ขอความรักในวันวาเลนไทน์ รับรัก (ปฏิเสธ) กัน ในวันไวท์เดย์

Share

 

ขอความรักในวันวาเลนไทน์ รับรัก (ปฏิเสธ) กัน ในวันไวท์เดย์

 

จั่วหัวเรื่อง ฟังดูคล้ายๆ กับที่ผู้เขียนเคยได้รับการบอกเล่าจากไกด์ที่เคยไปเจอตอนไปท่องเที่ยวที่ประเทศกรีซ ครั้งนั้นได้เดินทางไปเกาะซานโตรินี ที่ร่ำลือกันถึงความโรแมนติกก่อน แล้วค่อยมาปิดท้ายทริปที่เกาะมิโคนอส ซึ่งเป็นแสงสีเสียง เป็นแหล่งบันเทิงแห่งกรีซ เมืองที่ไม่เคยหลับใหลเพราะมีผับเรียงรายให้ได้เลือกดื่มด่ำกับค่ำคืนตามประสานักท่องราตรี

จริงๆ ผู้เขียนได้เจอไกด์คนนี้ที่ผับแห่งหนึ่งในมิโคนอสนี่เอง หลังจากที่พูดคุยกันถึงแผนการเดินทาง ไกด์ถามด้วยสีหน้าแปลกใจว่า ทำไมไปซานโตรินีก่อนล่ะ พร้อมกับพูดเปรยขึ้นมาด้วยสีหน้ายิ้มกริ่มว่า  “We fall in love in Santorini, we fight in Mykonos” ประมาณว่าเราควรไปทะเลาะกันที่มิโคนอสให้เสร็จก่อน ค่อยไปคืนดีกันที่ซานโตรินี เพราะซานโตรินีมีความงาม ความโรแมนติกจนทำให้ต้องมนต์เสน่ห์ และจะยิ่งรักกันดูดดื่มหวานชื่น ในขณะที่มิโคนอส เป็นความบันเทิงเริงร่า เฮฮาปาร์ตี้ และอาจบันเทิงเกินเลยจนทำให้คู่รักต้องผิดใจกันได้

เรื่องนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับวันไวท์เดย์แต่อย่างใด แค่เป็นวลีที่ทำให้นึกถึง..

ไวท์ เดย์ คล้ายเป็นวันแห่งการโต้ตอบความรักข้ามเดือน เพราะตามหลังวาเลนไทน์มาหนึ่งเดือนพอดิบพอดี เหมือนกับเป็นการสื่อสารข้อความระหว่างสาวและหนุ่มผ่านวันเหล่านี้

ต้องเล่าว่าที่มาของวัน White Day ซึ่งคือวันที่ 14 มีนาคมของทุกปี ธรรมเนียมหวานแหววคาวาอี้แบบนี้มีที่มาจากญี่ปุ่น เจ้าของวัฒนธรรมที่ให้ความใส่ใจในเรื่องละเอียดอ่อน มีความเกรงอกเกรงใจกันอย่างสูง มีความกุ๊กกิ๊กแต่เขินอาย และมีความคิดสร้างสรรค์กันซะจนมีที่มาของสิ่งประดิษฐ์หรือสินค้าหลายๆ อย่างกลายเป็นความอัศจรรย์ใจ เพราะมาจากความช่างคิดและประดิดประดอยโดยแท้ จนทำให้หลายครั้งเราต้องอุทานว่า “คิดได้ไงเนี่ย”

ว่ากันว่า สาวญี่ปุ่นมักจะมอบช็อกโกแล็ตให้หนุ่มคนรัก หรือที่แอบรักกันในวันวาเลนไทน์ ถือเป็นการสารภาพรักด้วยสัญลักษณ์อย่างเหนียมอาย เพราะไม่กล้าสารภาพกันต่อหน้า อันนี้ เราจะเห็นกันบ่อยในการ์ตูนญี่ปุ่น ส่วนหนุ่มก็อาจจะแสดงไมตรีจิตตอบกลับ หรือตอบรับน้ำใจสาวในอีกเดือนถัดมา คือการมอบของขวัญให้กับสาวๆ ในวัน White Day

จริงๆ แล้ว วันนี้ มีแนวคิดที่มาที่ไปกันแบบง่ายๆ เหมือนกัน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องของสาวให้หนุ่มก่อน หรือหนุ่มให้สาวก่อน แต่ประมาณว่า หากคุณได้รับของขวัญวันวาเลนไทน์จากใครก็ตามในแบบที่ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้ตั้งตัว และซื้อของตอบแทนเพื่อให้คืนไม่ทันในวันนั้น ก็อาจจะถือโอกาสมอบของขวัญเป็นการตอบแทนน้ำใจในวัน White Day แทน โดยสามารถแก้ตัวอย่างเนียนๆ ว่า “กะจะเก็บของขวัญไว้ให้เธอในวันไวท์เดย์อยู่แล้วแหละ”

