Carbon Credit มันคืออะไร ซื้อขายได้ไหม แล้วขายให้ใคร?

Carbon Credit คำที่หลายคนคุ้นหูคุ้นตา แต่ความเข้าใจของวันนี้ยังถูกต้องเหมือนอย่างที่มีการสื่อสารกันใน Cop21 หรือไม่ เราไปทำความเข้าใจกัน
Share

 

เมื่อโลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ สิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน การลงมือทำในหลายๆ เรื่องอย่างน้อยมันก็ช่วยให้โลกอยู่กับเราไปอีกซักระยะ

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คำว่า Carbon Credit ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากมาย ทั้งในเวทีระดับโลก ในแวดวงการเมือง เศรษฐกิจและอีกหลายวาระ ในฟากคนฟัง ให้ฟังเพลินๆ ก็ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่สุดท้ายหลายคนอาจจะยังงงกันอยู่ อีกหลายคนอาจสงสัยว่าสรุปแล้วคืออะไร ซื้อขายกันยังไง ถึงเวลาที่เราควรทำความเข้าใจอย่างจริงจัง

ตั้งแต่ที่ท่านผู้นำของบ้านเรา ได้เดินทางเข้าร่วมประชุม COP21 กลับมา เรื่องราวทางสิ่งแวดล้อมประเด็นต่างๆ ได้ถูกยกเอามาพูดถึงบ่อยครั้งและในหลายต่อหลายวาระด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ Carbon Credit ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้กันมาล่วงหน้านับสิบปี

แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ถูกนำมาขยายผลอย่างต่อเนื่อง หรือมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก แต่ปัจจุบันประเด็นนี้กลายเป็นวาระสำคัญของโลกที่องค์กรหรือหน่วยงานหัวก้าวหน้าจะไม่ปล่อยผ่านไป โดยมีองค์กรชั้นนำทั่วโลกมากมายออกมายืนยันคำมั่นสัญญาในการก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางด้านคาร์บอนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

Carbon Credit แต้มบุญด้านสิ่งแวดล้อม ที่เปลี่ยนเป็นเงินได้

คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม และเมื่อบรรลุการลดคาร์บอนในปริมาณหนึ่ง ก็สามารถนำไปซื้อขายในตลาดกลาง หรือ marketplace ได้

Carbon Credit Balance
Image by Freepik

หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ องค์กรใดก็ตามที่สามารถลดก๊าซต่างๆ ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอน) ที่ปลดปล่อยในแต่ละปี ได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ก็จะสามารถนำปริมาณคาร์บอนที่ลดลงมาคำนวณและประเมิน ด้วยการนำไปขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้ เป็นการซื้อขายผ่านตลาดกลาง หรือ marketplace

ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไกต่างๆ ให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หนึ่งในกลไกคือ การซื้อขายมลพิษ หรือ คาร์บอนเครดิต กับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วต่างตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงตามที่กำหนดไว้ได้ การซื้อขายเครดิตจึงกลายเป็นความจำเป็น เพื่อชดเชยการมีส่วนทำให้โลกร้อน

ประเทศไทย กับ Carbon Credit

ประเทศไทย เข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการได้ในฐานะผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการ และในปี พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization :TGO) ภายใต้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้ง ก็เพื่อวิเคราะห์ กลั่นกรอง และออกความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการ และการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง

เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับคำรับรอง และการขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ที่ได้รับการรับรอง ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจะเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ

ตลาดกลางสำหรับการขาย ทำหน้าที่คล้ายศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยน

ตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นตัวกลางที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยการนำสินค้าที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตมาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน ที่ทำให้เครื่องมือทางการตลาด (Market Mechanism) สำหรับการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมสามารถบรรลุผลได้จริง

นั่นหมายถึงการจัดตั้งและดำเนินการตลาดคาร์บอนเครดิต ในการกำหนดราคาบนพื้นฐานของการคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการตระหนักและให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประชาชนต้องแบกต้นทุนเหล่านี้ด้วย ท้ายที่สุดแล้วตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ลงทุนหรือองค์กรที่มีเป้าหมายตรงกันด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม

ตลาดคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) ถูกจัดตั้งขึ้นจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย มีกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายกำกับอย่างชัดเจน ซึ่งต้องมีรัฐบาลออกกฎหมายและเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้ที่เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally Binding Target) หากผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษ และ/หรือ ผู้ที่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย
  2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับ การจัดตั้งตลาดเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กรเพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดด้วยความสมัครใจ โดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ (Voluntary) แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally Binding Target) กล่าวคือ กรณีที่องค์กรใดที่สมัครใจดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการดังกล่าวสามารถนำมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ และองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวเพื่อทำให้ตนเองได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปริมาณที่ไม่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด

สถานการณ์ตลาดคาร์บอนในประเทศไทย ปัจจุบันมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 อยู่ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ TGO เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER)

คาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากโครงการดังกล่าว จะเรียกว่า เครดิต TVERs สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ อีเว้นท์ ซึ่งปัจจุบันการขายคาร์บอนเครดิตยังเกิดขึ้นไม่มาก สำหรับผู้ที่สนใจในรายละเอียดที่มากกว่านี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://carbonmarket.tgo.or.th/

พลิกมุมมองภาคการเกษตรกรรมยุคใหม่ แถมนำเครดิตออกขาย

เกษตรกรรมมีบทบาทที่ซับซ้อนต่อการเกิดภาวะโลกร้อน โดยเป็นทั้งแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นแหล่งสะสมคาร์บอน (carbon sink, carbon storage, carbon sequestration) กิจกรรมทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกจากนาข้าวและพื้นที่ปศุสัตว์

ส่วนการเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนในพื้นที่เกษตรหมายถึงการเก็บสะสมคาร์บอนในพืชและในดินผ่านกิจกรรมการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ การปรับปรุงดินโดยใช้วัสดุอินทรีย์หรือวัสดุที่มีคาร์บอนสูง และการส่งเสริมระบบวนเกษตร รวมไปถึงการลดกิจกรรมที่เร่งการทำลายคาร์บอนในดิน โดยเฉพาะการเผาเศษซากพืชในพื้นที่เพาะปลูก

การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจเนื่องจากเป็นแนวทางที่มีศักยภาพเชิงต้นทุน (คุ้มค่าในการลงทุน) อย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคกิจกรรมอื่นๆ เช่น ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคป่าไม้ เป็นต้น และยังมีแนวโน้มจะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว (long-term climate objectives) ได้อีกด้วย

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ด้วยความที่ประเทศเราไม่ได้บังคับทำให้ภาพของการขายเครดิตนั้นยังไม่ชัดเจน แต่เราก็ยังตั้งความหวังว่าเรื่องของ Carbon Credit นั้นจะถูกยกระดับความสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะมันคือหนึ่งในกลไกที่จะช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ หันมาให้ความร่วมมือกันช่วยโลกได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

 

สำหรับท่านที่ชอบและติดตามวงการ พลังงานและความยั่งยืน คุณสามารถติดตามข่าวสารและบทความที่เกี่ยวข้อง ได้ทาง ช่องทางนี้

Contentder

Contentder

มือเขียนคอนเทนต์ประจำ กอง บก. มีความรู้พอประมาณทั้ง ไอที ยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจ และพยายามศึกษางานด้าน พลังงานและความยั่งยืน เพราะยึดในคำที่ Steve Jobs เคยกล่าวกับเหล่าบัณฑิต มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ในปี 2005 ที่ว่า "Stay Hungry, Stay Foolish" แปลเป็นไทยง่ายๆ "อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว" นั่นเอง

Related Articles