Khub Dee ระบบแต้มใบขับขี่ จะช่วยให้ถนนปลอดภัยได้จริงหรือไม่?

Khub Dee ระบบแต้มใบขับขี่ จะช่วยให้ถนนปลอดภัยได้จริงหรือ เปิดตัวเสียทีสำหรับกฏกติกาการตัดแต้มใบขับขี่ในประเทศไทย
Share

 

ภายในวันที่ 9 มกราคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมขนส่งทางบก จะเริ่มบังคับใช้ระบบตัดแต้มใบขับขี่กับใบขับขี่ทุกประเภทที่ผิดกฏจราจร ความพยายามครั้งนี้จะช่วยให้บนท้องถนนประเทศไทยปลอดภัยได้จริงหรือไม่ กับมุมมองเรื่องของประโยชน์ที่อาจช่วยให้คนโดยสารหายใจได้คล่องขึ้นบ้าง

 

ความท้าทายของการเดินทางและการจราจรบนท้องถนนของประเทศไทย ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงการฝ่าฝืนระเบียบการจราจร ซึ่งที่ผ่านมาไม่กว่ากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม เรื่องนี้ยังต้องอาศัยความพยายามในการแก้ไขมาโดยตลอด แม้ว่าอาจจะยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จอย่างที่ใครต่อใครคาดหวังกันไว้ก็ตาม

ระบบตัดแต้ม ของใหม่ ที่พูดกันมานาน

พรบ. จราจรทางบก ฉบับล่าสุดของประเทศไทยเรานั้นออกมาตั้งแต่ปี 2522 ล่าสุดก็เพิ่งมีการแก้ไขและเพิ่มเติมเติมเนื้อหาใน มาตราที่ 142/1 ในเรื่องของ “ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565”

สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ก็คือ จะมีการนำวิธีการตัดแต้มจากใบอนุญาตขับขี่โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค. 2566 ซึ่งจะเป็นมาตรการเสริมในการสร้างวินัยการขับขี่เพิ่มเติมจากการออกใบสั่งเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามปกติ หากพูดง่ายๆ ก็คือ ต่อจากนี้นอกจากจะต้องเสียค่าปรับเวลาทำผิดกฎจราจรแล้ว ยังจะต้องถูกตัดคะแนนความประพฤติ เพื่อเป็นการย้ำถึงระเบียบวินัยทางจราจร โดยที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ผบ. สตช. ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ต่อไปหากใครไม่เข้ามาชำระค่าปรับความผิดจราจร นอกจากแต้มที่โดนตัดไปแล้วนั้น ต่อไปรถยนต์ที่นำมาใช้นั้นก็มิอาจนำไปต่อภาษีประจำปีได้”

ซึ่งหากนำมาปฏิบัติได้จริง ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งทั้งในส่วนของ สตช. และกรมการขนส่งทางบก ในเรื่องของบูรณาการร่วมกันระหว่างสองหน่วยราชการ เพราะที่ผ่านมาเรื่องนี้ฟังดูเหมือนเป็นคำขู่ที่คนขับรถในเมืองไทยอาจจะคุ้นชินกันมานาน

“ตัดแต้มใบขับขี่” ข้อหาไหนโดนกี่แต้ม

เนื้อหาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คือ การตัดแต้มในบขับขี่ของแต่ละคน เบื้องต้นคือทุกคนที่มีใบชับขี่จะมีแต้มหรือคะแนนเริ่มต้นอยู่ที่ 12 แต้ม และเมื่อมีการทำผิดกฎจราจรก็จะมีการตัดแต้มตามหลักเกณฑ์ที่ สตช. และกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ ได้แก่

1.กลุ่มความผิดหลักที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ (20 ฐานความผิด) จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที โดยความผิดในกลุ่มนี้แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  • ตัด 1 คะแนน เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
  • ตัด 2 คะแนน เช่น ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ฝ่าไฟแดง)
  • ตัด 3 คะแนน เช่น ขับรถชนแล้วหนี
  • ตัด 4 คะแนน เช่น เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด

2. กลุ่มความผิดอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และกฎหมายที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง จำนวน 42 ฐานความผิด ตามบัญชีท้ายระเบียบ ความผิดกลุ่มนี้จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทาง จอดในที่ห้ามจอด ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ เป็นต้น

วิธีการตัดคะแนนนั้น จะดำเนินการโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง

ลองเทียบระบบตัดแต้มของเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์

สิงคโปร์ เป็นประเทศเพื่อนบ้านเราที่ดูเหมือนว่ากฎหมายและกฎระเบียบจราจรจะค่อนข้างเข้มงวดมาก และแน่นอนว่าที่นั่นก็มีระเบียบการ ตัดแต้มใบขับขี่ เหมือนกัน นัยว่าการทำผิดกฎจราจรในสิงคโปร์นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแค่คุณเลี้ยวกลับรถผิดที่แม้อาจจะไม่ได้ถูกตัดแต้มแต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ก็จะมีใบสั่งเรียกค่าปรับส่งมาถึงบ้านคุณทันที และอาจจะมีมูลค่าถึง 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณเกินกว่า 5,000 บาท เลยทีเดียว

ระบบการจราจรในสิ่งคโปร์นั้นมีการแบ่งเขตการจราจรออกเป็นเขต คือถนนหลวงและเขตควบคุมพิเศษที่เรียกว่า Silver และเขตโรงเรียน ซึ่งเป็นเขตที่เรียกว่ามีการบังคับการจราจรแบบเข้มข้น เริ่มต้น ที่ข้อหาที่ไม่ตัดแต้มแต่ก็โดนปรับเงินอย่างจอดบริเวณเส้นขาวเหลือง ค่าปรับก็ไม่น้อย 100-150 ดอลลาร์สิงคโปร์ แล้วแต่ประเภทยานพาหนะ หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีแต้มที่จะเพิ่มในประวัติตั้งแต่ 3 ไปจนถึง 24 แต้ม ในข้อหาที่ร้ายแรงอย่างขับรถประมาทหวาดเสียว ที่มีค่าปรับในการกระทำครั้งแรกถึง 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และถูกพักการใช้ใบขับขี่ซึ่งนั่นแปลว่าถูกห้ามการขับรถสูงสุด 6 เดือน

