ร้อนทะลุพิกัด ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลาย สายปีนเขาถกหนัก ย้ายเบสแคมป์ ด่วน!

ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลาย
Share

 

การพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่าง เอเวอเรสต์ ยังคงเป็นความใฝ่ฝันของนักปีนเขาทั่วโลก

 

Credit: www.freepik.com

ทุกปีเมื่อถึงฤดูปีนเขาจะมีผู้คนแห่กันมาลงทะเบียนเพื่อขึ้นพิชิตชัยบนยอดเขาที่สูงที่สุด ในระดับความสูง 8,848 เมตร เช่นเมื่อปีกลาย ทางการเนปาลออกใบอนุญาตให้นักปีนเขาทั้งสิ้น 478 คน นั่นหมายความว่าจะมีคน ซึ่งรวมทีมงานที่เกี่ยวข้องราว 1,500 คน รวมกันอยู่ที่เอเวอเรสต์

แน่นอนว่า เมื่อผู้มาเยี่ยมเยือนมากันมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนลานเบสแคมป์ แต่ยังต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลความปลอดภัยของทุกคน นอกเหนือไปจากการดูแลสิ่งแวดล้อม

อีกปัญหาสำคัญซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ ณ ขณะนี้ คือ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เป็นสาเหตุให้ธารน้ำแข็งหลายๆ แห่งในเทือกเขาหิมาลัยเริ่มละลายเร็วมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซีรายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเมน (University of Maine) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ธารน้ำแข็งเซาท์โคล (South Col Glacier) ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งที่อยู่สูงที่สุด ใกล้ยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สุด ละลายเร็วจนความหนาของน้ำแข็งลดลงไปถึง 54 เมตร ภายในระยะเวลาเพียง 25 ปี

ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่า ธารน้ำแข็งคุมบู (Khumbu Glacier) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเบสแคมป์ทางทิศใต้ บริเวณเชิงเขาเอเวอเรสต์ จุดแวะพักก่อนออกสตาร์ตขึ้นประลองความท้าทายบนยอดสูงสุดของเทือกเขาหิมาลัย มีระดับชั้นน้ำแข็งบางลงปีละ 1 เมตร นั่นรวมถึงหนองน้ำและทะเลสาบที่รองรับน้ำที่ละลายไหลลงมาจากธารน้ำแข็ง มีขนาดกว้างขึ้น อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน

Scott Watson นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับท็อป 20 ด้านการสอนและการวิจัยในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “เราเห็นหินที่ตกลงมาและการเคลื่อนไหวของน้ำที่ละลายมากขึ้น บนพื้นผิวของธารน้ำแข็งที่อาจเป็นอันตรายได้” การละลายของธารน้ำแข็งทำให้เบสแคมป์ดังกล่าวไม่ปลอดภัยอีกต่อไป นอกจากนี้ยังพบรอยแยกชัดเจนและกว้างขึ้น นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดธารน้ำแข็งถล่มได้

ขณะที่ Khimlal Gautam นักปีนเขาชาวเนปาล ให้ความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการละลายของธารน้ำแข็ง แต่จำนวนคนมาที่เยือนเบสแคมป์ ยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการพังทลายของธารน้ำแข็งได้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่เพียงนักปีนเขาที่หวังปักธงบนยอดสูงสุดของเอเวอเรสต์ ยังมีสายเอ็กซตรีม ผู้รักการปีนเขาลุยป่า จะทราบกันดีว่า EBC หรือ Everest Base Camp เป็นเส้นทางเทรคกิ้งยอดนิยมที่ได้รับการยอมรับว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีเป้าหมายที่เบสแคมป์ ณ ระดับความสูง 5,364 เมตรจากระดับน้ำทะเล

Credit: www.unsplash.com

ฉะนั้น เบสแคมป์ในช่วงไฮซีซัน จึงคึกคักคลาคล่ำไปด้วยผู้คน มีการตั้งเต๊นท์ขนาดใหญ่หลายหลังเพื่อรองรับผู้มาเยือน มีบริการนวด รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสันทนาการมากมาย

“เราพบว่าคนที่มาเยือนปัสสาวะที่เบสแคมป์ราวๆ 4,000 ลิตรต่อวัน และเชื้อเพลิงอย่างคีโรซีนและแก๊สที่ใช้สำหรับหุงต้มและสร้างความอบอุ่น ยังส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย”

ทางด้าน ศาสตราจารย์บิน ฮับบาร์ด แห่งมหาวิทยาลัยอเบอร์ริสต์วิธ รัฐเวลส์ ซึ่งเป็นผู้จัดทำโครงการเฝ้าสังเกตสภาวะของน้ำแข็งในธารน้ำแข็งเป็นเวลา 3 ปี ระบุว่าในขณะที่น้ำแข็งละลาย บรรดาเศษหินบนพื้นผิวน้ำจะเป็นตัวแปรที่ยิ่งทำให้หนองน้ำทั้งหลายรวมตัวกันจนกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่

ด้วยความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวงทางการเนเปาลจึงเตรียมแผนจะย้ายเบสแคมป์ ลงต่ำกว่าเดิม 200-400 เมตร ไปอยู่ในจุดที่ไม่มีธารน้ำแข็ง ภายในปี 2024

แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยที่จะย้ายเบสแคมป์ เพราะนั่นหมายความว่าระยะทางในการไต่เขาจะยิ่งไกลมากขึ้นและเสี่ยงอันตรายกว่าเดิม แต่เกือบทุกคนก็ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจุบันเอเวอเรสต์เบสแคมป์ต้องรองรับจำนวนคนที่หนาแน่นมาก และมีแนวโน้มว่าจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญคือ การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่กำลังเป็นตลาดท่องเที่ยวอนาคตไกลเหมือนในกรุงกาฐมาณฑุ จึงต้องมีการตรวจสอบผลได้ผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง ก่อนจะมีผลสรุปที่ชัดเจน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวของเนปาลกล่าว.

 

ผู้อ่านที่ติดตาม ข่าวสาร บทความและความรู้ใหม่ๆ ทางด้านพลังงานใหม่และความยั่งยืน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles