จะอายุมากน้อยแค่ไหน ไม่มีใครอยาก “แก่”!
ทั้งนี้ “ความแก่ชรา” ที่ว่า ไม่ได้กินความเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกที่โรยราลง แต่รวมถึงระบบการทำงานภายในร่างกายด้วยเป็นสำคัญ
ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ความชราภาพของสิ่งมีชีวิตจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นเส้นตรงตามกาลเวลา ที่ผ่านมาการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์มักมุ่งเน้นไปที่การค้นหากระบวนการคืนความอ่อนเยาว์ ลดหรือชะลอความเสื่อมของระบบการทำงานในร่างกาย น่าสังเกตว่าไม่ค่อยมีการวิจัยที่เน้นไปที่อัตราการแก่ชราทางชีววิทยา
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงกับอายุในโมเลกุลและจุลินทรีย์มากกว่า 135,000 ประเภท จากกลุ่มอาสาสมัครอายุระหว่าง 25-75 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีพื้นเพทางชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จำนวน 108 ราย ติดตามเก็บข้อมูลทุก 2-3 เดือน ตลอดระยะเวลาหลายปี พบว่าจำนวนโมเลกุลและจุลินทรีย์ มีความผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะใน 2 ช่วงอายุ คือ เมื่อคนมีอายุ 40 กลางๆ ประมาณ 44 ปี และ อายุ 60 ต้นๆ
ถามว่าการเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลและจุลินทรีย์ที่มีความผันผวน ไม่ได้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอช้าๆ อย่างที่เคยเข้าใจกัน มีความสำคัญอย่างไร?
แน่นอนว่า สำคัญมาก เนื่องจากโมเลกุลที่นักวิทยาศาสตร์ติดตามหลายประเภทนั้นรวมถึง RNA โปรตีนและเมแทบอไลต์ (metabolite) ตลอดจนไมโครไบโอม (จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ภายในและภายนอกร่างกาย มีทั้งที่เป็นประโยชน์และก่อโรค) ที่เก็บตัวอย่างจากช่องปาก ผิวหนัง และโพรงจมูก รวมถึงเลือดและอุจจาระ
การเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลและจุลินทรีย์ที่มากบ้างน้อยบ้างอย่างผิดปกติ จึงบ่งบอกถึงความบกพร่องของระบบการทำงานภายในร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือด การเผาผลาญไขมันและน้ำตาล ฯลฯ สาเหตุของความเจ็บป่วย และเป็นเป้าหมายของการทำวิจัยนี้ เพื่อเข้าใจความเสี่ยงของการเกิดโรคในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ช่วยวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติรรมการใช้ชีวิตของผู้คน เพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ Michael Snyder นักพันธุศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์จีโนมิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนอาวุโสของงานวิจัยนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Aging เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า การแก่เร็วทั้งสองช่วงไม่เหมือนกัน
ในคนอายุ 40 ปีเศษ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในจำนวนโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และการเผาผลาญไขมัน โรคหลอดเลือดหัวใจ ผิวหนังและกล้ามเนื้อ
ขณะที่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและคาเฟอีน การควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน การทำงานของไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าทำไมผู้สูงอายุจึงเปราะบางต่อการเจ็บป่วยมากกว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาไต เบาหวานประเภท 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจ
อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยนี้ยังถือว่าเป็นเพียงการสรุปผลเบื้องต้น ยังต้องมีการสำรวจปัจจัยขับเคลื่อนของกลุ่มการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่อไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หรือปัจจัยทางพฤติกรรมที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอายุเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ความผิดปกติของการเผาผลาญแอลกอฮอล์อาจเป็นผลมาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ที่เพิ่มมากขึ้นในวัยกลางคน ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่ชีวิตประสบกับความเครียด
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอย่างไร ผลของการวิจัยนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ผู้คนจะต้องใส่ใจสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ช่วงอายุ คือ 40 และ 60 ปี ควรออกกำลังมากขึ้นเพื่อปกป้องหัวใจและรักษามวลกล้ามเนื้อในทั้งสองช่วงวัย หรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ในวัย 40 ปี เนื่องจากความสามารถในการเผาผลาญแอลกอฮอล์ที่ลดลง
ฉะนั้น จงอย่าได้แปลกใจว่าทำไมเมื่อครั้งเยาว์วัยชนแก้วได้ครึ่งค่อนคืนสบายๆ แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ศักยภาพในการดื่มทั้งเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ และมีคาเฟอีนจะลดลงฮวบฮาบขนาดนั้น.