Thoughtworks ตั้งเป้าเพิ่มความหลากหลายทางเพศของพนักงานสายเทค ให้ถึง 40% ภายในปี 2565 นี้

Share

 

Thoughtworks ตั้งเป้าเพิ่มความหลากหลายทางเพศของพนักงานสายเทค ให้ถึง 40% ภายในปี 2565 นี้

 

โครงการ CV Clinic ของ Thoughtworks ประเทศไทย ร่วมเป็นแรงผลักดัน

สิ่งหนึ่งที่ Thoughtworks บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก ที่มีพนักงานกว่า 10,000 คน ในสำนักงาน 49 แห่งใน 17 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ให้ความสำคัญไม่แพ้การสร้างนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อสร้างความสำเร็จทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า ก็คือความหลากหลายของบุคลากร (Diversity) การส่งเสริมความเท่าเทียม (Equity) และการมีส่วนร่วม (Inclusion) ในองค์กร

ความหลากหลายนั้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเพศชาย-หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่ม LGBTQIA+ เชื้อชาติ อายุ ศาสนา ความพิการ ภูมิหลังและอัตลักษณ์อื่นๆ อีกด้วย

ที่ Thoughtworks จะมีเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัดสัดส่วนของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยทางเพศที่มักถูกมองข้าม (women and underrepresented gender minorities – WUGM) ทั้งหมดในองค์กร ล่าสุด Thoughtworks ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วน WUGM ในสายเทคโนโลยีให้ได้ 40% ภายในปี 2565 นี้

ในปี 2564 ที่ผ่านมา Thoughtworks มีพนักงานกลุ่ม WUGM ทั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและแผนกอื่นๆ อยู่ที่ 40.6%

หากจำแนกตามแผนกแล้ว แผนกเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์นั้น มีสัดส่วน WUGM อยู่ที่ 38.2% และในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี คือแผนกปฏิบัติการและตำแหน่งผู้นำอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนที่ 62.4% ส่วนในกลุ่มผู้บริหารระดับโลก มีสัดส่วน WUGM อยู่ที่ 60%

“การตั้งเป้าหมายเป็นวิธีสำคัญในการติดตามผลลัพธ์และเป็นการสร้างความรับผิดชอบแก่ตัวเองด้วย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขก็ไม่ใช่สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นหลัก แต่เป็นกระบวนการสร้างความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมในทุกๆ การกระทำ ทุกการตัดสินใจทางธุรกิจ ในวัฒนธรรมของเรา” – Elise Zelechowski, Global Head ด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม ความมีส่วนร่วม ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ของ Thoughtworks กล่าว

เทคโนโลยีต้องมาจากความหลากหลาย

หากมองลึกเข้าไปในสัดส่วนของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยทางเพศที่มักถูกมองข้าม (WUGM) ในตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีของ Thoughtworks ทั่วโลกแล้ว ตำแหน่งหัวหน้าทีม (Lead) จะมีสัดส่วนความหลากหลายทางเพศอยู่ที่ 31.2% ส่วนในตำแหน่งที่สูงกว่านั้น อย่างเช่นระดับผู้จัดการฝ่าย (Principal) และผู้อำนวยการ (Director) จะอยู่ที่ 26.4% และ 17.9% ตามลำดับ

Rebecca Parsons, Chief Technology Officer ของ Thoughtworks ย้ำถึงความสำคัญที่บริษัทต้องติดตาม WUGM ในตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะว่า “เราเชื่ออย่างแรงกล้าว่าเทคโนโลยีต้องคิดค้นขึ้นโดยทีมงานที่มีความหลากหลายเหมือนสังคมที่เราอยู่ เพื่อที่เราจะได้รับใช้สังคมได้ดียิ่งขึ้น อุตสาหกรรมเทคโนโลยียังขาดแคลนความหลากหลายของ WUGM อยู่มาก ผู้หญิงและผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยทางเพศที่มักถูกมองข้าม (UGM) กำลังออกจากวงการเทคโนโลยีในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เราภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนคนเหล่านี้ให้เติบโตในวงการเทคโนโลยี แต่หนทางสู่เป้าหมายของเรานั้นยังอีกยาวไกล”

สร้างผู้นำอย่างเท่าเทียม

สัดส่วนกลุ่ม WUGM ในตำแหน่งด้านปฏิบัติการและบทบาทผู้นำอื่นๆ ของ Thoughtworks สามารถแบ่งแยกย่อยตามตำแหน่งได้เช่นกัน ในตำแหน่งปฏิบัติการ สัดส่วนกลุ่ม WUGM ที่เป็นหัวหน้าทีม (Lead) อยู่ที่ 52.8% ส่วนตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย (Principle) และผู้อำนวยการ (Director) จะอยู่ที่ 39% และ 33.3% ตามลำดับ ส่วนตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารนั้นอยู่ที่ 60%

“เราภูมิใจมากที่กว่า 60% ของผู้บริหารของเราเป็นกลุ่ม WUGM การติดตามความก้าวหน้าเพื่อเทียบกับตัวเลขโดยรวมเป็นสิ่งสำคัญในการยืนยันว่าผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยทางเพศได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมทั่วทั้งองค์กร” Joanna Parke, Chief talent officer ของ Thoughtworks กล่าว

ความหลากหลายของบุคลากร โดยเฉพาะในตำแหน่งระดับอาวุโสนั้นจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจและวัฒนธรรมองค์กรได้มหาศาล Thoughtworks จึงตั้งใจสร้างโอกาส ระบบสนับสนุน และโครงการที่จะสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในทุกระดับขององค์กร

โครงการระดับโลกอย่าง Women in Leadership Development  จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยบ่มเพาะบทบาทความเป็นผู้นำและสร้างพื้นที่ของกลุ่ม WUGM ในองค์กร

โครงการ CV Clinic เพื่อสนับสนุนกลุ่ม WUGM ให้เติบโตในสายงานเทคโนโลยี

ส่วน Thoughtworks ประเทศไทย ก็ริเริ่มโครงการ CV Clinic ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านความหลากหลายทางเพศและดึงดูดคนกลุ่ม WUGM ให้มาทำงานในวงการเทคโนโลยีมากขึ้น

โดยปกติแล้วฝ่ายบุคคลจะใช้เวลาน้อยกว่า 10 วินาทีในดูใบสมัครงาน ถ้าผู้สมัครคนไหนใช้คำตกหล่น หรือเขียนคุณสมบัติไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามความต้องการของบริษัท ก็อาจทำให้พลาดโอกาสได้งานไปอย่างน่าเสียดาย โครงการ CV Clinic จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยลดช่องว่างดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่รับสมัครงานของ Thoughtworks จะช่วยดูเรซูเม่ ตรวจความถูกต้อง และให้คำแนะนำอื่นๆ ในการเขียนเรซูเม่เพื่อช่วยสร้างความโดดเด่นให้แก่ผู้สมัคร เป็นการเพิ่มโอกาสให้ได้สัมภาษณ์งานและได้งานในที่สุด

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles