เคยสงสัยบ้างมั้ยว่า ทำไมเวลามองข้าวของรอบตัวที่ออกแบบเป็นรูปทรงที่มีความคดโค้งหรือกลมมน ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เป็นมิตร สบายใจ นั่นรวมถึงรถซิตี้คาร์คันน้อยที่ราวกับหลุดออกมาจากโลกอนิเมะ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เพราะเส้นสายเหล่านั้นมีอยู่ในธรรมชาติ เส้นของต้นไม้ ดอกไม้ใบหญ้า ภูเขา ทะเล หรือแมลงตัวเล็กๆ ซึ่งสมองคนเราตีความว่าเป็นสัญญาณแห่งความนุ่มนวล อ่อนโยน ทำให้การทำงานของสมองส่วนหน้าเบาบางลง จึงรู้สึกผ่อนคลาย
นี่คือส่วนหนึ่งของความลับที่บรรดานักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่า ทำไมธรรมชาติจึงส่งผลต่อการทำงานของสมองในแง่บวก การพาตัวเองเข้าไปอยู่ในธรรมชาติช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะในแง่มีสมาธิดีขึ้น ความจำดีขึ้น รวมทั้งส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกที่ผ่อนคลายลง
สมองคนเรานั้นมีความลับมากมาย ด้วยความซับซ้อนพิสดาร เต็มไปด้วยปริศนาทำให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงคุณหมอผู้ชำนาญการด้านต่างๆ พยายามไขความลับของสมอง การสั่งการฮอร์โมน ความคุมความรู้สึกนึกคิด รวมทั้งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อโรคต่างๆ
ถูกต้อง ที่บอกว่าความเครียดเป็นต้นเหตุของโรคมากมาย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ก็มาจากสมองนี่แหละที่สั่งการให้หลั่งฮอร์โมนความเครียด การรู้จักปิดสวิตช์ หรือเปลี่ยนโหมดการสั่งการของสมองบ้างจึงเป็นสิ่งที่บรรดาผู้รู้ทั้งหลายแนะนำ เช่น การนั่งสมาธิ
แต่ถ้ายังทำไม่ได้ มีวิธีที่ง่ายกว่านั้น คือการพาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เพราะพลังธรรมชาติจะเยียวยาทุกสิ่ง และที่มากกว่านั้นคือ ถ้าไม่มีเวลาพาตัวเองไปไหนต่อไหน แค่มองไปที่สีเขียวๆ ก็ช่วยได้แล้ว
ในความเป็นจริงประเด็นพลังของสี (เขียว) ที่ส่งผลต่อสมองและจิตใจคนเราไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญให้ความสนใจคือ ทำไมและอย่างไรมากกว่า
ปัจจุบันมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่าการเปิดรับธรรมชาติช่วยเพิ่มการรับรู้ของสมองดีขึ้น รวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวกับการทำความเข้าใจ การจำ การใช้เหตุผล การตัดสินใจ รวมไปถึงการจินตนาการและการแก้ปัญหา เช่น การศึกษาชิ้นหนึ่งที่พบว่า แค่มองออกไปที่หลังคาสีเขียวเพียง 40 วินาที ส่งผลต่อผู้เข้าร่วมทำวิจัยทำแบบทดสอบผิดพลาดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการมองหลังคาสีอื่น
เช่นเดียวกับ ดร. Marc Berman ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการด้านประสาทวิทยาสิ่งแวดล้อม แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่พบว่าการได้เดินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ 50 นาทีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขึ้นประมาณ 20% เมื่อเทียบกับการเดินในสภาพแวดล้อมของเมือง
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การได้สัมผัสธรรมชาติจะกระตุ้น ‘พาราซิมพาเทติก’ (Parasympathetic) ซึ่งเป็นระบบประสาทที่ทำงานในสภาวะพักของร่างกาย
ที่น่าสนใจคือ มีการสำรวจความเกี่ยวข้องของสมองและภาวะทางจิตกับการใช้เวลาในพื้นที่เขียว กับประชากรมากกว่า 16,000 คนใน 18 ประเทศ พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีเขียวหรือบริเวณชายฝั่งทะเล มีความเป็นอยู่โดยรวมที่ดีขึ้น โดยมีจำนวนไม่น้อยที่แค่ใช้เวลาอยู่บริเวณพื้นที่สีเขียว 5 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีผลต่ออาการทางด้านจิตเวช เช่น วิตกกังวล แพนิค หรือซึมเศร้า รวมทั้งผู้ที่ต้องใช้ยาลดความดันโลหิต และยาหอบหืด ลดน้อยลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้เวลาในพื้นที่สีเขียว
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าธรรมชาติมีผลกับสมองของเรา ขณะที่สภาพแวดล้อมสมัยใหม่ที่บีบคั้นให้ต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และมีการกระตุ้นสูง ทำให้เราไม่มีสมาธิ ทำงานผิดพลาด และจมอยู่กับปัญหา
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าธรรมชาติจะไม่มีสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นเลย แต่สมองของเราตีความสัญญาณที่มาจากธรรมชาติเช่น เสียงนกร้อง ใบไม้ที่กระทบกัน สายลมที่พัดผ่าน หรือแม้แต่เสียงเท้าของเราที่เหยียบบนดิน เป็นสัญญาณที่ ‘นุ่มนวล’ และสบายใจ จึงทำให้การทำงานของสมองในด้านต่างๆ ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ผ่อนคลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ดร. Berman เชื่อว่าเส้นโค้งต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น เนินเขา ทางเดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล หรือลักษณะภูมิประเทศต่างๆ อาจเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ ดังนั้น ถ้าคิดจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี ควรจะต้องใส่องค์ประกอบเหล่านี้ที่มีอยู่ในธรรมชาติเข้าไปด้วย เช่นกับถนน อาคารสำนักงาน โรงเรียน บ้าน เป็นต้น
“มันไม่ใช่ความฟุ่มเฟือย แต่มันเป็นสิ่งจำเป็น” ดร. Berman บอก เพราะหากเราไม่ใช้เวลาในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เราจะไม่สามารถมีสุขภาพที่ดีได้ และสมองของเราก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ.
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่