เรื่องงงๆ ของคนรักษ์โลก กับเครื่องยนต์ไฮโดรเจน 2 แบบ

Hydrogen Combustion Engine VS FCEV สองรูปแบบของพลังงานไฮโดรเจนที่มีใช้งานกับยานพาหนะ คำถามคือมันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรจนบางคนเริ่มงง
Share

 

เมื่อพูดถึง ไฮโดรเจน ธาตุหมู่ 1 สถานะเป็นก๊าซ ที่กลายมาเป็นเชื้อเพลิงแห่งยุคที่ผู้คนรอคอย แต่ยังมีคนจำนวนมากที่อาจจะยังสับสน ทำให้ต้องถกกันเรื่อง Hydrogen Combustion Engine VS FCEV

 

คำถามคือ ทำไมเราถึงต้องมาคุยกันเรื่องของ พลังงานจากไฮโดรเจน กันอีกรอบ แน่นอนทุกคนต่างรู้กันดีว่ามันคือพลังงานแห่งอนาคตและเป็นตัวจบของหลายอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะรวมถึงอาจจะคือตัวแทนของรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับบางรูปแบบของการคมนาคมขนส่ง

แต่ดูเหมือนว่ามีความเข้าใจผิดในตัวของเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้กับพลังงานไฮโดรเจน โดยเฉพาะกับในรถยนต์ที่วันนี้มีหลายบริษัทผู้ผลิตรายสำคัญของโลก นำขบวนโดย Toyota ที่ผลักดันมาในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา แต่ในเชิงลึกกลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงรูปแบบของเทคโนโลยีที่ถูกนำเสนอว่าแตกต่างกันอย่างไร

ทำให้วันนี้เราต้องมาทำความเข้าใจกับ 2 รูปแบบของเทคโนโลยีไฮโดรเจน ที่แม้ว่า Input ของมันคือ H2 หรือ ไฮโดนเจนเหลว แต่กระบวนการที่ได้มาซึ่งพลังงานในการขับเคลื่อนนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง

 

Hydrogen Combustion Engine

อย่างแรก ไม่ว่าจะเรียกว่า hydrogen combustion engine หรือ hydrogen internal combustion engine (H2ICE) อะไรก็ตามมันก็คือเครื่องยนต์ปกติธรรมดาที่กินไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง เหมือนอย่างที่เราคุ้นชินกับการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวไม่ว่าจะเป็น LPG หรือ CNG รวมถึงกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเอง

Hydrogen Combustion Engine Chat a kind of Hydrogen Engine
Credit : TU Graz Graz University of Technology

เพียงแต่ ไฮโดรเจน ที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นจะถูกเก็บไว้ในถังแรงดันสูงคล้ายกับถังน้ำมัน เมื่อเครื่องยนต์ถูกสตาร์ท ตัวไฮโดรเจนจะวิ่งจากถังเข้าสู่ห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์เพื่อทำการผสมเข้ากับอากาศ หลังจากนั้นส่วนผสมจะถูกบีบอัดอยู่เหนือลูกสูบผลก็คือการระเบิดพลังงานออกมา ในปริมาณที่มากพอที่จะดันลูกสูบจากกระบวนการสันดาป เพื่อส่งพลังไปหมุนเพลา อ่านถึงตรงนี้มันคือหลักการทำงานของเครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซลปกตินี่เอง

จุดแตกต่างของเครื่องยนต์สันดาปในด้วยไฮโดนเจนเมื่อเทียบกับระบบที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติ อย่างแรกคือเครื่องยนต์ไฮโดรเจนนั้นให้มลพิษที่ต่ำกว่า เพราะโดยหลักแล้วของเหลือที่ได้จากกระบวนการสันดาปนั้นคือ ไอน้ำ แต่อย่าเพิ่งดีใจเพราะยังมี Nitrogen Oxides (NOx) ตามออกมาจากกระบวนการสันดาปที่มีอุณหภูมิสูง แม้จะในปริมาณเล็กน้อยก็ตาม

