Vision 2030 แผนเปลี่ยน ซาอุดิอาราบีย จากเมืองเศรษฐีน้ำมัน สู่ประเทศแห่งความยั่งยืน

Vision 2030 แผนอันท้าทาย เปลี่ยนจากทะเลทรายสู่เศรษฐกิจยั่งยืน เมื่อ Saudi Arabia วางแผนสำหรับการพลิกประเทศครั้งใหม่ สู่เศณษฐกิจยั่งยืน
Share

 

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ว่าการลงมือของซาอุดิอาระเบียในภารกิจครั้งนี้ดูจะเสี่ยงเกินไป แต่แผนการนี้อาจนำพาประเทศออกจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลักก็เป็นได้ และนี่คือความเสี่ยงระดับโลกที่น่าจับตามอง!

 

Vision 2030 ถือเป็นแผนงานระดับประเทศของเศรษฐีน้ำมันรายใหญ่ของโลก อย่าง ซาอุดิอาระเบีย เป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสู่นวัตกรรม และที่สำคัญคือเพื่อลดการพึ่งพารายได้ที่มาจากการขายน้ำมันดิบ แม้ว่าประเทศจะยังผลิตได้อีกเยอะก็ตาม แต่ในระยะยาว การยึดรายได้เพียงด้านเดียวถือเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศมองว่าไม่มี ความยั่งยืน

เป้าหมายหลักของแผนการ คือการมุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนและรักษาสถานภาพของประเทศในเวทีโลก โดยไฮไลต์ของแผนการอันท้าทายนี้ก็คือ โครงการ “NEOM” ซึ่งรวมถึง “The Line” เมกาซิตี้มูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

The Line รูปแบบอาคารพักอาศัยที่อยู่ในโครงการ NEOM หนึ่งใน Mega Project ของ Vision2030

ย้อนกลับไปในอดีตช่วงทศวรรษ 1970 การค้นพบอันยิ่งใหญ่บริเวณที่ราบดาห์รานพื้นที่ด้านตะวันตกของ ซาอุดิอาระเบีย ทำให้ประเทศนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เปลี่ยนจากเมืองเล็กๆ บนทะเลทรายอันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา สู่ความมั่งคั่ง ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ทองคำสีดำ แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่สามารถรับประกัน ความยั่งยืน ในอนาคตได้อีกต่อไป

 

ความมั่งคั่งที่ไม่ยั่งยืน

เวลาผ่านไปเกือบ 100 ปี หลังจากการพบแหล่งน้ำมันดิบบวกกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก คือตัวแปรที่กดดันให้ราชวงศ์ผู้ปกครองต้องตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับประเทศขึ้นไป

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้โลกต้องเริ่มถอนออกจากอุตสาหกรรมน้ำมันมากขึ้น รวมถึงจำนวนประชากรในประเทศที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความหวังของโอกาสการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า รวมถึงมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ที่พร้อมจะสร้างชาติในภาพลักษณ์ที่ทัดเทียมกับประเทศพัฒนาอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันไปสู่การสร้างเอกลักษณ์ใหม่ ในการทำให้อาณาจักรยังคงเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้

แผนการครั้งใหม่ที่เมื่อสิ้นสุดทศวรรษนี้ ประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียจะสร้างเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพาน้ำมันอีกต่อไป รวมถึงแผนการปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของประชากรเกือบ 40 ล้านคน และสิ่งสำคัญคือยังคงรักษาตำแหน่งทางเศรษฐกิจในเวทีโลกไว้ได้

“นี่ไม่ใช่แค่การหาทางหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเศรษฐกิจ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่คล่องตัวให้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายของโลกสมัยใหม่ได้” ศาสตราจารย์ซิมอน แมบอน นักวิจัยระดับสูงที่ศูนย์นโยบายต่างประเทศในลอนดอน กล่าว

กับเวลาที่กำลังเดินไปข้างหน้า ณ วันนี้หลังประกาศแผนไปแล้ว 7 ปี ประเทศกำลังมาถึงจุดตรงกลางทางที่มีระยะเดินทางข้างหน้าอีก 7 ปีเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่าอาณาจักรแห่งนี้กำลังอยู่ในช่วงสำคัญและต้องจริงจังมากกว่าเดิม เพราะถ้าเดินแผนดีและมั่นคงกับสิ่งที่วางไว้ จะได้รับความสำเร็จตอบแทนกลับมาอย่างมหาศาล หรืออีกด้านอาจจะเป็นความล้มเหลวที่พร้อมให้ฝุ่นทะเลทรายเตรียมถล่มซ้ำ

 

