นักวิทย์คิดหัวแตก ทำอย่างไร “เมื่อดอกไม้ไม่ง้อแมลง”?!?

Share

 

ดอกไม้กับแมลง เป็นของคู่กัน!

ดอกไม้น้อยลง แหล่งอาหารของหมู่แมลง (ผสมเกสร) ก็น้อยตาม ไม่มีน้ำผึ้งกิน ขณะเดียวกัน ถ้าแมลงน้อยลง โอกาสของดอกไม้ในการขยายพันธุ์ก็ลดน้อยลงเช่นกัน เพราะขาดผู้ช่วยตัวสำคัญ

ก่อนหน้านี้เกิดปรากฏการณ์ประชากรผึ้งลดน้อยลง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ผลได้รับผลกระทบมากมาย จึงมีการเลี้ยงผึ้งเพื่อแก้ปัญหา

กระนั้น ภาวะโลกร้อนไม่เคยปรานีใคร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศย่อมส่งผลสะเทือนต่อระบบนิเวศ ต่อสรรพสัตว์ รวมทั้งต่อมนุษย์ด้วย

ล่าสุด เว็บไซต์ เดอะ การ์เดี้ยน รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดอกไม้เริ่มผลิตเกสรน้อยลงเมื่อเทียบกับ 20-30 ปีก่อน ปิแอร์-โอลิเวียร์ เชปตู หนึ่งในทีมเขียนการศึกษาชิ้นนี้ และเป็นนักวิจัยจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ดอกแพนซีทุ่ง หรือดอกหน้าแมว ที่ปลูกใกล้กรุงปารีสมีขนาดเล็กกว่า 10% และผลิตน้ำหวานน้อยลงกว่า 20% เมื่อเทียบกับดอกไม้ที่ปลูกในทุ่งเดียวกันเมื่อ 20 ถึง 30 ปีที่แล้ว นอกจากนี้แมลงยังไม่ค่อยมาเยือนอีกด้วย

“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าแพนซีกำลังพัฒนาเพื่อละทิ้งแมลงผสมเกสร” ปิแอร์-โอลิเวียร์ เชปตู บอกและว่า “พวกมันกำลังพัฒนาไปสู่การผสมเกสรด้วยตนเอง โดยพืชแต่ละชนิดที่แพร่พันธุ์ด้วยตัวมันเอง เกิดขึ้นในระยะสั้น แต่อาจส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้”

ทั้งนี้ โดยธรรมชาติแล้ว พืชผลิตน้ำหวานเพื่อล่อแมลง ซึ่งขณะที่แมลงได้ประโยชน์จากน้ำผึ้งเป็นอาหาร ขาที่เปื้อนละอองเกสรก็ทำหน้าที่ช่วยนำเกสรจากดอกหนึ่งไปผสมกับอีกดอกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันนี้เป็นวิวัฒนาการที่ก่อตัวขึ้นเป็นเวลาหลายล้านปีแล้ว

แต่ขณะนี้ ดอกแพนซีและแมลงผสมเกสรอาจติดอยู่ในวงจรที่เลวร้าย พืชผลิตน้ำหวานน้อยลง หมายความว่าแมลงจะมีอาหารน้อยลง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ผลจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์นับแต่เก่าก่อนที่เชื่อมโยงแพนซีกับแมลงผสมเกสรกำลังหายไปอย่างรวดเร็ว” แซมสัน อาโคคา-ปิดอล นักเขียนนำ นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมงต์เปลลิเยร์ กล่าว “น่าประหลาดใจที่พบว่าพืชเหล่านี้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว”

สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยทั่วยุโรปที่รายงานการลดลงของประชากรแมลง หนึ่งในนั้นคือ การศึกษาวิจัยในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติของเยอรมนี พบว่าระหว่างปี 1989 ถึง 2016 น้ำหนักโดยรวมของแมลงที่จับได้ในกับดักลดลงมากถึง 75%

อาโคคา-ปิดอล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “งานศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากการลดลงของแมลงผสมเกสรนั้นไม่สามารถย้อนคืนกลับมาอย่างง่ายดาย เนื่องจากพืชเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว จำเป็นต้องมีมาตรการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้ง ไม่ให้เกิดการลดลงของจำนวนแมลงผสมเกสรมากกว่านี้”

ทั้งนี้ วิธีที่ใช้ในการศึกษานี้เรียกว่า “นิเวศวิทยาการฟื้นคืนชีพ” โดยการเปรียบเทียบการงอกของแพนซีจากเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมที่รวบรวมไว้เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ซึ่งเก็บไว้ในเรือนกระจกสถานพฤกษศาสตร์แห่งชาติ กับประชากรแพนซีทุ่งที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาดังกล่าว ผลปรากฏว่า นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของดอกไม้แล้ว ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอื่น

หากดอกไม้ไม่ดึงดูดแมลง แสดงว่าพืชกำลังสิ้นเปลืองพลังงานทำให้มีขนาดใหญ่และมีน้ำหวานมาก ดังงานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าเปอร์เซ็นต์ของดอกแพนซีที่อาศัยการผสมเกสรด้วยตนเองเพิ่มขึ้น 25% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ดร. ฟิลิป ดอนเคอร์สลีย์ จากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ ให้ความเห็นว่า “ความจริงที่ว่าดอกไม้เหล่านี้กำลังเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อปริมาณแมลงผสมเกสรที่ลดลงนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าตกใจ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าพืชสามารถหยุดวิวัฒนาการนับพันปีเพื่อตอบสนองต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียง 50 ปีเท่านั้น

แม้ว่าการวิจัยส่วนใหญ่จะดำเนินการในยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่เรารู้ว่าการลดลงของแมลงผสมเกสรถือเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ผลลัพธ์เหล่านี้อาจเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพืชมากกว่านี้อาจมีตัวอย่างอีกมากของพืชป่าที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การผสมเกสรเพื่อแก้ปัญหาการขาดแมลงผสมเกสร

ดังเช่นดอก Foxglove ที่ปรับเปลี่ยนรูปทรงของดอกเพื่อให้นกฮัมมิ่งเบิร์ดผสมเกสรได้

การแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงต้องแก้ที่ต้นทาง ที่สาเหตุ เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดย่อมมีการปรับเปลี่ยนเพื่อการอยู่รอด มันเป็นกฎของวิวัฒนาการ.

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles