รู้จัก “วาฬ” ที่เป็นมากกว่าเพื่อนบิ๊กไซซ์ในจินตนาการของ “อูยองอู”

ชายและหญิงยืนมองภาพ วาฬ
Share

 

ถอดรหัสความหมายของเพื่อนบิ๊กไซส์ในจินตนาการจาก Extraordinary Attorney Woo

 

ทำไมต้อง วาฬ ยังคงเป็นคำถามที่คาใจสาวกทนายสาวอัจฉริยะ “อูยองอู” นอกเหนือจากการติดกับดักความอ่อนโยน ความเขินตัวแตก ความเหม็นความรัก ในบรรยากาศที่คลอไปตลอดการดำเนินเรื่องเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเอกที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม

แค่ปล่อยออกมาได้ 2 ep. ก็ขึ้นอันดับ Top 10 ใน Netflix และไต่ขึ้นสู่อันดับ 1 อย่างไม่ยากเย็น

‘Extraordinary Attorney Woo’ เล่าเรื่องของ อูยองอู ทนายความสาวที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม (Autistic Spectrum Disorder) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทพัฒนาการ ทำให้เกิดความบกพร่องในพัฒนาการด้านการพูดสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

นอกจากความดีงามของบท ความมากฝีมือของนักแสดง เทคนิคการทำคอมพิวเตอร์กราฟิกที่เนียนสมจริง ฯลฯ ที่ดีที่สุดประการหนึ่งของซีรีย์นี้คือ การเปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะออทิสติกสเปกตรัม หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ออทิสติก”

ด้วยการลบความเชื่อเดิมๆ นั้นไม่ง่าย บนพื้นฐานอคติที่ว่า ความแตกต่างไม่เหมือนเราทำให้คนจำนวนหนึ่งมองว่า ออทิสติกคือความแปลกแยก ถูกมองด้วยแว่นของความสงสาร จนละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า “ออทิสติกไม่ได้สร้างความแตกต่าง แต่คนทุกคนล้วนมีความแตกต่าง เพียงแค่เรียนรู้และทำความเข้าใจในความต่างนั้น” และ ‘Extraordinary Attorney Woo’ ทำหน้าที่นั้นได้ดีในการเจือจางอคติ เชื่อมร้อยความคิดความเข้าใจของคนให้ยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการหยิบเอาเรื่องราวของผู้มีภาวะออทิสติกสเปกตรัมมาเป็นตัวเอกของเรื่อง ก่อนหน้านี้ก็มีซีรีย์อเมริกัน Good Doctor ที่รีเมคจากเวอร์ชั่นเกาหลีและญี่ปุ่น ว่าด้วยตัวเอกที่มีอาการออทิสติกและซาวองก์ ซินโดรม ต้องฟันผ่าอคติของคนรอบข้างเพื่อก้าวขึ้นเป็นศัลยแพทย์ที่ได้รับการยอมรับ และยังมี Move to Heaven ที่ตัวเอกฮันกือรู ที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ (ประเภทหนึ่งของออทิสติกสเปกตรัม) หลงใหลการไปอควาเรียมและสัตว์ทะเลอย่างวาฬเช่นกัน

Man and woman watching big whale at window
Credit Picture : Woo Youngwoo’s world Twitter @crumboy_joy

วาฬ เกี่ยวข้องอย่างไรกับออทิสติก?

วาฬมีหลายชนิด แต่คนก็เรียกรวมๆ ว่า วาฬ” เช่นเดียวกับอาการของออทิสติกสเปกตรัมที่มีความหลากหลาย แต่คนก็ยังเรียกรวมๆ ว่าออทิสติกสเปกตรัม และหลายคนมักมีภาพจำในลักษณะเหมารวม

Paula Kluth และ Patrik Schwarz สองผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับออทิสติก ผู้เขียนหนังสือ Just Give Him the Whale! และ Pedro’s Whale แนะนำการดูแลเด็กที่มีภาวะออทิสติกบอกว่า ออทิสติกมีลักษณะเด่นหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ความบกพร่องในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งการจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ต้องค้นหาสิ่งที่ผู้นั้นสนใจและใช้เป็นสื่อในการพูดคุยด้วย

ใน ‘Extraordinary Attorney Woo’ อูยองอูเป็นผู้ที่หลงใหลวาฬ การดำเนินเรื่องจึงมีวาฬเป็นสื่อกลางให้ผู้ชมเข้าใจอูยองอู จะเห็นว่าวาฬปรากฏขึ้นตั้งแต่ฉากแรก ควบคู่อยู่ในความคิดของอูยองอู ที่เรียนรู้ชีวิตผ่านวาฬ โดยมีวาฬเป็นสื่อในการทำความเข้าใจการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม

ตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบความรักของแม่กับวาฬที่รักลูก ยอมตายแต่จะไม่ทิ้งลูกแม้ยามที่ลูกมีภัย “…ถ้าฉันเป็นวาฬ แม่คงจะไม่ทิ้งฉันไปใช่ไหม”

หรือการเปรียบเด็กๆ ที่ต้องอยู่ใน “ห้องล็อค” (โรงเรียนกวดวิชา) เพื่อเรียนอย่างหนักโดยไม่มีเวลาเล่น กินนอนไม่เพียงพอ กับวาฬที่ถูกขังอยู่ในพื้นที่แคบๆ (อควาเรียม) โดยไม่มีอิสรภาพ

ดูละครแล้วย้อนดูตัว…

ใน ‘Extraordinary Attorney Woo’ เราได้รู้จักวาฬมากมายผ่านความหลงใหลของอูยองอู คือความรัก ความสวยงาม ความอ่อนโยน และความน่าทึ่งอีกมากมายของเพื่อนบิ๊กไซซ์เหล่านี้

เราได้เห็นเสียงสะท้อนของการเรียกร้องอิสรภาพแทนวาฬที่ถูกจับมาไว้ในอความเรียมหลายต่อหลายตอน แต่ในโลกของความเป็นจริง มีวาฬเป็นจำนวนมากที่ถูกล่าเป็นอาหาร และอีกไม่น้อยที่เกยตื้นมากมายเพราะขยะพลาสติกทุกๆ ปี

…เพราะโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้สวยงามเหมือนในละครหรือซีรีย์.

 

Credit Picture:

Junho and Youngwoo by Twitter @mylifeisjonmang

Woo Youngwoo’s world Twitter @crumboy_joy

Related Articles