บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เผยเทรนด์สำคัญภายใน ปี พ.ศ. 2573 ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก ณ งานประชุมวิชาการ C.P. Symposium 2022 แนะภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยี 5G Cloud และ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อการปฏิวัติวงการ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างเต็มที่ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่าเรือ 5G Smart Port เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง ทั้งยังมองว่าเทคโนโลยีการประมวลผลคอมพิวเตอร์จะกระจายตัวอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น เทรนด์พลังงานทางเลือกดิจิทัลจะเข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลในอีกไม่ช้า และ 7 ภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มปรับตัวรับความต้องการของผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ
ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวในงานประขุมวิชาการ C.P. Symposium 2022 ภายใต้หัวข้อ “ปรับโฉมการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมสู่ยุคอัจฉริยะด้านดิจิทัลอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Shaping Industry Transition towards Digital and Green Intelligent)” ว่า “ในมุมมองของหัวเว่ย เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดผลกระทบใหม่ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่องค์กรต้องมีเพื่อให้สามารถปฏิวัติ (Disrupt) วงการและตัวองค์กรเองได้ ถึงแม้ในวงการธุรกิจ การที่เราตามหลังคู่แข่งเป็นเวลา 1-2 ปียังสามารถพลิกกลับมาไล่ตามได้ทัน แต่ในแง่ของเทคโนโลยี หากเราล้าหลังกว่ารายอื่น 1-2 ปีก็ตามไม่ทันแล้ว องค์กรต่าง ๆ จึงไม่ควรวางตัวเองในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เพราะจะทำให้โดนทิ้งอยู่เบื้องหลังเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากโทรศัพท์มือถือแบบอนาล็อกมาเป็นสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ สิ่งสำคัญของเทคโนโลยีคือช่วยให้องค์กรเข้าใจความคิดและความต้องการของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าลูกค้ากำลังอยากจะได้อะไร ไปจนถึงใช้เพื่อช่วยวางกลยุทธ์ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในอนาคตก่อนที่ลูกค้าจะรู้ตัวเสียอีก”
ทั้งนี้ ดร.ชวพล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G Cloud และ AI เป็นหลักในยุคอุตสาหกรรมดิจิทัลที่กำลังจะมาถึง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรม 5G Smart Port ในท่าเรือเทียนจิน ประเทศจีน ที่ต้องรองรับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์สินค้ามากถึง 3-5 ล้านตู้ต่อปี ด้วยสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานของท่าเรือที่มีความเสี่ยงและมีอันตรายสูงต่อบุคลากรในพื้นที่ การนำเทคโนโลยี 5G Cloud AI มาประยุกต์ใช้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสั่งการจากระยะไกลได้เป็นระยะทาง 1-2 กิโลเมตร ด้วยความเร็วการเชื่อมต่อ 1 Gbps การมีค่าความหน่วง (Latency) ที่ต่ำมาก และการรองรับพื้นที่การเชื่อมต่อเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ เทคโนโลยีท่าเรืออัตโนมัติและการควบคุมสั่งการจากระยะไกลช่วยให้ท่าเรือเทียนจินสามารถลดต้นทุนด้านบุคลากรลงไปได้ประมาณ 60-70% ลดต้นทุนการประกอบการในภาพรวมได้ถึง 10% ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยเครือข่าย 5G จะทำให้เจ้าหน้าที่เพียง 1 คน สามารถควบคุมเครนจากระยะไกลได้ถึง 4 ตัว และเปลี่ยนยานพาหนะขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ด้านล่างให้เป็นรถอัตโนมัติไร้คนขับ มีความเร็วและเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังควบคุมมาตรฐานของประสิทธิภาพการทำงานได้ดีขึ้น
ทิศทางอุตสาหกรรมปี 2030 ใน 7 ภาคอุตสาหกรรมสำคัญจะประกอบด้วย
- ภาคสาธารณสุขที่จะเน้นเรื่องการป้องกันโรค (Wellness) มากกว่าการรักษา โดยใช้เทคโนโลยีช่วยคาดการณ์ความเป็นได้ของกลุ่มลูกค้าที่อาจมีความเสี่ยงต่อโรค รวมทั้งการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรจำนวนเท่าเดิมสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น
- ภาคอุตสาหกรรมอาหาร อาจมีการทำ Precision Farming หรือ เกษตรที่มีความแม่นยำ เพื่อให้ประสิทธิภาพการเพาะปลูกดีขึ้น ลดการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี รวมถึงไปภาคโภชนาการ สามารถใช้เครื่องพิมพ์ 3D เพื่อทำอาหารประเภทแพลนต์เบส
- ภาคอสังหาริมทรัพย์จะสามารถใช้เทคโนโลยีจัดการพื้นที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้อุปกรณ์ในบ้านสื่อสารข้อมูลกันเองได้อัตโนมัติ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมเจ้าของบ้านมากขึ้น
- ภาคคมนาคม จะเน้นรถอัตโนมัติไร้คนขับแบบคาร์บอนต่ำ
- ภาคเมือง จะเปลี่ยนเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้สะดวกยิ่งขึ้น
- ภาคองค์กรธุรกิจ จะนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาปรับกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ
- ภาคอุตสาหกรรมพลังงาน จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง มีการใช้สร้างพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น
ดร.ชวพล ยังกล่าวเสริมว่า บริการต่าง ๆ ในอนาคตจะต้องส่งมอบประสบการณ์แบบ Deterministic Experience เพื่อ
การันตีความเร็วและค่าความหน่วงให้กับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมแต่ละแบบที่มีความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เทรนด์การประมวลผลคอมพิวเตอร์ในอนาคตก็จะกระจายตัว (Decentralized) ให้เข้าถึงได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานเชิงพาณิชย์ในวงกว้าง และเทรนด์ดิจิทัลพาวเวอร์ หรือพลังงานสะอาดรูปแบบอื่น ๆ จะเข้ามาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแน่นอน
ด้าน ดร. อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมในงานประชุมวิชาการดังกล่าวว่า “จุดประสงค์ของการประชุมครั้งนี้คือการแลกเปลี่ยนความรู้ ผนึกกำลังวิชาการ นำไปสู่การปรับปรุง ต่อยอด จนเกิดนวัตกรรมในที่สุด โดยเราจำเป็นต้องอาศัยความก้าวหน้าทันสมัยและการเป็นผู้นำทางวิชาการ จึงจะสามารถขยายประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความยั่งยืนได้ โดยในอุตสาหกรรมการเกษตรและการทำอาหารสัตว์ก็จำเป็นต้องพึ่งพาวิทยาการ ความรู้ด้านวิศวกรรม และเทคโนโลยีด้าน IoT แปรรูป ระบบอัตโนมัติ เพื่อให้ผลิตผลได้คุณภาพ ตอบโจทย์ข้อนิยมของเครือซีพีที่ต้องการงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง รองรับการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ เพื่อการแข่งขันและเป็นผู้นำทางธุรกิจ ทั้งนี้ ผมต้องขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้มาให้ความรู้แก่พวกเรามา ณ งานประชุมครั้งนี้ด้วย”