนในประเทศไทยนั้น คนที่ใช้รถใช้ถนนทุกวันมักรู้ดีถึงปัญหา โดยเฉพาะในเขต กทม. ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาสำหรับพ่อเมือง เป็นปัญหาที่ผู้นำทุกสมัยต้องกุมขมับ และส่งต่อปัญหาจากรุ่นสู่รุ่น ตราบใดที่กรุงโรมไม่สามารถสร้างได้เสร็จภายในวันเดียว ปัญหาท้องถนนในกรุงเทพฯ ก็เช่นกัน

สิ่งที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยนั้นติดหนึ่งในสิบอันดับของประเทศการจราจรไร้ระเบียบที่สุด และหนึ่งในปัจจัยอาจเกี่ยวข้องมาจากความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ ทำให้กฏระเบียบบางอย่างอาจจะยืดหยุ่นตามไปด้วย รวมถึงการใช้รถใช้ถนน

ล่าสุดเราเดินทางกันมาถึงจุดที่ต้องนำระบบตัดแต้มขับขี่มาใช้ควบคุมพฤติกรรมในการใช้ถนนร่วมกัน ทำให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคม ร่วมมือกันออกแบบวิธีในการตัดคะแนนการขับขี่โดยตรงกับใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย (สามารถอ่านข่าว NT หนุน สตช. เปิดตัว Khub Dee แอพบันทึกวินัยจราจร และ บทความ Khub Dee ระบบแต้มใบขับขี่ จะช่วยให้ถนนปลอดภัยได้จริงหรือไม่?

แอบส่อง Demerit Point ใน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สองประเทศที่คนไทยคุ้นเคย

จุดประสงค์ของการส่อง ไม่ใช่เพื่อการเปรียบเทียบ หากเป็นการศึกษาแนวคิดของประเทศที่เราคุ้นเคยกันอย่าง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ว่ามีหลักการในการตัดแต้มกันอย่างไรบ้าง เมื่อมีการละเมิดหรือกระทำผิดกฎจราจร

Motorist Traffic Police in Singapore
Photo Credit: Singapore Police Force

สำหรับการขับขี่รถยนต์ในประเทศสิงคโปร์นั้น ปัจจุบันจะมีระบบที่เรียกว่า Driver Improvement Points System หรือ DIPS ซึ่งเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 1983 เรียกง่ายๆ ว่าเป็นระบบแต้มการขับขี่ยานยนต์ซึ่งคะแนนนี้จะเริ่มต้นที่ 0 คะแนน หากผู้ขับขี่ทำผิดกฎจราจรในรูปแบบต่างๆ แต้มก็จะถูกเพิ่มเข้าไปในระบบนี้

ในญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้มีชื่อเรียกโดยเฉพาะอย่างใน สิงคโปร์ แต่ก็เลือกระบบนับแต้มจราจรแบบเดียวกันก็คือเริ่มต้นที่ 0 คะแนน แล้วเพิ่มขึ้นตามแต่ฐานความผิดในการละเมิดกฎจราจร

โดยทั้งสองประเทศนั้นมีจำนวนคะแนนที่เมื่อเจ้าของใบอนุญาตขับขี่นั้นถึงกำหนดจะต้องถูกระงับใช้ใบอนุญาต ซึ่งมีทั้งแบบงดใช้ตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึงยกเลิกและห้ามมิให้ขับขี่ยานพาหนะไปตลอดชีวิตก็มี ในขณะที่มูลฐานความผิดมาที่สุดของประเทศไทยคือ เมาแล้วขับ จะถูกตัดคะแนนจากเครดิต 12 คะแนน

นั่นหมายถึงสำหรับประเทศไทยคุณเมาแล้วขับ คุณมีสิทธิที่จะทำความผิดนี้ได้ปีละ 3 ครั้ง พอขึ้นปีใหม่ก็ Set Zero ทำกันได้ใหม่ ในขณะที่สิงคโปร์และญี่ปุ่นนั้นหากบวกกับเกิดอุบัติเหตมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตด้วย คุณไม่มีโอกาสในการขับรถใดๆ ได้อีกไปตลอดชีวิต

หรืออย่างในกรณีที่ไม่มีใบขับขี่ คล้ายกรณีล่าสุดในประเทศไทยที่มีว่าที่เยาวชนทีมชาติอายุ 16 ซึ่งรถ BMW คร่าชีวิตบัณฑิตใหม่ที่ขอนแก่น กรณีแบบนี้อย่างในญี่ปุ่นอย่างแรกของการตัดสินก็คือการปรับแต้มเครดิตการขับขี่สูงสุดที่ 24 คะแนน นั่นหมายถึงต่อจากนี้ไปตลอดชีวิตไม่สามารถขอทำใบอนุญาตขับขี่ได้อีกตลอดชีวิต

Demerit Point & Traffic Fines ลงลึกรายละเอียด ข้อหาไหนปรับเท่าไหร่ แล้วเมื่อไหร่โดนพักใช้

ในสิงคโปร์จะมีรายละเอียดปลีกย่อยของการกระทำผิดกฎจราจร ด้วยมีการแบ่งพื้นที่จราจรไว้ว่าส่วนไหนเป็นพื้นที่การจราจรแบบปกติ พื้นที่ไหนเป็นบริเวณสำคัญพิเศษ ซึ่งพออ่านแล้วก็พอเข้าใจได้เพราะว่าพื้นที่พิเศษนั้นก็คืออย่างเช่น พื้นที่ใกล้โรงเรียน พื้นที่ชุมชนหนาแน่น หรือพื้นที่ที่มีการรวมตัวของประชากรจำนวนมาก นั่นหมายถึงพื้นที่เหล่านี้จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

มาดูเรื่องการสะสมแต้มก่อน เช่น สำหรับผู้ทำใบขับขี่ใหม่หรือใดๆ ก็ตามที่มีคะแนนจราจรสะสมที่ 13 คะแนนภายในระยะเวลา 12 เดือน ผู้ถือใบขับขี่จะถูกเรียกให้เข้าอบรมทฤษฎีและสอบการขับขี่ใหม่ เพื่อยังคงสถานะใบขับขี่ให้สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม

ขยับมาถ้าสะสมแต้มถึง 24 คะแนนหรือมากกว่าในระยะเวลา 24 เดือน คุณจะถูกระงับใช้ใบขับขี่นาน 12 สัปดาห์

แต่หากฝ่าฝืนในช่วงของการถูกระงับใช้แล้วยังเกิดมีแต้มสะสมถึง 12 แต้มหรือมากกว่าภายใน 12 เดือน เจอข้อหาหนักมาก ด้วยการพักใช้ใบอนุญาต 36 เดือน

สำหรับระบบตัดแต้มของประเทศญี่ปุ่นนั้นจะมีอายุ 3 ปี โดยเมื่อไหร่ที่แต้มจราจรของคุณไปถึง 15 คะแนน ใบขับขี่ของคุณนั้นอาจจะถูกระงับการใช้งานโดยเริ่มตั้งแต่การระงับใช้นานหลายเดือนไปจนถึงถูกยกเลิกใบขับขี่และไม่สามารถขอใหม่ได้ตลอดชีพ

หากถามถึงเรื่องของการตัดคะแนน ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่คะแนนการขับขี่นั้นมีค่ามากๆ แต่สิงคโปร์ก็เข้มข้นเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง กรณีเมาแล้วขับนั้นหากตรวจพบว่ามีความเข้มข้นที่ 0.25 BAC (เทียบเท่า 250-400 ml./dl) จะถูกปรับที่ 25 คะแนน นั่นแปลว่าใบอนุญาตขับขี่อาจจะปลิวไปเลยก็ได้ แถมยิ่งถ้าเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุด้วยละก็ให้บอก Top Up เข้าไปอีก

ส่วนใน สิงคโปร์ นั้นนอกจากการตัดแต้มแล้ว ยังมีค่าปรับในแต่ละข้อหาที่แตกต่างกันไป สำรวจดูแล้วจะเริ่มที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 2,500 บาท ไปเรื่อยๆ จนถึงข้อหาร้ายแรงอย่าง 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในข้อหาความผิดในการใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถเป็นครั้งที่สอง

 

เรื่องนี้เป็นการสำรวจคร่าวๆ ให้เห็นถึงวิธีการในต่างประเทศ เพราะระบบแต้มจราจร อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศอื่น ประเด็นสำคัญที่ต้องดูกันต่อไป คือเรื่องของการบังคับใช้ และจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้มากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยเท่าที่เห็น คือความตื่นตัวในช่วงแรก แต่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องดูกันยาวๆ ต่อไปเช่นกัน

Contentder

Contentder

มือเขียนคอนเทนต์ประจำ กอง บก. มีความรู้พอประมาณทั้ง ไอที ยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจ และพยายามศึกษางานด้าน พลังงานและความยั่งยืน เพราะยึดในคำที่ Steve Jobs เคยกล่าวกับเหล่าบัณฑิต มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ในปี 2005 ที่ว่า "Stay Hungry, Stay Foolish" แปลเป็นไทยง่ายๆ "อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว" นั่นเอง

Related Articles