เปิดแผน Vision 2030

แผนการนี้ เป็นผลงานความคิดของ เจ้าชาย โมฮัมเม็ด บิน ซัลมาน ผู้บริหารประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก McKinsey ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนผสมหลายอย่าง โดยมีโครงการที่โดดเด่นคือ “เมืองขนาดยักษ์” ซึ่งโครงการหลักของมันคือ NEOM รวมถึง “The Line” เมกาซิตี้มูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ไฮไลต์ของแผนการนี้คือโครงสร้างที่ใหญ่โตของ “NEOM” ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ โดยมี “The Line” เมกาซิตี้มูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ที่เป็นเหมือนโครงสร้างขนาดใหญ่ คล้ายกับกระจกในทะเลทรายที่จะมีความกว้างประมาณ 650 ฟุต ยาว 100 ไมล์ เป็นเมืองที่ปราศจากมลพิษ ด้วยการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทนและให้บริการภายในระยะเดินเพียง 5 นาทีที่รองรับคนได้ถึง 9 ล้านคน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง “The Line” แสดงถึงทุกสิ่งที่ประเทศซาอุดิอาระเบียกำลังจะประสบความสำเร็จผ่าน “Vision 2030” โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นอาณาจักรที่ยั่งยืนโดยไม่พึ่งพารายได้จากน้ำมันดิบ สร้างพื้นที่ในการดำเนินกิจการที่มีโอกาสเศรษฐกิจ และกำหนดมาตรฐานของเมืองแห่งอนาคต เพื่อให้ชาติอื่นทั่วโลกได้เป็นแบบอย่าง

นอกจาก NEOM และ The Line ที่เปิดตัวเป็นโครงการนำร่องแล้วนั้น ทั้งโครงการยังจะมีพื้นที่อื่นๆ อีก 20 แห่ง เช่น พื้นที่แนวชายฝั่งทะเลแดงจะใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือพื้นที่ที่เรียกว่า Qiddiya เตรียมไว้สำหรับเรื่องศิลปะและความบันเทิง ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้าง ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ที่มีตำแหน่งงานสำหรับพลเมืองทุกคน

หากมองในระดับภูมิทัศน์โลกนั้น ซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก และยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในปีที่ผ่านมา บริษัทน้ำมันที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ARAMCO ประกาศผลกำไรสุทธิที่น่าอัศจรรย์ในมูลค่า 161 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียรู้ดีว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าการขายน้ำมันจะไม่ได้สร้างรายได้มากมายมหาศาลอีกต่อไป เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมชี้นำให้ประเทศเข้าสู่โลกพลังงานที่สะอาด นั่นเป็นเหตุผลของการลงทุนอย่างหนักทั้งในระดับในประเทศและต่างประเทศ และเป็นเหตุผลของเป้าหมายในการเพิ่มส่วนแบ่งจากการส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันจาก GDP 16% เป็น 50% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของแผนการนี้

 

Vision 2030 กับความสำเร็จยังอีกไกล

แม้ว่าจะเหลือเวลาอีก 7 ปี กว่าที่แผนการดังกล่าวจะฉายภาพความสำเร็จให้เห็น แต่เริ่มมีสัญญาณที่ขัดแย้งว่าความพยายามของซาอุดิอาระเบียจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ในปีที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นเศรษฐกิจในกลุ่ม G20 ที่เติบโตเร็วที่สุดตามข้อมูลจากกองทุนเงินทุนระหว่างประเทศ ในขณะที่อัตราว่างงานลดลงเหลือ 4.8% และกำลังทำให้เกินเป้าหมายของแผนในการมีผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานถึง 30% ซึ่งเป็นที่แตกต่างจากประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามที่การทำงานของผู้หญิงนั้นจะไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ ถึงขนาดกีดกันกันเลยทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของประเทศซาอุดิอาระเบียให้ความเห็นว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังเชื่อมั่นว่า เจ้าชายฯ จะสามารถทำให้เรื่องนี้สำเร็จได้แน่นอน ความเชื่อมั่นเหล่านี้มาจากคำสัญญาที่เคยให้ไว้และทำได้อย่างสวยงามที่ผ่านมา

ในขณะที่ความเห็นอีกด้านมองว่า คนที่อาศัยอยู่นอกเมือง ริยาด เจดาห์ หรือดาห์ราน อาจไม่ค่อยสนใจหรือแม้แต่จะให้ความร่วมมือมากนัก เพราะคนในเมืองเหล่านี้ถูกกระตุ้นด้วยโฆษณาชวนเชื่อ และข้อมูลทางด้านดีที่ถูกบรรจุในแผนการจูงใจที่สื่อสารกับประชากรของเมืองข้างต้นที่โครงการจะถูกเนรมิตในรูปแบบต่างๆ

คงต้องจับตาดูแผนต่อไปยาวๆ เพราะนอกจากแผนของการสร้าง Giga Cities และเมืองอัจฉริยะแล้ว NEOM ยังมีแผนดูดเอาธุรกิจนวัตกรรม และเศรษฐกิจใหม่หรือ S-Curve ใหม่ให้ย้ายฐานไปอยู่ที่นั่นเช่นกัน อีกไม่นานเราอาจได้เห็นบริษัทเทคโนโลยีย้ายฐานไปอยู่ที่นั่นกันเพียบ ที่ชัดแล้วน่าจะเป็น Lucid ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ถือหุ้นโดยกองทุนแห่งรัฐ

 

หากคุณต้องการอ่าน ข่าวสาร บทความ และความรู้ใหม่ๆ ในด้านของความยั่งยืน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Related Articles