Agnos Health บริษัทสตาร์ทอัปผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมพัฒนาบริการระบบ Smart Patient Management ที่ช่วยบริหารจัดการคนไข้ด้วยการใช้ AI เปิดใช้งานแล้วที่ Health Design Center (HDC) โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
นพ.สมฤทธิ์ จันทรประทิน รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายสารสนเทศ โรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่ม 1 กล่าวว่า “การนำระบบ Smart Patient Management มาใช้ที่ Health Design Center (HDC) ซึ่งมีผู้รับบริการจำนวนมากในแต่ละวัน มีขั้นตอนเยอะในการตรวจรักษา ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างแพทย์ พยาบาล และ ผู้รับบริการ เมื่อเราใช้ระบบ AI ทำให้กระบวนการสื่อสารที่ไม่จำเป็นระหว่างทีมลดลง ยังช่วยบริหารจัดการคนไข้ในขั้นตอนการรับบริการ อาทิ รายการตรวจที่รอรับบริการ เวลาที่ใช้ในการตรวจ เพิ่มความสะดวกลดปัญหาจากการพูดคุยและต้องถามซ้ำหลายครั้ง เพราะคนไข้รู้ข้อมูลโดยระบบที่พัฒนาขึ้นมา ผลลัพธ์เหนือความคาดหวังเนื่องจาก flow คนไข้โรงพยาบาลมีความซับซ้อนมาก หากเทคโนโลยีที่ทาง Agnos ตอบรับความซับซ้อนนี้ได้ สามารถขยายการบริการไปยังศูนย์อื่นๆ ภายในโรงพยาบาลในอนาคต”
พญ.เกวลิน รังษิณาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพและผู้อำนวยการ Health Design Center กล่าวว่า “Health Design Center คือ แผนกตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เรามีคนไข้มารับบริการวันนึง 200 – 300 ราย ในแต่ละชุดตรวจก็จะมีความซับซ้อน ความยากของแผนกคือการบริหารจัดการเรื่องคิว คนไข้แต่ละคน มีชุดตรวจที่หลากหลาย มีขั้นตอนการตรวจ มีเวลาการตรวจที่ไม่เท่ากัน ที่ผ่านมาใช้เจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการเรื่องคิว ซึ่งพอเราใช้คน ก็จะมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น หลังจากที่เราเอาระบบการบริหารจัดการคิวของ Agnos เข้ามาใช้ AI เป็นเทคโนโลยี ในการช่วยบริหารจัดการคิว ช่วยให้สามารถกระจายคิวของคนไข้ไปตรวจในส่วนต่าง ๆ ของแผนกได้อย่างทั่วถึง และลื่นไหลกว่าการใช้เจ้าหน้าที่เป็นคนบริหารจัดการคิว”
จุดเด่นของระบบ Smart Patient Management ที่ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยบริหารจัดการคนไข้ มีดังนี้
- การแจ้งเตือนสถานะแบบทันที (Real-time status update)ระบบสามารถดู สถานะคิว และ รับการแจ้งเตือนคิวตรวจของคนไข้ ผ่าน Line หรือเว็ปไซต์ หรือ แอปพลิเคชันบนมือถือ ทั้งยังสอดคล้องกับคิวแจ้งเตือนบนจอ TV ในแผนกตรวจนั้นๆ ทำให้สามารถรู้คิวของตนเองชัดเจน คนไข้ไม่ต้องคอยถามสถานะการรอคอยจากเจ้าหน้าที่ และสามารถดูระยะเวลารอคอยได้ตลอดเวลาทำให้คนไข้ไม่ต้องแออัดหน้าห้องตรวจ
- แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (E-Form) และ AI แนะนำแพ็กเกจตรวจสามารถใช้งาน E-form แทนการกรอกฟอร์มบนกระดาษ คนไข้สามารถกรอกข้อมูลบนฟอร์มด้วยตนเองก่อนมาโรงพยาบาล ลดเวลาที่ต้องมารอลงทะเบียนหน้าเคาน์เตอร์ นอกจากนี้ ระบบสามารถตรวจเช็คความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไข้ เพื่อแนะนำแพ็กเกจตรวจที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนได้
- AI แนะนำลำดับการตรวจ (AI next exam recommendation) เป็นตัวช่วยส่งต่อการตรวจให้กับเจ้าหน้าที่ โดยระบบ AI เสมือนผู้ช่วย (Co-pilot) จะมีการประมวลผลจากรายการตรวจของคนไข้แต่ละคน เวลาการรอคอยของแต่ละรายการ เวลานัดหมาย และลำดับความสำคัญทางคลินิก เพื่อแนะนำลำดับการตรวจของคนไข้ให้เหมาะสม เกิดการกระจายตัวของคนไข้ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดระยะเวลาการรอคอยของคนไข้
- การจัดการภาพรวมของคนไข้ (Manage overall patient flow)เจ้าหน้าที่พยาบาลสามารถคอยดูแลภาพรวมคิวของคนไข้ทั้งแผนกหรือทั้งระบบ ให้คนไข้ไม่ล้น จนต้องรอคิวตรวจนานเกินไป โดยสามารถดูระยะเวลารอคอยของแต่ละรายการตรวจได้ และ สามารถโยกคนไข้ ไปตรวจรายการอื่นได้ทันที หากระยะเวลารอคอยมากเกินไป
- การบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ (Operation management)สามารถดูสถานะการให้บริการและบริหารจัดการเจ้าหน้าที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยระบบ AI ช่วยแนะนำปรับเปลี่ยน ห้องแบบ Multi-purpose เพื่อลดคิวตรวจที่แออัดในบางรายการได้
การพัฒนาระบบ Smart Patient Management ในครั้งนี้ สามารถช่วยลดเวลารอคอยได้มากถึง 50% และลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในหลายขั้นตอน และ ทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาดูแลคนไข้มากขึ้น จากที่ต้องคอยดูแลเอกสารคนไข้ และรันคิวตรวจเป็นหลัก โดยคาดหวังว่าทั้งผู้ให้บริการ เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และฝั่งผู้มารับบริการ หรือคนไข้ จะได้รับประโยชน์สูงสุดและมีความประทับใจต่อการบริการที่เพิ่มมากขึ้น