กลับมาดูสิ่งที่ สตช. และกรมการขนส่งทางบก กำหนดในการตัดแต้มก็คือ หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน แต่สามารถขอคืนคะแนนด้วยเมื่อแต้มลดลงต่ำกว่า 6 คะแนน ผู้ถือใบขับขี่สามารถขอเข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบก แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ สำหรับผู้ที่ถูกตัดแต้มจนเป็น 0 ก็สามารถขอเข้าอบรมเพื่อขอคืนคะแนนความประพฤติการขับขี่ได้ นั่นแปลว่าแม้ความประพฤติบนท้องถนนของคุณจะเข้าขั้น “เลวร้าย” ก็ยังสามารถกลับมาขับอย่างลอยนวลได้ เพียงแค่เข้าอบรมไม่กี่ชั่วโมง

อีกประเด็นคือ ทุกๆ สิ้นปีจะมีการคืนแต้มเหล่านี้ให้เป็น 12 คะแนนเช่นเดิม (นอกจากถูกระงับ 90 วันจะนับจนครบ) ต่างจากสิงคโปร์ ที่ผู้ที่จะได้รับคะแนนคืนทั้งหมด จะต้องไม่ขับรถผิดกฎหมายอีกเลยแม้แต่ข้อหาเดียวในรอบ 12 เดือนนับจากวันที่ถูกระงับ แต่หากขับรถแบบตามกฎจราจรไม่ได้อีกคราวนี้ถูกระงับการใช้ใบขับขี่ 2 ปี หากต้องการขอคะแนนคืนต้องผ่าน 1 ปีแรกไปก่อน พร้อมต้องผ่านการทดสอบทฤษฎีจราจรและการทดสอบการขับขี่ใหม่

Khub Dee แพลตฟอร์มดิจิทัล สำหรับตรวจสอบแต้มขับขี่ด้วยตัวเอง

แม้ระบบตัดแต้มจราจรของประเทศไทยจะยังเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไปยาวๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ณ วันนี้หน่วยราชการของไทย ได้พยายามนำเสนอบริการแบบ e-Service ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยสะดวกและสบาย จากความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ในการสร้างแอพพลิเคชัน Khub Dee ที่จะพร้อมให้ดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android

โดยแอพพลิเคชันดังกล่าว จะเชื่อมต่อฐานข้อมูล สตช. ในส่วนของการออกใบสั่งที่ชื่อว่า PTM (Police Tickets Management) เข้ากับฐานข้อมูลระบบออกใบอนุญาตขับขี่ ของ กรมการขนส่งทางบก โดยมี โทรคมนาคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ให้บริการโครงข่ายและระบบคลาวด์ โดยที่ระบบของ Khub Dee นั้นสามารถขำระค่าปรับจราจรได้ทันทีภายในแอพผ่านการเชื่อมต่อกับระบบของธนาคารกรุงไทย ได้ทั้งการโอนเงินจากธนาคารต่างๆ ในประเทศและบัตรเครดิต

 นั่นแปลว่า ต่อไปทุกต้นปีเรื่องใบสั่งค้างชำระของทุกๆ ปีจะได้รับการแก้ปัญหามากขึ้นและคงเหลือในระบบน้อยลง เพราะผู้ขับขี่ยานพาหนะสามารถตรวจสอบ ใบสั่ง ได้ด้วยตนเอง

ประโยชน์ไม่ใช่แค่ รู้และจ่ายใบสั่งง่ายขึ้น

แม้ว่า Khub Dee จะเป็นแอพพลิเคชันในเรื่อง ใบสั่ง ในการขับรถผิดกฎจราจรของเรา แต่อีกมุมเมื่อมีแอพพลิเคชันแบบนี้ก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของความมั่นใจในตัวของ คนขับรถ ที่เรากำลังโดยสารไปด้วยนั่นเอง

ข้อแรก แอพพลิเคชันเรียกรับบริการรถขนส่งแบบต่าง หรือบริษัทขนส่งก็สามารถเรียกตรวจ “ความประพฤติบนท้องถนน” ของพนักงานขับรถทั้งคนใหม่และที่มีอยู่เดิม เพราะข้อมูลของแต่ละคนจะถูกแสดงไว้ครบว่าเหลือคะแนนจราจรและมีใบสั่งค้างอยู่เท่าไหร่และจากที่ไหนบ้าง

หรือในแง่ของการจ้างรถรับจ้างอย่าง รถตู้ ที่หลายครั้งเราไม่เคยรู้เลยว่าคนขับนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร แม้ว่ามันจะไม่สามารถสะท้อนการขับขี่ของแต่ละคนได้หมด แต่อย่างน้อยก็สร้างความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าได้จ้างคนที่ดูมีคุณสมบัติพอสมควร

 

ต้องรอดูกันต่อ ว่าหลังวันที่ 9 มกราคม 2566 ไปแล้วว่าการขยับของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจราจรในครั้งนี้ จะช่วยให้ท้องถนนไทยปลอดภัยขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยให้บ้านลดลดอันดับโลกจากประเทศที่มีอันตรายบนถนนมากที่สุดในอันดับต้น มาอยู่อันดับไกลๆ กับเขาได้บ้าง

 

ถ้าคุณชอบเรื่องราวของ สาระ ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles