ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จับมือ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (CSCECTH) สนับสนุนการค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ร่วมผลักดันการก่อสร้างงานโยธาในช่วงหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ – หนองคาย ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงกลยุทธ์ในการเชื่อมโยงภูมิภาค ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศไทย นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงยังเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การคมนาคมด้วยระบบรางที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากยานพาหนะและรถไฟ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนไทยตลอดเส้นทางอีกด้วย
ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ยังสนับสนุนสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน มูลค่า 840 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเชิงการค้า พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสภาพคล่องทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงธุรกิจที่ตั้งเป้าไว้
นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า โครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 มีมูลค่ารวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นยอดขอรับการส่งเสริมจากผู้ประกอบการจากจีน 72,873 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22 % ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งหมด[1] สำหรับเอชเอสบีซี มูลค่าการดำเนินธุรกิจระหว่างธนาคารฯ และลูกค้าองค์กรที่เข้ามาขยายธุรกิจในอาเซียนเติบโตขึ้นประมาณ 60% ในปี 2566 โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้ ด้วยบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการในประเทศไทยมาอย่างยาวนานถึง 136 ปี ธนาคารเอชเอสบีซีมุ่งมั่นที่จะผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอนวัตกรรมโซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจรแก่ทั้งลูกค้าธุรกิจจากจีนและทั่วโลก”
การค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้ความร่วมมือนี้ จะช่วยสนับสนุนการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและจีน โดยการค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) วงเงิน 2,000 ล้านบาทนี้ครอบคลุมการชำระเงินล่วงหน้าและการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคาย (สัญญาที่ 4 – 3 ระยะทางจากนวนคร – บ้านโพ) นอกจากนี้ สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 840 ล้านบาท จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน การบริหารจัดการสภาพคล่อง และการขยายเวลาการชำระเงิน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าผ่านความน่าเชื่อถือและความมั่นคงทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น
“บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (CSCEC) และบริษัทในเครือ มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับธนาคารเอช-เอสบีซีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปีใน 20 ประเทศจากหลายภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และอาเซียน โดยธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเชื่อมโยงอาเซียนกับจีน ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารฯ ในการขยายโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศ และสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่องค์กรธุรกิจระดับโลกมีต่อเอชเอสบีซี ในฐานะธนาคารระหว่างประเทศยอดเยี่ยมของไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากยูโรมันนี่ (Euromoney) และไฟแนนซ์เอเชีย (FinanceAsia) เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน” นายกัมบา กล่าวเสริม
นายเปง ลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราได้ทำงานกับธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของเราประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 โดยธนาคารเอชเอสบีซีได้สนับสนุนเราตลอดการดำเนินงาน ด้วยความเข้าใจเชิงลึกของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในประเทศไทย เครือข่ายธุรกิจใน 60 ประเทศ รวมทั้งความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
“โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคายจะเป็นอีกพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โครงการนี้จะเชื่อมต่อเส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่รถไฟเส้นทางลาว – จีน ซึ่งจะทำให้การคมนาคมเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งยังส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศอีกด้วย” นายลี่ กล่าวทิ้งท้าย