It’s OK to be different “แตกต่างกันได้ ไม่เป็นไร”

Share

 

It’s OK to be different “แตกต่างกันได้ ไม่เป็นไร”

 

เพราะความแตกต่างคือความสวยงาม…

หลายปีก่อนมีโอกาสเดินทางไปเยือนประเทศสิงคโปร์เยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิล ได้รับของที่ระลึกชิ้นหนึ่งเป็นสมุดบันทึกปกสีช็อกกิ้งพิงค์ สะดุดใจกับภาพปก-ลายเส้นพานอราม่าจากมุมเบิร์ดอายวิวของประเทศสิงค์โปร์

เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักกับลายเส้นอันน่าทึ่งของ สตีเฟ่น วิลท์เชียร์ (Stephen Wiltshire) ศิลปินออทิสติกชาวอังกฤษ เจ้าของฉายามนุษย์กล้องถ่ายรูป (Human Camera)

Stephen Wiltshire

…เพียง 1 ชม.บนเฮลิคอปเตอร์กับวิวเหนือมาริน่าเบย์ ประเทศสิงคโปร์ 5 วันต่อมาทุกคนก็ได้ยลโฉมลายเส้นภูมิประเทศของเกาะสิงค์โปร์ทั้งเกาะจากความทรงจำ บนผืนผ้าใบขนาด 4 x1.25 เมตร ส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวาระเฉลิมฉลอง 30 ปี สิงค์โปร์เพรสโฮลดิ้ง

ปัจจุบัน วิลท์เชียร์เป็นที่รู้จักในระดับโลก ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น MBE (Member of the British Empire)

“ออทิสติก” เป็นโรคที่รู้จักมานานเกือบ 80 ปี มีชื่อเรียกตั้งแต่ ออทิสติก ออทิสซึม ออทิสติก สเปกตรัม พีดีดี แอสเพอร์เกอร์ ปัจจุบันจะใช้คำว่า “ออทิสติก สเปกตรัม” (Autism Spectrum Disorder)

กลุ่มอาการภาวะออทิซึม เป็นความผิดปกติที่มีลักษณะเป็นสเปกตรัม หมายความว่า อาการ ความบกพร่อง ความสามารถ และระดับความรุนแรง จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

โดยอาการหลักๆ ที่พบร่วมกันคือ มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อม เรียกไม่หัน ไม่สบตา โต้ตอบไม่เป็น จินตนาการไม่เป็น ไม่พูด ทำอะไรซ้ำๆ เป็นแบบแผน ไม่ค่อยยืดหยุ่น สนใจบางอย่างแบบหมกมุ่น เป็นต้น

สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของเด็กออทิสติก คือ ทักษะด้านภาษา-การสื่อสาร และทักษะการเข้าสังคม

ถึงแม้ว่าเด็กออทิสติกจะไม่เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น แต่ตัวเด็กเองมีอารมณ์ ความรู้สึกของเขาเอง ต้องการความรัก ความสนใจ เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป อาการซนมาก อยู่ไม่นิ่ง หรือที่เรียกว่าไฮเปอร์แอคทีฟ (Hyperactive) เป็นอาการที่พบร่วมได้ในเด็กออทิสติก ประมาณร้อยละ 70 มักพบมีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย ร้อยละ 50-70 แต่ในขณะเดียวกัน ก็พบว่ามีความสามารถพิเศษถึงร้อยละ 10

พบว่าออทิสติก จำนวน 2 ใน 3 ยังมีภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่น และต้องการผู้ดูแลตลอดชีวิต ในขณะที่จำนวน 1 ใน 3 สามารถพึ่งพาตนเองได้พอสมควร ต้องการเพียงคำชี้แนะจากผู้ดูแลเป็นระยะเท่านั้น และพบว่ามีร้อยละ 1-2 ที่พึ่งพาตนเองได้เต็มที่ สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเอง ดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ

แนวทางดูแลช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือการส่งเสริมความสามารถที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการแก้ไขความบกพร่อง จึงจะสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเด็กมาใช้ได้เต็มที่

บ้านเรามีศิลปินออทิสติกที่น่าทึ่งเช่นกัน อย่างเช่น ที่ Art Story By Autistic Thai ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มเด็กพิเศษและบุคคลออทิสติกแห่งแรกในไทย ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย (Autistic Thai Foundation) เล่าว่า เป็นการต่อยอดมาจากการบำบัดและฟื้นฟูเด็กออทิสติกของมูลนิธิออทิสติกไทย ที่เริ่มต้นจากการทำแอปพลิเคชั่นสอนพูดให้เด็กออทิสติก พร้อมกับเปิดอบรมการใช้งานให้พ่อแม่ฟรี ช่วยเด็กออทิสติกได้มากจากคนที่ไม่เคยพูดสื่อสารได้เลย

ชูศักดิ์ บอกว่า การพัฒนาเด็กออทิสติก คือการนำจุดที่เป็นความสามารถ มาพัฒนาจุดที่ต้องเติมเต็ม เช่นการนำความสามารถทางศิลปะมาพัฒนาทั้ง EQ และ IQ มีครูพิงค์-เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม อาจารย์ด้านศิลปะบำบัดมาช่วยดูแล ฟื้นฟูเด็กๆ และเน้นเรื่อง Creative Thinking เกิดเป็นงานศิลปะจำนวนมาก และเพื่อสร้างความยั่งยืนจึงนำงานศิลปะเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อให้เกิดรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เด็กและบุคคลออทิสติก

นอกจากนี้ยังมี ร้านกาแฟ For All Coffee ที่บาริสต้าทั้งหมดเป็นเด็กออทิสติกด้วย อยู่ที่มูลนิธิออทิสติกตรงตลิ่งชัน แล้วก็มีสาขาอยู่ที่กระทรวงแรงงานกับ SCB สำนักงานใหญ่ บางคนฝึกชงกาแฟที่ True Coffee จนสุดท้ายทำงานเป็นบาริสต้าที่ True Coffee บางคนที่มีพฤติกรรมเล่นมือ หรือเคาะอะไรตลอดเวลา ก็ลองให้เขาตีระนาด เลยกลายเป็นว่าปัจจุบันเรามีวงดนตรีไทยที่เล่นได้จริง เป็นออทิสติกทั้งหมด

สำหรับใครที่สนใจสนับสนุน เข้าไปดูสินค้าและกิจกรรมของน้องๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/artstorybyautisticthai/

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้สังคมเกิดความเข้าใจและการยอมรับของบุคคลที่เป็นออทิสติก องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันออทิสติกโลก” (World Autism Awareness Day)

ปีนี้ มูลนิธิออทิสติกไทย เชิญชวนให้ร่วมแสดงพลังและยอมรับความแตกต่าง ศักยภาพบุคคลออทิสติก ในวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก 2 เมษายน ด้วยการเปลี่ยนกรอบรูป Profile ใน FB และ IG หรือทำสัญญลักษณ์ It’s OK แตกต่างกันได้ไม่เป็นไร ในรูปแบบของตนเอง เพื่อแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #itoktobedifferent ในสัปดาห์รณรงค์สร้างความตระหนักในออทิสติกโลก 31 มีนาคม-2 เมษายน 2565

…เพราะความเข้าใจและการให้โอกาสคือสิ่งสำคัญที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น.

 

ภาพ : https://www.stephenwiltshire.co.uk/

https://www.facebook.com/Stephen.Wiltshire.Artist

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles