รู้มั้ยทะเลน้อยเกี่ยวอะไรกับแรมซาร์ ไซต์ และวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก??

ทะเลน้อย
Share

 

รู้มั้ยทะเลน้อยเกี่ยวอะไรกับแรมซาร์ ไซต์ และวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก??

 

ธรรมชาติค่อยๆ เก็บม่านสีทึบของยามราตรี แสงแรกจากดวงอาทิตย์ส่งให้พื้นน้ำกลายเป็นสีทอง ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงชมพูตัดกับยอขนาดยักษ์ที่ปากน้ำปากประ ลมเย็นสดชื่นของยามเช้าพัดมาปะทะหน้ายามเรือหางยาวลำใหญ่พุ่งปราดไปตามลำน้ำเพื่อออกไปสู่จุดหมายเช้านี้ .. ทะเลน้อย พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ของจังหวัดพัทลุงที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) ผืนแรกของประเทศไทย

“ไปเช้าๆ จะได้ไปดูแสงเช้ากับยอยักษ์แล้วต่อไปลอยเรือดูนกน้ำ”

“ฤดูนี้นกบินอพยพกันมาเยอะ ดูนกแล้วค่อยไปดูบัวกัน” เสียงของคุณลุงสนั่น เจ้าของบ้านและเจ้าของเรือที่นั่งอยู่อธิบายมาจากด้านหลัง

ทะเลน้อย

“ทะเลน้อย” หรือ “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” มีอาณาบริเวณราว 17,500 ไร่ เป็นพื้นที่ของทะเลสาบน้ำจืดที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ตัวทะเลน้อยมีพื้นที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา ล้อมรอบด้วย “พรุควนขี้เสียน” ซึ่งมีอาณาบริเวณโดยประมาณที่ 285,625 ไร่ เป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetland” และพื้นที่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยที่ครอบคลุม 3 จังหวัดคือ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช

สายน้ำของทะเลน้อยค่อนข้างใส มองลงไปจะเห็นหญ้าน้ำที่เป็นอาหารของควายน้ำขึ้นหนาแน่น หรือถ้าโชคดีมาถูกช่วงก็อาจได้เห็นสาหร่ายข้าวเหนียวออกดอกบานจนเห็นเป็นสีชมพูอ่อนไปทั้งผืนน้ำ ริมฝั่งอุดมสมบูรณ์ด้วยกอหญ้า พืชน้ำ หรืออาจเป็นกระจูดหนู ดงต้นกงที่ขึ้นหนาแน่นจนมองคล้ายเกาะขนาดย่อม และพืชน้ำต่างๆ มีนกฝูงใหญ่นานาชนิดเกาะกลุ่มหากิน ทั้งเดิน ทั้งบินโฉบหาอาหารอยู่เหนือน้ำในเส้นทางที่เรือแล่นผ่านยังได้เห็นควายน้ำพร้อมลูกแหง่พากันว่ายน้ำสวนไป

ทะเลน้อย ืทะเลน้อย

ไกลออกไปมองเห็นพื้นที่สีชมพูขึ้นเต็มเป็นผืนยาวจนถึงเส้นขอบฟ้า นั่นคือส่วนที่เรียกว่าทะเลบัวแดง บัวสายสีชมพูเข้มจนเกือบแดงบานล้อแดดที่เริ่มจัดและสายลมแรง นกกินปลาหรืออาจจะเป็นนกกาบบัวกำลังก้มๆ เงยๆ หาปลา ทะเลน้อยคือแหล่งนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ คือบ้าน คือแหล่งที่อยู่อาศัย ที่ทำรังและวางไข่ของนกไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพมาจากที่อื่นตามฤดูกาล เช่น นกกาบบัว นกกุลา นกกระสานวล นกกระสาแดง นกแขวก นกเป็ดน้ำ นกกระทุง นกกระเต็น นกช้อนหอย เหยี่ยวและอื่นๆ อีกมากมาย ว่ากันว่าที่นี่คือหนึ่งในแหล่งดูนกน้ำขนาดใหญ่ที่บรรดานักดูนกมุ่งหน้ามาสู่ ในบรรดาเรือที่ลอยลำ ยังเห็นวิถีชาวบ้านที่มาเก็บบัวสายทั้งเพื่อนำไปขาย และนำไปทำอาหาร เป็นพื้นที่ที่คน-สัตว์-ธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบ เรียบง่ายตามแบบฉบับของทะเลน้อย

ต้องขอบคุณที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชที่ประกาศให้ทะเลน้อยเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศ รวมทั้งขอบคุณ “อนุสัญญาแรมซาร์” (Ramsar Convention) ที่ประกาศให้ที่นี่เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ “แรมซาร์ ไซต์” (Ramsar Site) แห่งแรกของไทย ที่ทำให้ระบบนิเวศของทะเลน้อยยังคงความสมบูรณ์จนถึงวันนี้

ทะเลน้อย

อนุสัญญาแรมซาร์ จุดกำเนิด “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” (World Wetlands Days)

หลายคนคงสงสัย “อนุสัญญาแรมซาร์คืออะไร” แล้ว “พื้นที่ชุ่มน้ำโลกสำคัญอย่างไร”

อนุสัญญาแรมซาร์ คือ อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำ (The Convention on Wetlands of International Importance, especially as Waterfowl Habitat) คือความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน เช่น เพื่อการสกัดกั้นและยับยั้งการบุกรุกเข้าครอบครองและการลดถอยของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

พื้นที่ชุ่มน้ำมีส่วนช่วยซับพลังรุนแรงของลมและคลื่น ช่วยปกป้องผืนดิน ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำฝน เป็นแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นรากฐานสำคัญของระบบนิเวศและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญในห่วงโซ่อาหาร เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยและหลบภัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืช  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน นก และอื่นๆ

ประเทศไทยได้เสนอพรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย พัทลุง ขึ้นเป็นแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศในปี 2541 และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลำดับที่ 948 ของโลก

และจากการที่อนุสัญญาแรมซาร์ได้รับการร่างและรับรองจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมกันที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 วันนี้จึงถือเป็น “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” เพื่อระลึกถึงความร่วมมือของนานาชาติในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำให้ยังคงอยู่และคงความอุดมสมบูรณ์ต่อไป

เวลานี้ ทะเลน้อยกำลังเตรียมความพร้อมในการขอการรับรองเพื่อก้าวไปเป็น “พื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก” (Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GIAHS) ภายใต้ชื่อ “Thale Noi Wetland Pastoral Buffalo Agro-ecosystem” หรือ “ระบบนิเวศ-เกษตรการเลี้ยงควายในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เพื่อต่อยอดการปกป้องและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งยังอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ทะเลน้อย

วันนี้ที่โต๊ะทำงาน ภาพถ่ายจากทะเลน้อยใบแล้วใบเล่าที่เปิดผ่านบนหน้าจอ พาให้ย้อนกลับไปนั่งอยู่บนเรือในวันฟ้าสวย น้ำใส สายลมเย็น มีข้าวขมิ้นขยำในห่อกับเกสรดอกลำพู บัวสายผัดกะปิ นกน้ำตัวขาวและตัวดำฝูงใหญ่ที่เดินหากิน โผบินบนฟ้า เสียงเรือหางยาวที่ดังก้องผืนน้ำขนาดใหญ่และอีกมากมายติดตาและติดอยู่ในใจ ได้แต่หมายมั่นว่าสักวันจะกลับไป

 

สวัสดีทะเลน้อย… สุขสันต์วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกในวันนี้ด้วยกัน..

พระจันทร์สีเงิน

พระจันทร์สีเงิน

พระจันทร์สีเงิน นักท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ผู้ตามหารอยเท้าและเรื่องราวระหว่างการเดินทาง ของโบราณสถาน ธรรมชาติรอบตัว และวัฒนธรรมการกินอยู่ของชุมชนต่างๆ รักการถ่ายภาพและการถ่ายทอดลมหายใจของสรรพสิ่งผ่านภาพถ่าย

Related Articles