เปิดร้านเวทมนตร์ “มาตาลดา”

Share

 

เซฟโซนพักใจ ที่ชาร์ตพลังบวกของใครหลายๆ คน

 

เปิดตัวกันไปแล้วอย่างเป็นทางการกับปั๊มน้ำ ของอาจารย์หมอปุริมที่อุบไต๋เอาไว้นานสองนาน จนกระทั่งมีเหตุให้ต้องพาอากงเปามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล มาตาลดาที่ตามมาคอยดูแลอากง จึงกลายเป็นจุดสนใจที่ทุกคนอยากรู้จักและทักทายตัวจริงของคุณหมอหน้านิ่ง

เป็นฉากเบาๆ ใน Ep.ล่าสุด ที่แม้ไม่หวานเหมือนฉากบอกรักริมชายหาดพัทยา แต่ก็ทำเอาเอฟซีหลากวัยอมยิ้มกันแก้มแทบแตก

“มาตาลดา” เป็นละครน้ำดีที่ออนแอร์ในจังหวะเวลาที่พอเหมาะพอเจาะ จังหวะที่บรรยากาศบ้านเมืองกำลังเต็มไปด้วยความขึ้งโกรธ พลังลบกรุ่นทั้งในและนอกสภา มาช่วยเบรคอารมณ์นำพาผู้คนเข้าไปพักใจในอีกโลก ช่วยกันลุ้นกับต้นกล้าแห่งความรักของสองตัวละครที่ค่อยๆ เพาะขึ้น และถักทอเป็นเกราะรักษาใจ เต็มอิ่มใจฟูไปกับความน่ารักของครอบครัว LGBTQ ที่แสนอบอุ่น และสังคมเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพน่ารักแบบขบกัดเบาๆ เมาท์กันเล็กๆ ในโรงพยาบาล

จากนิยายรักที่เคยติดอันดับหนึ่งทุกหมวดของนิยาย Dek-D “มาตาลดา” เป็นนิยายที่แสดงถึงการเลี้ยงดูลูก ความสมบูรณ์แบบที่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ โดยคุณกิ่ง-ชลธิดา ยาโนยะ เจ้าของบทประพันธ์ใช้ตัวละครและสังคมแวดล้อมเป็นสื่อผ่านไปยังลูกสาวทั้งสอง เผื่อว่าวันหนึ่งเมื่อลูกเข้าสู่สังคมที่ไม่มีพ่อแม่คอยปกป้อง จะได้ดูแลตัวเอง ซัพพอร์ตหัวใจตัวเองได้

“…บางทีครอบครัวที่เราเห็นว่าสมบูรณ์อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นก็ได้….” สารจากฉากหนึ่งในละครที่ “เป็นหนึ่ง” บอกกับพ่อเกรซเมื่อได้รู้จักกับคุณพ่อนางโชว์ของมาตาลดาเป็นครั้งแรก

เจ้าของนามปากกา ‘ณัฐณรา’ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านนิยาย Dek-D ว่า การที่ใครคนหนึ่งแตกต่างจากเรา ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเป็นคนไม่ดี คนเลว ไม่น่าคบหา ไม่อยากให้มีคนโดนตัดสินเพราะแค่ภาพลักษณ์ หรือตัวตนของเขาต่างจากเรา จึงอยากสร้างนิยายที่ปรับจูนความคิดของพ่อแม่กับลูก อยากสอนพ่อแม่ไปพร้อมกับสอนลูก เพราะตัวเองเป็นมาแล้วทั้งลูกที่แหกกรอบออกมา และเป็นแม่ที่กลัวเหลือเกินว่าวันหนึ่งจะเป็นคนขีดกรอบครอบลูกตัวเอง ทั้งที่ตัวเองก็เกลียดและกดดันกับมันมาก

ความที่เป็นคนติดครอบครัวมาก มีประสบการณ์ตรงในเรื่องการเลี้ยงดูแบบครอบครัวของเป็นหนึ่ง ในความคิดของตนเองว่าเด็กสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ดังนั้น การสั่งสอนของพ่อแม่ในยุคก่อนแบบรักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี มันไม่โอเคแล้ว บางครั้งความรักของพ่อแม่นี่แหละที่ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว และลูกก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นความหวังดี

“เพราะครอบครัวคือด่านแรกที่ลูกต้องเจอ สิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่ทำ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ลูกสามารถรับรู้และซึมซับเข้าไปได้ทั้งนั้น อย่าง พ่อเกรซ ที่เต็มไปด้วยบาดแผลทั้งทางกายและทางใจ แต่บาดแผลเหล่านั้นไม่ได้ขัดขวางในการส่งมอบพลังบวกให้กับมาตาลดาและคนอื่นๆ เลย”

เจ้าของบทประพันธ์บอกว่า ตัวละครมาตาลดาไม่ได้เป็นอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์จ๋า แต่เป็นเด็กที่แบกรับปัญหาของครอบครัวมาตั้งแต่เล็ก เห็นพ่อถูกตีถูกไล่ออกจากครอบครัว รับรู้ถึงการใช้ความรุนแรง ชีวิตของเธอหนักหน่วงกว่าเด็กหลายๆ คน แต่สามารถเติบโตมาเป็นหญิงสาวที่จิตใจดี เพราะการเลี้ยงดูด้วยความเข้าใจของพ่อเกรซ

นั่นเพราะสถาบันแรกตั้งแต่เราลืมตาขึ้นมาดูโลก คือสถาบันครอบครัว คนจะเติบโตขึ้นมามีนิสัย บุคลิก ทัศนคติอย่างไร ครอบครัวสำคัญที่สุด

ลูกไม่ใช่ถ้วยรางวัล พ่อแม่บางคนในวัยเด็กขาดแคลนบางสิ่งบางอย่าง หรืออยากได้อะไรแล้วไม่ได้ จึงเลือกชดเชยสิ่งเหล่านั้นผ่านชีวิตของลูก ลูกต้องเก่ง ต้องทัดเทียมหน้าตากับคนอื่น ให้ลูกแบกรับความคาดหวัง ฯลฯ ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับเด็ก

“อยากให้พ่อแม่ลูกได้ดูละครเรื่องนี้ด้วยกัน อยากให้มาตาลดาบอกในสิ่งที่ลูกอยากพูด และอยากให้มาตาลดาอธิบายในสิ่งที่พ่อแม่บางครอบครัวทำ รวมทั้งอยากให้มาตาลดาแสดงให้เห็นว่าค่านิยม ความคิด ความเชื่อ ที่ปลูกฝังไม่ว่าจะผ่านสื่อ ผ่านปากคน ผ่านคำพูดคำนินทาที่คนถูกพูดถึงไม่มีโอกาสได้อธิบาย มันไม่ยุติธรรมสำหรับเขา” คุณกิ่งบอก

“มาตาลดา” วันนี้ไม่เพียงเป็นยาดีที่รักษาบาดแผลทางใจให้กับ “เป็นหนึ่ง” เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของอาจารย์หมอปุริม แต่ยังเข้ามาเยียวยาสังคมไทยที่กำลังปะทุอารมณ์กันแทบทุกหย่อมย่าน

วันที่ 27 กรกฎาคมนี้แล้วที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อีกครั้ง อย่าลืมแวะเข้าไปที่ “ร้านเวทมนตร์” หยิบพลังบวกมาให้ทุกคนใจดีกับประเทศไทย คิดถึงอนาคตของประเทศด้วย…เน้อ.

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles