มากกว่าหวานละมุน พลิกประวัติศาสตร์ “สีชมพู” ก้าวข้ามความเป็นเพศ  

Share

 

พูดถึง “สีชมพู” จะนึกถึงอะไร?

 

เด็กผู้หญิง นมเย็น หมูพิกเล็ท ดอกซากุระ นกฟลามิงโก้ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สื่อถึงความอ่อนหวาน อ่อนโยน ละมุมละไม ยังรวมไปถึงการให้กำลังใจ อย่างเช่น สัญลักษณ์ “โบว์ชมพู” สู้มะเร็งเต้านม

 

แม้ว่า “สีชมพู” แทบจะกลายเป็นสีของเพศหญิง แต่หนุ่มน้อยใหญ่ในสูทชมพูพาสเทลลุคสมาร์ทสไตล์โอปป้าแสนละมุน ก็ทำเอาใจละลายกันมานักต่อนัก ยังมีชุดกระโปรงทรงระบายสีช็อกกี้พิงค์ที่จุดความสดใสในขบวนเฉลิมฉลอง Pride Month ราวกับพาเหรดดอกไม้ของชาว LGBTQ+

ปัจจุบัน “สี” ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญที่การใช้แบ่งแยกเพศหรือวัย แต่ใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ สื่อถึงอารมณ์และความรู้สึก ทั้งยังส่งผลในเชิงจิตวิทยา โดยเฉพาะในด้านการดีไซน์ มีการนำความหมายของสีมาผนวกเข้ากับการออกแบบเพื่อนำเสนอความเป็นตัวตนและภาพลักษณ์ของแบรนด์

ตัวอย่างเช่น “สีเขียว” สื่อถึงความสดใหม่มีคุณภาพ “สีส้ม” คือพลังในการคิดสร้างสรรค์ ความเป็นมิตร และยังช่วยประตุ้นความรู้สึกหิว ช่วยให้เจริญอาหาร จึงมักนำไปใช้ในการออกแบบห้องครัวหรือจานชาม เป็นต้น

 

แล้ว สีชมพู มาจากไหน?

ในทางทฤษฎี สีชมพู มาจากการผสมของ “สีแดง” ที่เต็มไปด้วยพลัง กับ “สีขาว” สีแห่งความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา เกิดเป็นสีที่ให้พลังแห่งความกระตือรือร้น ความอ่อนเยาว์ และความอ่อนโยน

แต่ในทางปฏิบัติ สีชมพูมีอยู่แล้วในธรรมชาติ ระบายอยู่บนฟากฟ้าเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น หรือในยามพลบค่ำ ในโทนสีของนกเขตร้อน เช่น ฟลามิงโก ในอัญมณีบางชนิด เช่น โรโดโครไซด์ (Rhodochrosite) หินที่เชื่อกันว่ามีพลังในการดึงดูความรัก และในดอกไม้นานาชนิด เช่น กุหลาบ ซากุระ ชมพูพันธุ์ทิพย์ นางพญาเสือโคร่ง ฯลฯ

นักประพันธ์รุ่นเก๋าอย่างโฮเมอร์ เคยกล่าวถึงสีชมพูว่าเป็นสีแห่งรุ่งอรุณ อย่างไรก็ตาม “สีชมพู” เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในศตวรรษที่ 17 และกลายเป็นสียอดนิยมสำหรับขุนนางยุโรป ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นสีโปรดของ มาดามเดอ ปอมปาดัวร์ มเหสีผู้เป็นที่รักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่มักจะสวมอาภรณ์สีชมพู

กระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อสีชมพูเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย สถานะที่แสดงความมั่งคั่งและความเป็นขุนนางก็ค่อยๆ จางหายไป

ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สีชมพูถูกนำมาใช้ในโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงเพื่อกระตุ้นให้บรรดาเธอ-เธอลาออกจากงานและหันไปสนใจงานบ้านแทน ในปีพ.ศ. 2496 สีชมพูกลายเป็นสีที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้หญิงอย่างแท้จริง เมื่อ มามี ไอเซนฮาวร์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ สวมเดรสสีชมพูในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของสามี และมาริลิน มอนโรว์ สวมชุดสีชมพูอันเป็นเอกลักษณ์ในภาพยนตร์เรื่อง Gentlemen Prefer Blondes

ในช่วงทศวรรษที่ 60 ความหลงใหลในสีสันของ แจ็คกี้ เคนเนดี ทำให้สีชมพูกลับมาเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราอีกครั้ง แม้ว่าจะยังคงมีความหมายแฝงถึงความเป็นผู้หญิงก็ตาม

สีชมพูยังเป็นองค์ประกอบหลักของขบวนการป๊อปอาร์ตในสมัยนั้นอีกด้วย ในช่วงทศวรรษที่ 70 และ 80 สีชมพูจุดกระแสความนิยมในแวดวงบันเทิง เช่น ภาพยนตร์สายแดนซ์ที่วาดลีลากันจนเวทีลุกเป็นไฟ อย่าง Grease  และ Pretty in Pink ในช่วงทศวรรษที่ 90 สีชมพูเป็นสีอย่างเป็นทางการของดนตรีป๊อป ให้นึกถึง “Cone Bra”  ผลงาน ฌอง ปอล โกลติเยร์ ที่มาดอนน่า สวมขึ้นคอนเสิร์ตในตำนาน หลังจากนั้นสีชมพูยังเจิดจรัสในวงการบันเทิงช่วงปี 2000 ด้วย Legally Blonde  และ Mean Girls

Source: https://edition.cnn.com/style/article/madonna-cone-bra-remember-when/index.html

ปี พ.ศ. 2534 สีชมพูเริ่มมีบทบาทเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังสามัคคี เมื่อริบบิ้นสีชมพูกลายเป็นสัญลักษณ์สากลสร้างความตระหนักต่อโรคมะเร็งเต้านม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมามีหลายกลุ่มใช้สีชมพูเพื่อปลุกจิตสำนึกหรือแสดงพลัง เช่น นางเลนี โรเบรโต อดีตทนายความและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวฟิลิปปส์ ใช้สีชมพูเป็นสัญลักษณ์เรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาสู่ค่านิยมที่ให้ความสำคัญต่อครอบครัว และหลักพื้นฐานแห่งกฎหมาย ในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ครั้งที่ผ่านมา เป็นต้น

23 มิถุนายน ตรงกับ “วันสีชมพู” (National Pink Day) เป็นวาระพิเศษที่ทุกคนจะได้แต่งแต้มสีชมพูให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หน้า ผม เครื่องประดับ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเพศใด.

 

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles