สายลมแห่งความรัก…วันวาเลนไทน์

Valentine Day
Share

 

สายลมแห่งความรัก…วันวาเลนไทน์

 

ทำไมวันวาเลนไทน์ยังอยู่จนทุกวันนี้

… เป็นเพราะเรามีความต้องการความรัก?

…หรือขอสักวันในการแสดงออกซึ่งความรัก?

ที่จริงมนุษย์เราไม่ได้ต้องการความรักแค่วันเดียว หรือไม่ได้จะขอแค่สักวันเพื่อแสดงออกด้านความรัก

หากจะให้ท้าวความถึงที่มาที่ไป..เทศกาลวันแห่งความรักเกิดขึ้นครั้งแรกสมัยจักรวรรดิโรมัน ตอนนั้นเป็นยุคที่การใช้ชีวิตของผู้ชายโสดกับผู้หญิงโสดจะถูกแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง และพวกเขาจะมีโอกาสใกล้ชิดกันจริงๆ จังๆ ในช่วงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองเทพีจูโน ซึ่งเป็นเทพีแห่งสตรีและการแต่งงาน โดยก่อนวัน(น่าจะเป็นวันที่ 13 กุมภาพันธ์) จะมีการเขียนชื่อหญิงสาวใส่เหยือกเอาไว้ เมื่อชายหญิงมาพบปะกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก็เริ่มการสุ่มหยิบชื่อ เรียกง่ายๆ ว่าจับสลาก เมื่อชายหนุ่มหยิบเจอใครแล้วก็จะได้เป็นคู่เดทกันไปจนถึงงานเฉลิมฉลองแห่งลูเพอร์คาร์เลียในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นไปได้มากที่ทั้งคู่จะลงเอยที่……การแต่งงานครับ

เวลาผ่านไป เมื่อศาสนาคริสต์เข้ามามีบทบาทแทนการนับถือเทพเจ้า แต่ชาวโรมันยังคงรักษาวัฒนธรรมการหาคู่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ไว้อย่างเหนียวแน่น

ต่อมาในยุคจักรพรรดิคลอดิอุส ที่สอง (Claudius II) (ครองราชย์ ค.ศ. 268 – มกราคม ค.ศ. 270) ยุคนี้มีหลายตำนาน ตั้งแต่ตำนานที่กษัตริย์คลอดิอุส มีศรัทธาในเทพเจ้าอย่างเปี่ยมล้น จึงสั่งปราบปรามศาสนาคริสต์ นักบุญวาเลนตินุส จึงถูกจับเข้าคุก และถึงแม้จะอยู่ในคุกเขาก็ยังเผยแผ่ศาสนาในคุก ในระหว่างนั้นผู้คุมได้ให้นักบุญวาเลนตินุสรักษาดวงตาของลูกสาวเขา และปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น ลูกสาวของผู้คุมจากตาบอดกลับมองเห็นได้ ไม่นานเขาจึงถูกปล่อยตัว เมื่อออกจากคุกได้ก็ยังคงเผยแผ่ศาสนาต่อไปอีก จึงได้ถูกจับตัวอีกครั้ง และครั้งนี้กษัตริย์คลอดิอุส ที่สอง ได้สอบสวนด้วยตัวพระองค์เอง จักรพรรดิพยายามชักชวนให้นักบุญวาเลนตินุสย้ายมานับถือเทพเจ้าโรมัน แต่นักบุญกลับปฏิเสธ เขาจึงถูกประหารชีวิต เห็นได้ว่าตำนานนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรักเลย

ตำนานที่สอง กษัตริย์คลอดิอุส ที่สอง ได้มีการทำสงครามบ่อยครั้ง จึงต้องการทหารจำนวนมาก แต่ชายหนุ่มไม่อยากไปรบ ทำให้จักรพรรดิเชื่อว่านั่นเพราะผู้ชายหลายคนไม่อยากจากครอบครัวและคนรักไป จึงประกาศยกเลิกงานแต่งงานในกรุงโรม แต่นักบุญวาเลนตินุสเห็นใจใน “ความรัก” ของชาวคริสเตียน จึงฝ่าฝืนคำสั่งจัดพิธีแต่งงานให้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกจับเข้าคุก และได้มาพบรักกับจูเลีย ลูกสาวผู้คุม (บางตำนานแค่เรื่องศรัทธาไม่ได้รักกัน) และชวนกันร่วมอธิฐานต่อพระผู้เป็นเจ้าให้จูเลียหายตาบอด และปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นกับจูเลียเธอมองเห็นในบัดดล แต่ไม่นานนักบุญวาเลนตินุสก็ได้ถูกประหารชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และในคืนก่อนถูกประหาร นักบุญวาเลนตินุสได้เขียนจดหมายให้กับจูเลีย และลงท้ายจดหมายว่า From your Valentine ปัจจุบันศพของนักบุญวาเลนตินุสได้ถูกเก็บไว้ที่โบสถ์พราซีเดส ซึ่งจูเลียได้ปลูกต้นอามันต์ หรืออัลมอลต์สีชมพู ไว้ใกล้กับหลุมศพของ “วาเลนตินุส” หรือ “วาเลนไทน์” ที่เราเรียกกันในปัจจุบัน

นักบุญวาเลนตินุส

วันวาเลนไทน์ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในโลก โดยใช้วันที่นักบุญวาเลนไทน์เสียชีวิต คือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกลาซิอุสที่ 1 ในช่วงค.ศ. 496 เพื่อแทนที่วันบูชาเทพีจูโน (ห่างจากที่นักบุญวาเลนตินุสถูกประหาร 200 กว่าปีทีเดียว) ต่อมาค.ศ. 1969 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้ลบวันวาเลนไทน์ออกไปจากปฏิทินของศาสนา

แล้วทำไมวันวาเลนไทน์จึงยั่งยืน และเป็นสัญลักษณ์ของความรักมาถึงทุกวันนี้

นั่นน่าจะมีหลายเหตุผลที่เป็นเหมือนสายลมช่วยพัดกระพือให้วันวาเลนไทน์ยังคงอยู่ และหนึ่งในนั้น ก็น่าจะมาจากการแข่งขันกันของธุรกิจช็อกโกแลตอย่างดุเดือดในทั่วทุกมุมโลก

ลองนึกภาพง่ายๆ ว่า ถ้าในวันแห่งความรัก ไม่มีกิจกรรมอะไรเลย มีแต่การบอกรัก มอบกุหลาบเพื่อแสดงความรัก ไม่มีเรื่องของแบรนด์ หรือการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คงไม่ได้สร้างสีสัน หรือกระแสความยั่งยืนให้กับวันนี้อย่างที่ผู้คนตื่นเต้นในปัจจุบัน กระนั้น ก็ยังทำให้กุหลาบ มีราคาพุ่งสูงตามหลักดีมานด์ ซัพพลาย นี่แค่สัญลักษณ์เบาๆ

บางคนอาจมองว่าวันสำคัญอื่น อย่างลอยกระทง ก็ไม่เห็นจะมีเรื่องแบรนด์มาช่วยกระพือ แต่อย่าลืมว่า วันลอยกระทง เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีสำคัญมานาน สำคัญแค่ไหน ถึงขนาดถูกบรรจุในตำราเรียนให้เด็กได้ท่องจำกันทั่วประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมให้การทำกระทงเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโรงเรียน มีการจัดงานประกวดเทพีวันลอยกระทง ฯลฯ นั่นคือ สายลมที่ส่งเสริมให้ประเพณีอยู่ต่อไป ยังไม่นับรวมมิวสิคมาร์เก็ตติ้งที่เกิดขึ้นทั่วทุกสารทิศอีก… “วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำในคลองเต็มตลิ่ง ….สนุกกันจริงวันลอยกระทง…..”  ที่เหมือนเป็นมนต์สะกดให้ได้ชักชวนกันไปลอยกระทง แม้จริงๆ แล้วหลายๆ คนอาจจะไม่รู้ว่าจะลอยไปทำไมตามหลักเหตุและผล ไม่เห็นประโยชน์อื่นใด นอกจากความบันเทิงในครอบครัวที่ได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน แต่นั่นก็เพียงพอสำหรับคู่รัก เพราะถือเป็นการเปิดโอกาสให้คู่รักได้นัดแนะกันไปสวีทวี๊ดวิ้ว ประหนึ่งเป็นวันบูชาเทพีจูโนก็ไม่ปาน จะว่าไป ก็คล้ายกับเป็นวันแห่งความรักกลายๆ เพียงแต่สัญลักษณ์ของวันนี้ คือกระทง ไม่ใช่ดอกกุหลาบ หรือช็อกโกแลต

…กลับมาเรื่องวาเลนไทน์

ในช่วงแรกช็อกโกแลตไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับวันวาเลนไทน์ แต่ก็เป็นที่นิยมในกลุ่มชนชั้นสูง เรียกได้ว่าเป็นไอเทมสุดฮิตที่มีมานานแล้ว จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนช่วยผูกเรื่องให้เข้ากับความรัก ซึ่งต้นกำเนิดโบราณเรื่องช็อกโกแลต เริ่มจากชาวมายันที่นำเมล็ดโกโก้มาทำเครื่องดื่ม เพราะมีความหอมหวาน เอาไว้สำหรับหนุ่มสาวแลกกันดื่มในพิธีแต่งงาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมสำหรับงานแต่งของชาวมายัน นั่นคือจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่มีการเชื่อมโยงระหว่างความรัก กับช็อกโกแลต ซึ่งเกิดขึ้น 500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช และก่อนที่จะมีการเฉลิมฉลองวาเลนไทน์ซะด้วยซ้ำ

Chocolate

ต่อมา ปี ค.ศ. 1861 นายริชาร์ด แคดเบอรี (Richard Cadbury) เจ้าของช็อกโกแลตแคดเบอรีชื่อดังชาวอังกฤษ ได้ออกแบบกล่องรูปหัวใจโดยมีกามเทพหรือคิวปิดน้อยยืนอยู่บนกล่อง และนั่นก็ทำให้ช็อกโกแลตถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรัก เชื่อเหลือเกินว่าในยุคนั้นน่าจะมีการทำตามกันอย่างแพร่หลายเช่นกัน นึกง่ายๆ ว่า กิจกรรม 11.11, 12.12 บลาๆ ที่ทำกันแล้วได้รับความนิยมจนเอากันเป็นแบบอย่าง กระทั่งซื้อบ้านยังมีแคมเปญ 12.12 เลย

ค.ศ. 1907 นายมิลตัน เฮอร์ชีย์ (Milton Hershey) ได้ออกช็อกโกแลตที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “เฮอร์ชีส์คิสเซส” (Hershey’s Kisses) ช็อกโกแลตรูปหยดน้ำที่ทำให้นึกถึงรอยจุมพิตเล็กๆ และตอกย้ำให้ทุกคนคิดถึงช็อกโกแลตเข้าไปอีกขั้น และฮิตกันในฝั่งอเมริกา และก็เชื่ออีกว่าเมื่อแบรนด์หนึ่งทำสำเร็จ แบรนด์อื่นก็ได้อาศัยกลยุทธ์การตลาดแบบ “Me Too” เธอทำแล้วดี ฉันทำบ้าง ประมาณนั้น

ค.ศ. 1958 ร้าน Mary’s Chocolatier ในโตเกียวได้เริ่มแคมเปญ เชิญชวนให้ผู้หญิงแสดงความในใจให้คนที่ตัวเองรักด้วยช็อกโกแลต และได้ทำการรณรงค์ ตอกย้ำเรื่อยๆ ในปีต่อๆ มาทำให้บริษัทอื่นๆ ในญี่ปุ่นหันมาเลียนแบบทำตามกันจนทุกวันนี้ …ทำไมไม่ใช่ผู้ชาย นั่นเพราะว่าผู้หญิงมักจะซื้อช็อกโกแลต หรือกินขนมมากว่าผู้ชาย ดังนั้นการกระตุ้นโดยใช้ผู้หญิงง่ายกว่าในเชิงการตลาดแน่นอน และแน่นอน ช็อกโกแลตก็เป็นไอเทมสำคัญสำหรับวัน White Day เช่นกัน ซึ่งล้อกันมากับวาเลนไทน์ ถัดกันไปแค่เดือนเดียว แค่สลับขั้วจากหนุ่มให้สาว เป็นสาวให้หนุ่ม แต่ใจความเดียวกัน คือ เพื่อแสดงความรัก

เมื่อมีการแข่งโปรโมทขายช็อกโกแลต หรือกิจกรรมวันวาเลนไทน์กันเรื่อยมาทำให้เราไม่มีทางลืมวันวาเลนไทน์กับกิจกรรมแห่งความรักได้ ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์โปรดเรื่อง Notting Hill ประโยคที่พระเอกตัดพ้อกับนางเอกซุปตาร์ ว่าเขาไม่สามารถลืมเธอได้ “There are just to many pictures of you, too many films”.

# # #

SUS10

SUS10

ตัวแทนคนธรรมดา ที่ชื่นชอบเรื่องของความยั่งยืน ทั้งการใช้ชีวิต เทคโนโลยี และธุรกิจ

Related Articles