หญ้าทะเล ใครจะนึกว่าจะ “ช่วยมนุษย์” ในสภาวะที่โลกใบน้อยกำลังต้องการความช่วยเหลือ แล้วจะรู้ว่า ไม่ใช่เฉพาะ พยูน ที่เพรียกหามันเท่านั้น
ยิ่งร้อน เราก็ยิ่งวิ่งหาทะเล…ไปเติมพลังให้กับชีวิต ย่ำหาดทรายเนื้อละเอียดสีขาว ดำผุดดำว่ายชมปะการังใต้ท้องทะเล
ขณะเดียวกันทุกปีเราจะได้ยินข่าวการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวจากที่ต่างๆ ทั่วโลก
ปะการังฟอกขาวคือหนึ่งในสัญญาณเตือนถึงภาวะวิกฤติของโลก…Climate Change ที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Climate Crisis!
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียง 1–2 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวได้
ปลายปีที่แล้ว (ตุลาคม 2564) เครือข่ายเฝ้าจับตาแนวปะการังโลก (Global Coral Reef Monitoring Network-GCRMN) เปิดเผยผลการศึกษา พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวปะการังทั่วโลกมากถึงร้อยละ 14 ตายลงจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดขึ้น โดยคิดเป็นพื้นที่เท่ากับ 11,700 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าจังหวัดขอนแก่นทั้งจังหวัดเล็กน้อย
การหายไปของปะการังทำให้ทะเลเสียสมดุล ความหลากหลายในระบบนิเวศจะลดลงเรื่อยๆ ส่งผลให้สัตว์ทะเลหลายชนิดตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากปะการังถือเป็นแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล
ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef บอกว่า ระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล โดยเฉพาะป่าชายเลน หญ้าทะเล และพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลประเภทอื่น มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ
งานวิจัยในช่วงหลังพบว่าป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกถึง 10 เท่า ในขณะที่หญ้าทะเลกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 35 เท่า
ระบบนิเวศชายฝั่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นดี ก็เพราะเป็นพืชโตเร็วและสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินตะกอนที่ทับถมสะสมอยู่ได้นับพันๆ ปี ต่างจากพืชบนบกที่มีอายุการดูดซับคาร์บอนได้สูงสุดราว 50 ปีเท่านั้น จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญอย่าง “หญ้าทะเล” และ “ป่าชายเลน” ว่า “คาร์บอนสีน้ำเงิน” (blue carbon) ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสู้โลกร้อนที่ทรงอานุภาพที่สุด
![](https://www.innomatter.com/wp-content/uploads/2022/04/The-fate-of-carbon-dioxide-in-a-blue-carbon-ecosystem-from-left-to-right-mangroves.jpg)
“พื้นที่ป่าชายเลนหรือหญ้าทะเลเพียง 1 ไร่สามารถกักเก็บคาร์บอนโดยเฉลี่ยได้ถึง 160 ตันต่อปี สูงกว่าระบบนิเวศป่าไม้บนบกซึ่งกักเก็บคาร์บอนโดยเฉลี่ย 4-5 ตันต่อปีหลายสิบเท่า”
ประเทศไทยพบหญ้าทะเลมากถึง 12 ชนิด จาก 58 ชนิดที่พบทั่วโลก โดยหญ้าทะเลเหล่านี้ทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนในรูปแบบของมวลชีวภาพ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช และการดักจับจากตะกอนดินที่ไหลมาจากระบบนิเวศอื่นๆ นอกจากนี้หญ้าทะเลยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นที่วางไข่ให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งหลบซ่อนศัตรูของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมไปถึงสัตว์ขนาดใหญ่อย่าง “เต่าทะเล” และ “พะยูน” ที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ดร.เพชร มโนปวิตร บอกว่า สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งจากรายงานประเมินฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC คือ แม้เราจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5-2 องศา แต่ความร้อนที่สะสมไว้แล้วและที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนบ่อยกว่าเดิมถึง 4 เท่าภายในศตวรรษนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลและนิเวศบริการด้านต่างๆ
คลื่นความร้อนในทะเลเคยเป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ในช่วงหลังเกิดขึ้นบ่อยและทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ รายงานการประเมินผลกระทบด้านระบบนิเวศของ IPCC ระบุว่าปะการังเกือบทั้งหมดในโลก (99%) จะเสื่อมโทรมหรือตายลงหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนในมหาสมุทรยังจะส่งผลให้เกิดสาหร่ายบลูม (algal bloom) บ่อยและรุนแรงขึ้น เกิดการขยายตัวของเขตมรณะที่ไร้ออกซิเจน (dead zone) และเกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ รูปแบบการแพร่กระจายของสัตว์น้ำในภูมิภาคต่างๆ จะเปลี่ยนไป สัตว์น้ำเริ่มเคลื่อนย้ายจากเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร
ทั้งนี้ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในมหาสมุทรยังทำปฏิกิริยากับน้ำทะเลเกิดเป็นกรดคาร์บอนิก ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขปรากฏการณ์ทะเลเป็นกรดที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลให้สัตว์ทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะสัตว์มีเปลือก ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู เม่นทะเล หรือแม้แต่ปะการัง ไม่สามารถสร้างเปลือกและโครงสร้างแข็งได้
ซึ่ง…ข้อมูลในอดีตชี้ว่า ผลกระทบของสภาวะทะเลเป็นกรดคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต มีหลักฐานปรากฏเมื่อ 66 ล้านปีมาแล้วที่พบว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลสูญพันธุ์ไปกว่าร้อยละ 75
มาถึงตอนนี้สู้ไม่ได้ก็ต้องสู้แล้วล่ะ ในเมื่อหลังชนฝาแล้ว ไม่แน่ “หญ้าทะเล” อาจเป็นแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ก็เป็นได้-ถ้าเราทุกคนผนึกกำลังแล้วร่วมสู้ไปด้วยกัน!