กระแสแห่งศรัทธา แห่ขึ้น “ถ้ำนาคา” แน่น ขอความสำเร็จ ค้าขายร่ำรวย

Share

 

กระแสแห่งศรัทธา

แห่ขึ้น “ถ้ำนาคา” แน่น ขอความสำเร็จ ค้าขายร่ำรวย

 

คึกคักมาตั้งแต่ปีกลาย ความที่ “บึงกาฬ” เป็นจังหวัดน้องใหม่ ได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบจัดเต็ม บนหน้าสื่อไม่เพียงสื่อทีวี แต่สื่อออนไลน์ต่างนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวแบบอันซีนสุดสุด โดนใจทั้งสายธรรมชาติ สายแอดเวนเจอร์และสายมู

ใครๆ ก็อยากไปเช็คอินที่หินสามวาฬ เซลฟี่บนหินวาฬแม่ที่มีแบ็กกราวน์เป็นหินวาฬพ่อกับเวิ้งหน้าผาท้องฟ้ากว้าง ไปวัดพลังไต่ภู เดินลัดเลาะบนสะพานไม้ที่วัดภูทอกหรือวัดเจติยาคีรีวิหาร แล้วต้องไม่ลืมแวะไปกราบอธิษฐานขอความสำเร็จกับพระอุปคุตที่สะดือแม่น้ำโขง วัดอาฮงศิลาวาส ฯลฯ

ที่น่าสนใจและเป็นไฮไลท์ของจังหวัดบึงกาฬ คือ “ถ้ำนาคา” แหล่งท่องเที่ยวเบอร์ต้นๆ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา โดยเป็นที่ฮือฮาอย่างมากหลังจากที่โควิดระลอก 3 เริ่มซา ประชาชนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ที่อุทยานแห่งชาติภูลังกาได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แห่แหนกันมาเที่ยวชมถ้ำนาคา-แน่น แม้จะต้องจองคิวล่วงหน้า 15 วัน พร้อมสำแดงหลักฐานรับรองการฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 2 เข็มอย่างน้อย 14 วันก็ตาม

เบื้องหลัง “ถ้ำนาคา” คือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานนับแสนปี การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ต่างกันในเวลากลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็วทำให้หินขยายสลับกับหดตัวจนแตกเป็นรูปคล้ายหกเหลี่ยม มองคล้ายเกล็ดพญานาค

ผนวกกับตำนานเรื่องเล่าของพ่อปู่อือลือ เจ้าผู้ครองรัตพานคร ที่พบรักกับธิดาพญานาค เกิดเป็นโศกนาฏกรรมการล่มสลายของเมืองกลายเป็นบึงโขงหลง คือแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันมาเข้าชมความงามอันน่าพิศวงเหล่านั้น

ทว่า นั่นไม่เท่าศรัทธาที่ได้รับการตีความใหม่ในยุคที่เศรษฐกิจในกระเป๋าคนตัวเล็กตัวน้อยหดตัวอย่างแรง เชื่อกันว่าพญานาคเป็นเจ้าแห่งทรัพย์สมบัติ มีอิทธิฤทธิ์เรียกทรัพย์สินเงินทอง เรียกโชคลาภ ให้ความมั่งมีเงินทอง พญานาคจึงกลายเป็นที่พึ่งทางใจของใครหลายๆ คน ด้วยหวังว่าจะได้รับพลังนำพาชีวิตให้ฝ่ามรสุมลูกโตนี้ไปได้ หลายต่อหลายคนจึงชักชวนกันมาเป็นหมู่คณะ มาบูชาพญานาคขอความสำเร็จ มาขอพรให้ทำมาค้าขายคล่อง

จะว่าไปความเชื่อเรื่องพญานาคไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่มีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคอีสานของไทยความเชื่อนี้มีตั้งแต่โบราณกาล จะเห็นว่าตามสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัดจะมีพญานาคเป็นองค์ประกอบ เช่น บันไดนาค ลายที่เชิงชายหลังคาโบสถ์ เป็นต้น

“พญานาค” เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังสอดรับกับความเชื่อในทางพระพุทธศาสนาที่ถือว่าพญานาคคือผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา เช่นในพระพุทธประวัติที่กล่าวถึงพญามุจลินทนาคราชแผ่พังพานป้องแดดป้องฝนแก่พระพุทธองค์ขณะเสวยวิมุตติสุข

รวมทั้งพญากาฬนาคราชที่นอนเฝ้าถาดอธิษฐานอยู่ใต้แม่น้ำเนรัญชรา มีการเชื่อมโยงกันว่าที่สะดือแม่น้ำโขง ตรงวัดอาฮงศิลาวาส จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ลึกถึงกว่า 200 เมตร เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำโขงที่ไหลมาจากประเทศจีนระยะทางประมาณ 4,500 กม. ใต้ท้องน้ำเบื้องล่างเป็นที่อยู่ของพญากาฬนาคราช

ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นที่บำเพ็ญเพียรของพระอุปคุต พระอรหันต์ผู้มีมากฤทธิ์ โดยเฉพาะในด้านการปกป้องคุ้มครองภยันตราย ผู้ที่บูชากราบไหว้จะพบเจอแต่สิ่งที่เป็นมงคล…ดัชนีเศรษฐกิจเชิงภูจึงพุ่งทยานเป็นที่คึกคักยิ่ง

เป็นอีกปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรม โดยมีภาวะเศรษฐกิจเป็นแรงขับสำคัญ

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles