“เอดส์” ชื่อนี้ห่างหายจากความสนใจของคนทั่วโลกไปนาน…
ส่วนหนึ่งเพราะการค้นพบยาต้านเชื้อเอชไอวี ที่มาของโรคเอดส์ และอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) หน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ ต้องลุกขึ้นมาโบกไม้โบกมือเรียกร้องความสนใจจากทั่วโลก เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องมีการล็อคดาวน์ ทั่วทั้งโลกแทบหยุดการเคลื่อนไหว งดกิจกรรมต่างๆ ส่งผลกระทบไปถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
เอดส์ โรคที่น่ากลัว แต่ป้องกันได้
ทั้งนี้เพราะปัจจุบันยาต้านไวรัสถึงจะไม่ใช่ยารักษา แต่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดถึงร้อยละ 99 หากมีการใช้อย่างถูกวิธีและใช้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งไม่เพียงลดการทำลายเซลล์ในร่างกายผู้ติดเชื้อ ยังหมายถึงการไม่แพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น แม้จะยังมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย แต่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติเช่นคนทั่วไป สามารถแต่งงานมีเพศสัมพันธ์ได้ รวมถึงการไม่ถ่ายทอดเชื้อสู่ลูกในครรภ์
ความก้าวหน้าของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกวันนี้ มีตั้งแต่ความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้กับผู้ป่วยโรคไต ไปจนถึงการเปิดธนาคารอสุจิแห่งแรกของโลกที่รับเฉพาะผู้บริจาคที่ติดเชื้อเอชไอวี ที่นิวซีแลนด์ โดยความร่วมมือกันของ 3 องค์กรการกุศล คือ บอดี้โพสิทีฟ (Body Positive) มูลนิธิเอดส์ของนิวซีแลนด์ และบริษัทโพสิทีฟวีเมน (Positive Women Inc) เป็นธนาคารสเปิร์มโพสิทีฟ (Sperm Positive) รวมถึงให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวี และช่วยลดการตีตราในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
น่าสังเกตว่าในบรรดาผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก เกือบ 40 ล้านคน ผู้ติดเชื้อประมาณ 37 ล้านคน มีอายุระหว่าง 15-47 ปี ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิงเกือบครึ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงทั่วโลกที่อยู่ในวัยตั้งแต่ 15-24 ปี กลายเป็นเหยื่อเอดส์รายใหม่ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 และเยาวชนหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ร้อยละ 56 มีรายงานว่า เฉพาะทวีปแอฟริกาแถบทะเลทรายซาฮารา พบการติดเชื้อเอชไอวีในผู้หญิงสูงถึง 13.3 ล้านคน
ขณะที่ทวีปเอเชีย มีอัตราเพิ่มของผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลก โดยในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ได้รับเชื้อเพิ่ม เฉพาะรัสเซียประเทศเดียวขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ต่ำกว่า 860,000 คน
1 ธันวาคม World AIDS Day
ในวาระที่วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันเอดส์โลก” (World AIDS Day) จึงมีการรณรงค์ถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักทางด้านการป้องกันการติดเชื้อ กระตุ้นให้ทั่วโลกหันมาใส่ใจมากขึ้นในการเผยแพร่ความรู้ สนับสนุนให้มีการรักษา บรรเทาเยียวยาผู้ติดเชื้อโดยไม่เลือกปฏิบัติ ภายใต้แนวคิด “Equalize” (ความเท่าเทียม) โดยมีเป้าหมายที่การลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน ลดการเสียชีวิตให้เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลงร้อยละ 90 ภายในปี 2573
โดยมี “ริบบิ้นแดง” สัญลักษณ์ของเลือดและความรัก แทนความห่วงใยของผู้คนในสังคมต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ หรืออีกนัยหนึ่งสื่อถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ป่วยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคม
สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมโรคคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ที่ประมาณ 500,000 คน โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 16 รายต่อวัน และผู้เสียชีวิตประมาณ 31 รายต่อวัน จึงมีการผลักดันสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญของการเร่งจัดการเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยุติโรคเอดส์ภายในปี 2573.
ข้อมูลเกี่ยวกับ HIV
โรคเอดส์พบครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเป็นชายรักร่วมเพศป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อ นิวโมซีสตีส แครินิอาย (Pneumocystis Carinii) ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมากมาก่อน และไม่เคยใช้ยากดภูมิต้านทาน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่าเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ
จากการศึกษาย้อนหลัง พบว่าโรคนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกในปี 2503 และต่อมาได้แพร่ไปยังเกาะไฮติ ทวีปอเมริกา ยุโรปและเอเชียรวมทั้งประเทศไทยด้วย ผู้ป่วยเอดส์รายแรกในประเทศไทยเป็นชายอายุ 28 ปี เดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกาและมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เริ่มมีอาการในปี 2526 ได้รับการตรวจและรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่าปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis Carinii แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคเอดส์ จึงกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยในปี 2527 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ในปี 2527 ประเทศไทยจึงเริ่มมีโรคเอดส์เกิดขึ้นตามรายงานครั้งแรก
ถ้าคุณชอบเรื่องราวของ สาระ ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่