สำหรับอีกที่มา ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เผยแพร่กันมานาน ก็จะเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกับการตลาดแบบใครมาไว ใครเคลมก่อน เรื่องการมอบของตอบแทนในวันวาเลนไทน์ ที่บริษัททำขนมหวานในเมืองฟุกุโอกะ ชื่อ Ishimuramanseido ซึ่งเป็นร้านขายขนมหวานญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม บอกว่าเป็นเจ้าแรกที่ทำขนมมาร์ชเมลโล่ ขึ้นก่อน โดยเริ่มขายขนมนี้ในปี 1978 เพื่อเป็นขนมสำหรับมอบกันในวันไวท์เดย์ โดยประธานบริษัทให้เหตุผลว่าการได้รับช็อกโกแล็ตในวันวาเลนไทน์ฝ่ายเดียวดูไม่ค่อยแฟร์ ผู้รับควรมีของตอบแทนใจ แต่ไปไงมาไงจึงต้องเป็นมาร์ชเมลโล่ คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องการตลาดที่ต้องการโปรโมทขนมออริจินอลของร้าน ซึ่งเป็นมาร์ชเมลโล่สอดไส้ถั่วเหลือง ทำให้ในช่วงยุคนั้นสมัยนั้น เรียกวันไวท์เดย์ ในอีกชื่อว่า มาร์ชเมลโล่ เดย์ แต่ก็มีอีกกระแสที่เรียก คุ้กกี้เดย์ นะเออ เพราะนอกจากมาร์ชเมลโล่ แล้ว ก็จะมีการให้คุ้กกี้ เช่นกัน

การให้ของตอบแทนในวันไวท์เดย์ ดูจะมีความหมายแฝงมาเล็กๆ กับของขวัญที่ให้กันในวันนี้ เพราะสำหรับหนุ่มที่ปรารถนาจะตอบรับรักสาว ก็จะมอบของขวัญที่มีมูลค่าแพงกว่าที่สาวให้มาประมาณ 3 เท่า ซึ่งอาจเป็นขนมหรือเครื่องประดับ หรือจะพาไปเดตก็ว่ากันไป หากหนุ่มต้องการ say no แบบอ้อมๆ แต่ถนอมน้ำใจสาวเจ้า ก็จะมอบของที่มีมูลค่าเท่าๆ กับที่ได้รับมา ซึ่งขนมมาร์ชเมลโล่ และคุ้กกี้ คือสัญลักษณ์ ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อในการตอบปฏิเสธกันแบบซอฟท์ ซอฟท์ นิ่มนวลกันไป เพื่อตอบแทนน้ำใจที่ได้มาในวันวาเลนไทน์นั่นเอง

ในอีกแง่ ทั้งวันวาเลนไทน์ และวันไวท์เดย์ เองก็ไม่ได้เป็นวันเฉพาะเจาะจงที่ความรักฉันท์หนุ่มสาวเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเป็นวันที่เราถือโอกาสมอบขนมหรือของขวัญให้กับเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานได้เช่นกัน แต่ก็มีบางกระแสที่เล่าว่า บางบริษัท ออกมาแบนทั้งวันวาเลนไทน์ และวันไวท์เดย์ ไม่ให้มอบของแก่กัน (ในออฟฟิศ)  เพราะมูลค่าของที่ให้แก่เพื่อนร่วมงานหลายคนเมื่อรวมๆ กันแล้ว อาจหนักหนาทีเดียว ส่วนผู้รับก็อาจจะต้องมอบของตอบแทนให้แพงกว่าของที่ได้รับ ยิ่งไปกันใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นวันอะไรก็ตาม ความรัก ความปรารถนาดีในทุกรูปแบบ ล้วนเป็นสิ่งที่สวยงามทั้งหมด อย่าปล่อยให้วัตถุนิยมเข้ามาฉาบความปรารถนาดีเหล่านี้ก็พอ กุหลาบดอกเดียว หรือมาร์ชเมลโล่ชิ้นเดียว ก็คือการให้ และการได้รับก็น่าจะเป็นความชื่นใจแล้วเช่นกัน

 

ข้อมูล: Mainichi,  TpapressAnngle, Tokyoexplained

 

Related Articles