กรุ่นกลิ่นกาแฟจากยอดภู

กาแฟภูชี้เดือน
Share

 

กล่าวกันว่าเชียงรายเป็นเมืองหลวงของกาแฟ…

 

ด้วยภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสูงที่ทอดตัวยาวเรียงรายสุดลูกหูลูกตา และภูมิอากาศที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,300 เมตร ทำให้ต้นกาแฟที่ปลูกบนพื้นที่สูงเหล่านั้นค่อยๆ บ่มเพาะ ซึมซาบรสชาติของแร่ธาตุนานาชนิดในผืนดินอันอุดมสมบูรณ์จากการทับถมของเศษซากใบไม้ในธรรมชาติอย่างช้าๆ กระทั่งเมื่อผลสุกพร้อมต่อการเก็บเกี่ยว จะได้ออกมาเป็นความฉ่ำของรสชาติกับพลังแสงแดดที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวในผลกาแฟ

เป็นความอัศจรรย์ที่ผลเชอรี่เมื่อสุกแล้วกินสดจะให้ความหวานฉ่ำได้ขนาดนั้น แต่เมื่อนำมาผ่านกรรมวิธีอย่างพิถีพิถันตั้งแต่การคัดล้าง ตากแห้ง คั่วในอุณหภูมิที่พอเหมาะสำหรับแต่ละชนิดกาแฟ เมื่อบดและชงออกมากลับได้รสชาติที่เข้มด้วยบอดี้ของกาแฟ ความหอมกรุ่นที่ไม่เพียงแค่ยามจิบ แต่ยังอวลอยู่ในปากและทิ้งความหอมนั้นให้กำซาบในรสชาติอยู่อีกนาน

…กลายเป็นเสน่ห์ที่มัดใจคอกาแฟ นอกเหนือไปกว่าบทบาทของการทำหน้าที่ปลุกเร้าให้ร่างกายตื่นตัว สดชื่นและกระปรี้กระเปร่า

แก้วกาแฟภู
แก้วกาแฟภู

สำหรับคอกาแฟสมัครเล่นผู้ภักดีต่อเอสเปรสโซ อาจมีปันใจไปหาคัปปุชชีโน-ลัตเต-มัคคียาโต บ้างบางวาระ การได้ค้นพบกาแฟรสชาติเข้มแต่ไม่คลั่ก ที่กรุ่นกลิ่นหอมตลบอบอวลคือความสุข คือชัยชนะของการเดินทางในแต่ละครั้ง

หลายปีก่อนมีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียน ตชด. ที่บ้านร่มฟ้าหลวง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย

…โรงเรียนบนที่ราบสูงที่มีผู้สอนเป็นครูอาสา เป็น ตชด. กิจกรรมของเด็กๆ นอกจากปลูกผักสวนครัว เลี้ยงไก่ไว้กินไข่ หนึ่งในนั้นคือ การแวะเวียนไปดูแลต้นกาแฟที่ช่วยกันปลูกอยู่ริมทางขึ้นภูชี้เดือน วาดหวังว่าวันหนึ่งเมื่อให้ผลผลิตแล้วจะสามารถจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่มเติม

เช่นเดียวกับชาวบ้านรายอื่นๆ ในแถบนั้นที่ก่อนหน้าอาจจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเริ่มหันมาปลูกกาแฟอินทรีย์ ในยุคที่กระแสความนิยมของร้านกาแฟสดกำลังเฟื่องฟู และกาแฟไทยหลายๆ แบรนด์เริ่มโกอินเตอร์ ส่งเข้าชิงชัยในการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟ ที่เป็นเสมือนการการันตีคุณภาพของสินค้าเปิดประตูการค้าสู่สากลอีกทางหนึ่ง

แม้ว่ากาแฟภูชี้เดือนจะยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ค่อยๆ ขยับไปทีละก้าว แต่วันนี้ถือว่ามาไกลพอสมควร จากอดีตเมื่อ 50-60 ปีก่อน บนพื้นที่สีแดงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองของชนเผ่าม้งในประเทศไทยและประเทศลาว ความที่เป็นพื้นที่ห่างไกลการคมนาคมขนส่ง ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง เอื้อให้การปลูกฝิ่นเป็นอาชีพหลัก กระทั่งเมื่อมีโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เข้าไปพลิกฟื้นชีวิตคนในพื้นที่ซึ่งขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง จึงหันมาเริ่มทดลองปลูกกาแฟ

ต้นกาแฟริมทางขึ้นภูชี้เดือน
ต้นกาแฟริมทางขึ้นภูชี้เดือน

วันนี้ กาแฟภูชี้เดือน เป็นที่รู้จักในฐานะเป็นกาแฟอินทรีย์สายพันธุ์อาราบิก้า 100% โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่าภูชี้เดือน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งมี พ.ต.ท.กิตติคุณ ช่างเขียน ครูใหญ่โรงเรียน ตชด.ที่อีกบทบาทคือเป็นที่ปรึกษากลุ่มและเกษตรกรในพื้นที่รวมกลุ่มกันปลูกกาแฟบนเทือกเขาสูงอย่างภูชี้เดือน ที่มีความสูงถึง 1,300-1.600 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกกาแฟ

ล่าสุด กาแฟภูชี้เดือน ได้รับการรับรองเป็นเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (SDGsPGS Chiangrai Organic) ภายใต้ชื่อ นายวัฒนา ปรีดีพจนา หรือ พ่อเล่ากั๋ว” ชาวม้ง ประธานชมรมยาสมุนไพรพื้นบ้าน และเป็นแกนนำเกษตรกรที่ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่าที่ภูชี้ฟ้า-ผาตั้ง

ความพิเศษของกาแฟภูชี้เดือนอยู่ที่กลิ่นหอมเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เป็นกลิ่นของผลไม้และดอกไม้ป่านานาชนิด จากการทับถมของเศษซากใบไม้ในธรรมชาติอย่างช้าๆ รวมถึงการมีรสชาติเข้มข้น ทำให้กาแฟภูชี้เดือนเป็นที่รู้จักและถูกใจคอกาแฟ

การไต่ยอดภูนั้นไม่ง่าย เช่นเดียวกับกาแฟภูชี้เดือน จากต้นพันธุ์เล็กๆ ที่นำไปปลูกใต้ร่มเงาผืนป่า อาศัยเพียงความชื้น หยาดน้ำจากฟ้าและแสงแดดที่ลอดผ่าน บวกกับใจที่เต็มร้อยของเด็กๆ และคนในพื้นที่ที่ทำหน้าที่ดูแลพิทักษ์ป่าต้นน้ำ จนสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน

…แม้จะเป็นวิสาหกิจชุมชนแต่ก็ก้าวขึ้นแท่นแบรนด์กาแฟดีมีคุณภาพไม่แพ้ใครอีกแบรนด์

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles