Tech Discrimination การแบ่งแยกที่ลามมาสู่โลกเทคโนโลยี

Tech Discrimination
Share

 

เด็กอเมริกัน เขาเหยียดกันที่สีของ Text Message แต่เด็กไทยเรื่องแค่นี้เล็กน้อย เพราะเรื่อง Tech Discrimination บ้านเราก็ไม่น้อยหน้าเยาวรุ่นประเทศไหน แน่นอน

 

กระแสการแบ่งแยกชนชั้นที่เกิดขึ้นกับสังคมวัยรุ่นอเมริกัน แค่เรื่องของการส่ง Text Message ทางมือถือ ถ้าของใครขึ้นข้อความเป็นสีเขียวนั่นหมายถึงไม่ได้ใช้ iPhone แล้วจะไม่คุยหรือถูกโดดเดี่ยวออกจากกลุ่ม แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สะท้อนถึงสิ่งที่ไม่เคยจางหายในสังคมที่มองกันว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา

Blue or Green Issue on iPhone or Android Phone

และเอาเข้าจริงเรื่องแบบนี้ก็มีให้เห็นในบ้านเราเช่นกัน

หากยังพอจำ Gadget เล็กๆ ที่เรียกว่า Blackberry ได้ ยุคนั้นได้รับความนิยมมากขนาดที่เด็กมัธยมต้นและปลายในโรงเรียนระดับหัวแถวของประเทศนี้ไม่ว่าจะกรุงเทพหรือหัวเมือง ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า BB Pin กันถ้วนหน้า

ต่อมายุคที่ iPhone รุ่นแรกครองเมือง เหล่าเซเลบและดาราทั่วฟ้าเมืองไทยต่างหามาถือเสมือนเป็นอวัยวะชิ้นที่ 34 นอกจากรถยนต์รูปโฉมสวยหรู ดูภูมิฐาน ที่สำคัญในวันนั้น iPhone รุ่นแรกนั้นยังไม่มีขายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ต้องนำเข้า และเกิดกระแสซื้อหากันอย่างแพร่หลายใน grey market ด้วยราคาที่ยอมจ่ายกันสูงลิบ กระนั้นยังต้องผ่านกระบวนการปลดล็อค ที่ติดปากกันว่า Jailbreak ทุกเครื่อง

ราคาค่าตัวของ iPhone หนึ่งเครื่องที่วางขายในประเทศไทยแบบที่พร้อมใช้งานได้ทันทีอยู่ที่ระดับสามถึงสี่หมื่นบาท บางร้านที่บริการลูกค้าระดับพรีเมียมมากๆ มีการเปิดเผยว่าเคยทำราคาไปเหยียบแสนเลยทีเดียว

ขยับมาอีกนิด หลังจากที่เจ้าลัทธิอย่าง Steve Jobs ประกาศการเปลี่ยนแปลงจักรวาลคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่ในงาน WWDC 2005 ว่าต่อไปนี้ Apple นั้นจะย้ายฝั่งจากโลกหน่วยประมวลผลเดิมที่ตัวเองเคยร่วมกับ IBM และ Motorola ในชื่อ PowerPC มาสู่โลกของการใช้ชิปจาก Intel

ปรากฏการณ์นี้ทำให้จักรวาลของ Apple ยิ่งเข้าใกล้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปมากยิ่งขึ้น เพราะหลังจากวันนั้นเป็นต้นมายอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ Apple นั้นก็ไม่เคยแผ่วเลยจนถึงวันนี้ แต่กระนั้น ก็ยังไม่สามารถลบอคติในใจของผู้คนในจักรวาล Windows PC ได้ทั้งหมด และมีการตั้งคำถามกันเนืองๆ จากความเคยชินในการใช้ Windows PC มายาวนาน

ด้วยข้อเท็จจริงที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า ราคาของสินค้าของ Apple นั้น ไม่เคย “เบา” แต่ด้วยการออกแบบที่แสดงอัตลักษณ์ ได้อย่างโดดเด่น มีความมินิมัลกว่าแบรนด์อื่นในสมัยนั้น การได้เป็นเจ้าของและใช้งานคอมพิวเตอร์ และมือถือ Apple จึงหลีกไม่พ้นที่จะถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเครื่องแสดงฐานะทางสังคม

กระแสของความนิยมแบรนด์ Apple นั้นก็พาให้เกิดกระแสต่อต้านจากสาวกฝั่งขวาจัดอยู่บ้างพอสมควร เพราะยังมีสาวกกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับเหล่าบรรดาเจ้าของ Macbook ที่นำไปติดตั้งระบบปฏิบัติการอย่าง Windows คล้ายๆ การฝ่าฝืนลัทธิกันเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ ก็ไม่ได้เป็นประเด็นคอขาดบาดตายแต่อย่างใด เพราะจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการอะไรก็ตาม ก็ยังทำให้ Macbook มียอดขายถล่มทลายอยู่ตลอด

ที่ยกตัวอย่างเป็นเพียงมุมเล็กๆ ที่เราสะท้อนให้เราเห็นกันถึงการเลือกปฏิบัติ ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องการใช้ชีวิตในสังคมทั่วไป แต่ยังลามไปถึงโลกเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีปัจจุบัน ได้ถูกหลอมรวมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คนไปเรียบร้อย

กลับมาที่ประเด็นวัยรุ่นอเมริกันที่วันนี้มีการเหยียดหรือแบ่งชนชั้นกันด้วยสีของ Text Message ที่อาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ในความไร้สาระก็มีสาระแฝงอยู่ แม้ว่าผลพวงจากเหตุการณ์นี้คือ มีวัยรุ่นอเมริกันหลายคนไปอ้อนวอนพ่อแม่ขอเปลี่ยนมือถือไปเป็น iPhone

มุมหนึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่องของการอยากมีอยากได้เหมือนเพื่อน หรือที่เรียกว่า “โฟโม” (FOMO: Fear of Missing Out) คือ การกลัวการถูกทอดทิ้ง แต่ “การเหยียด หรือ การแบ่งแยก” ผ่านความต่างทางด้านเทคโนโลยีนี้สะท้อนถึงการเป็นสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม ที่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น และพร้อมที่จะระเบิดกลายเป็นสถานการณ์ความรุนแรงได้ตลอดเวลา

อย่าลืมว่า “เทคโนโลยี” นั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ! เราต่างหากที่ต้องมีสติ ต้องรู้ให้เท่าทัน!

Related Articles