“เนลสัน แมนเดลา” บุคคลที่กลายเป็น Icon ของการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ถึงแม้วันนี้โลกจะสูญเสียบุคคลสำคัญท่านนี้ไปแล้ว แต่ความตั้งใจและมุ่งมั่นในการลดการแบ่งแยกยังถูกสืบทอดจนถึงปัจจุบัน
ถ้าพูดถึงกีฬาที่มีบทบาทโดดเด่นทางการเมือง และเป็นจดจำในระดับโลกโดยมากจะนึกถึง “การทูตปิงปอง” การแข่งขันปิงปองระหว่างสองมหาอำนาจในช่วงต้นปี พ.ศ.2513 เพื่อเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและอเมริกาเป็นครั้งแรก
แต่ถ้าเป็นประเด็นของการสมานฉันท์ ที่ได้รับการโจษจันจนโลกต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์คือ การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งแรกในทวีปแอฟริกา ในยุคที่มีประธานาธิบดีผิวสีคนแรกที่ชื่อ “เนลสัน แมนเดลา”
เนลสัน แมนเดลา เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2461 ที่มเวโซซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในแคว้นทรานส์คีย์ ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม เป็นที่จดจำในฐานะรัฐบุรุษผู้มีความกล้าหาญ และศรัทธาอย่างแรงกล้า เป็นแรงบันดาลใจของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์, โรซา ปาร์คส์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกา ในปี 2552 องค์การสหประชาชาติกำหนดได้ให้วันที่ 18 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันเนลสันแมนเดลาสากล (Nelson Mandela International Day) โดยชาวแอฟริกาใต้ และผู้คนทั่วโลกจะรำลึกถึงการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือคนยากจน และทำสิ่งดีๆให้กับสังคมของเขา
ตลอดชีวิตวัยหนุ่มของแมนเดลาเติบโตภายใต้การเหยียดสีผิว เขาร่วมก่อตั้งสันนิบาตเยาวชนพรรค ANC ซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงนโยบายแบ่งแยกสีผิวหลายต่อหลายครั้ง เป็นเหตุให้เขาถูกจองจำอยู่ในเรือนจำนานถึง 27 ปี และเมื่อได้รับการปล่อยตัวแมนเดลาได้รับการเลือกตั้ง และก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้
กระนั้น สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนผิวสีและคนผิวขาวไม่เพียงไม่ได้ลดน้อยลง กลับทวีความรุนแรงขึ้น แมนเดลาจึงได้นำแนวความคิดเรื่องกีฬามาเป็นเครื่องมือในการรวมคนในแอฟริกาใต้ให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมีแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเรือนจำที่เกาะรอบเบ็น (Robben)
เล่ากันว่าในระหว่างที่แมนเดลาเป็นนักโทษการเมือง เขาช่วยจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในพื้นที่ของนักโทษขังเดี่ยว จนเขากลายเป็นแฟนกีฬา (นักโทษ) ตัวยง แต่สุดท้ายผู้คุมกลั่นแกล้งด้วยการสร้างกำแพงกั้นระหว่างนักโทษขังเดี่ยวกับนักโทษทั่วไป
แมนเดลาเคยให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การเชียร์ฟุตบอลในเรือนจำว่า “กีฬาเป็นมากกว่าเกมการแข่งขัน แต่ช่วยสร้างความหวังในพื้นที่อันสิ้นหวัง กีฬาช่วยให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวาอีกครั้ง”

เชื่อกันว่านี่คือจุดเริ่มต้นให้แมนเดลาผลักดันให้แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพรักบี้โลกปี 1995 และฟุตบอลโลกปี 2010
ประเด็นคือ “รักบี้” กีฬาที่เขาเลือกเป็นเครื่องมือสร้างความสมานฉันท์ให้กับชาวแอฟริกัน ณ ขณะนั้นเป็นกีฬาสำหรับคนขาว ไม่แปลกที่คนผิวสีเกลียดทั้งกีฬา คนเล่น และทีมชาติรักบี้ของเขา
แมนเดลาเลือกที่จะให้อภัยกับสิ่งที่เคยถูกกระทำ และยังสนับสนุนรักบี้ทีมชาติแอฟริกาใต้ เขาใส่ชุดสีเขียวและหมวกที่มีสัญลักษณ์ทีม พร้อมเชิญชวนให้คนผิวสีหันมาร่วมเชียร์ทีมชาติของพวกเขาเอง เพราะนี่คือเกียรติยศของชาติ ภายใต้แนวคิด “One Team One Country”
แมทช์แรกแอฟริกาใต้เอาชนะออสเตรเลียแชมป์เก่าไป 27-18 จุด ก่อนจะเอาชนะฝรั่งเศสได้ในรอบรองชนะเลิศด้วยสกอร์ 19-15 จุด ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ
ขณะที่เกมการแข่งขันที่ค่อยทวีความเข้มข้นขึ้น เริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงประการหนึ่ง คนผิวสีเริ่มเดินเข้าสนามร่วมเชียร์ทีมชาติแอฟริกาใต้ในการสู้ศึกรอบชิงชนะเลิศ
เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 1995 ที่เอลลิส พาร์ก สเตเดียม ในโจฮันเนสเบิร์ก ชาวแอฟริกันแต่งชุดเขียว โบกธงชาติด้วยความหวังเต็มเปี่ยมที่จะได้เห็นชัยชนะของทีมชาติเหนือทีมนิวซีแลนด์ ออลแบล็ก
80 นาทีของการแข่งขัน ทั้งสองทีมเสมอกัน 12-12 จุด ทำให้ต้องตัดสินกันในช่วงต่อเวลาพิเศษ ที่สุดทีมแอฟริกาใต้คว้าแชมป์โลกรักบี้ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยคะแนน 15-12 จุด ท่ามกลางเสียงตะโกนเชียร์อย่างกึกก้องทั้งสนาม
กัปตันทีมฟรังซัวร์ พินาร์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างการถ่ายทอดสดในการแข่งขันที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ว่า “ชาวแอฟริกาไม่ได้มีแค่ 65,000 คนในสนาม แต่เรามีกัน 43 ล้านคน”
รักบี้สมานฉันท์เป็นเพียงหนึ่งในความงอกงามจากประสบการณ์ในเรือนจำที่เกาะรอบเบ็น ยังมีสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลา” (The Nelson Mandela Rules) เพื่อส่งเสริมสิทธิผู้ต้องขัง การรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์โดยระดมทุนผ่านโครงการ 46664 ซึ่งตั้งตามชื่อหมายเลขนักโทษของเขา เป็นต้น
…เพราะคุกขังได้เพียงกาย แต่ไม่สามารถขังความคิดและจิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกันของเขาได้-เนลสัน แมนเดลา วีรบุรุษประชาธิปไตยและความเท่าเทียม.