สอง ไฮโดรเจน นั้นไวไฟกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซลมาก ทำให้สามารถเผาไหม้ได้สะอาดและเร็วกว่า จุดนี้ทำให้ต้องมีการออกแบบห้องเผาไหม้ ระบบฉีดเชื้อเพลิงรวมถึงรูปแบบและจังหวะในการจุดระเบิดใหม่ทั้งหมด แถมด้วยการที่ ไฮโดรเจน ติดไฟได้ง่ายกว่าทำให้ต้องคิดไปถึงเรื่องของการป้องกันและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเฉพาะเพื่อให้สามารถจัดการและจัดเก็บเชื้อเพลิงได้อย่างปลอดภัย

มากไปกว่านั้น เครื่องยนต์สันดาปไฮโดรเจนอาจต้องการระบบหล่อลื่นที่ดีกว่าเดิม เนื่องจากไฮโดรเจนมีความหนืดต่ำกว่าเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม ทำให้วัสดุที่นำมาใช้อาจจะไม่ใช่อลูมิเนียมก็เป็นไปได้ โดยจำเป็นต้องมองหาโลหะที่ไฮโดรเจนจะไม่ไปสร้างความเสียหายได้ อย่างที่เมื่อก่อนเราอาจจะเคยได้เห็นเครื่องยนต์ดีเซลที่ถูกปรับแต่งจนมีกำลังมากเกินจนสร้างความเสียหาย ไฮโดรเจน ก็จะมีลักษณะที่ต้องระวังในเรื่องนี้เช่นกัน

มีข้อดี ก็ต้องมีข้อจำกัดอยู่บ้าง นั่นคือโครงสร้างพื้นฐานการผลิตและจำหน่ายไฮโดรเจนยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร และยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างดีเท่ากับสถานีเติมน้ำมันทั่วไปสำหรับน้ำมันเบนซินหรือดีเซล

อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์สันดาปไฮโดรเจนสามารถใช้เป็นเทคโนโลยีช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งช่วยให้สามารถรวมไฮโดรเจนเป็นแหล่งเชื้อเพลิงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ใช้ประโยชน์จากยานพาหนะที่มีอยู่และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันเหลือผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายที่ยังคงพัฒนาบนเทคโนโลยีนี้อยู่ นั่นคือ Toyota น่าจะเพราะบริษัทนั้นคงมีคู่ค้าและพันธมิตรที่ยังพัฒนาเทคโนโลยีตามไปไม่ทัน

 

FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle)

FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) คือรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนสู่ระบบขับเคลื่อน โดยใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งเชื้อเพลิง FCEV นำเสนอทางเลือกที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในทั่วไปและรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) (อันนี้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่)

How FCEV work

จะว่าไปหัวใจของ FCEV นั้นคือชุดแผงผลิตพลังงาน ประกอบด้วยเซลล์เชื้อเพลิงหลายเซลล์ที่มีเมมเบรนอิเล็กโทรไลต์ประกบอยู่ระหว่างแอโนด (ขั้ว +) และแคโทด (ขั้ว -) หลักการคือเมื่อก๊าซไฮโดรเจนถูกจ่ายให้กับขั้วบวกและออกซิเจนจากอากาศถูกจ่ายให้กับขั้วลบ ปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าจะเกิดขึ้น ทำให้โมเลกุลของ ไฮโดรเจน แยกออกเป็นโปรตอนและอิเล็กตรอน โดยโปรตอนจะหลุดผ่านตะแกรงอิเล็กโทรไลต์ออกไป ในขณะที่อิเล็กตรอนจะถูกกักเก็บไว้เพื่อจับเข้ากับอะตอมของออกซิเจน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า ของเหลือที่ออกมาจากกระบานการนี้คือ ละอองของน้ำบริสุทธิ์

กระแสไฟฟ้าที่ได้จากแผงผลิตพลังงานนั้นจะนำมาใช้ให้พลังงานกับมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถยนต์ โดยทั่วไปแล้ว FCEV จะมีแบตเตอรี่ขนาดเล็กไว้ทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์และช่วยในการส่งพลังงานออกมาระหว่างการเร่งความเร็วหรือในสถานการณ์ที่มีความต้องการเร่งความเร็วฉับพลัน แบตเตอรี่ยังใช้สำหรับการกักเก็บพลังงานจากการชะลอความเร็วและเบรก โดยเป็นการเก็บเอาพลังงานจากการหมุนกลับของมอเตอร์มากักไว้ไม่ให้สูญเปล่า

ข้อดีของ FCEV ก็คือยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานที่สูงกว่า การแปลงไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพมากกว่ากระบวนการเผาไหม้ไฮโดรเจนในเครื่องยนต์สันดาป ซึ่ง FCEV ยังมีระยะการขับขี่ที่ไกลกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ เนื่องจากความสามารถในการบรรจุพลังงานของไฮโดรเจนนั้นสูงกว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในปัจจุบันอย่างมาก

อีกข้อได้เปรียบที่ดูเหมือนว่า รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะยังเป็นรองอยู่ก็คือ ระยะเวลาที่ใช้ในการเติมเชื้อเพลิงขับเคลื่อนเข้าไปใหม่นั่นเอง โดยที่รถยนต์ FCEV นั้นใช้เวลาในการเติมไฮโดรเจน(ในกรณีมีปั๊มให้เติม) ด้วยเวลาไม่ต่างจากการเติมน้ำมันทั่วไป แต่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อยก็ต้องรออย่างน้อย 30 นาที แต่ในอีกมุมสำหรับคนขับรถคือช่วงเวลาที่มากพอให้มีความสุขกับกาแฟสักแก้ว

 

Hydrogen Combustion Engine VS FCEV

ก่อนจบเรายกทั้งสองเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาเทียบกันดีกว่าว่า อะไรดี อะไรเด่น

แน่นอนในเรื่องเข้าใจง่าย ดูแลทั่วถึง คนไทยก็คงเทคะแนนไปให้  Hydrogen Combustion Engine ก่อน เพราะมันดูเหมือนหรือคล้ายกับที่เราใช้กันอยู่ และดูพอเป็นเทคโนโลยีที่คนไทยส่วนใหญ่พอจะเข้าถึงได้ไม่ยาก เพิ่มเติมด้วยเทคนิคใหม่ๆ

แต่สำหรับ FCEV แม้ว่าจะดูล้ำสมัยไฮเทค แต่ด้วยความเป็นเทคโนโลยียุคใหม่บวกกับความสลับซับซ้อนและจำนวนอุปกรณ์ที่ไม่ได้มีมากเหมือนอย่างเช่นเครื่องสันดาปในเหมือนในอดีต ทำให้สามารถร่นระยะเวลาในการเรียนรู้ให้สั้นลงได้

สรุปก็คือ ณ ตอนนี้ อาจคงยังไม่ได้เห็นอะไรที่ชัดเจนว่าอะไรดีกว่า แต่บทสรุปของตอนนี้ก็คือ ความแตกต่างระหว่างสองเรื่องนี้ก็คือวิธีของการผลิตพลังงาน และรูปแบบของแต่ละเทคโนโลยีที่ใช้ ไฮโดรเจน เป็นเชื้อเพลิงเหมือนกัน แบบหนึ่งมีของเสียปะบนออกมาเล็กน้อย แต่อีกแบบเรียกว่า ตัวตึง เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเหลือน้ำออกมาจากระบบล้วนๆ

 

สุดท้ายรอวันที่ เทคโนโลยี ถึงวันที่พร้อมกลายเป็นรถยนต์ของจริงให้เราได้เป็นเจ้าของ วันนั้นค่อยมาเลือกกันอีกทีว่าแบบไหนเหมาะกับใครก็ยังไม่สาย ขอให้มาจริง ที่เหลือค่อยว่ากัน

 

สำหรับท่านที่ติดตามและสนใจ ความก้าวหน้าทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Contentder

Contentder

มือเขียนคอนเทนต์ประจำ กอง บก. มีความรู้พอประมาณทั้ง ไอที ยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจ และพยายามศึกษางานด้าน พลังงานและความยั่งยืน เพราะยึดในคำที่ Steve Jobs เคยกล่าวกับเหล่าบัณฑิต มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ในปี 2005 ที่ว่า "Stay Hungry, Stay Foolish" แปลเป็นไทยง่ายๆ "อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว" นั่นเอง

Related Articles