ทำไมต้องมี pi day? ที่ไม่ใช่ Pride day หรือ Pie day…
ค่าพาย π เป็นค่าคงตัวทางคณิตศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในหลากหลายสาขา ไม่เพียงคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันของเรา ค่าพายยังใช้ในสูตรและสมการที่ใช้คำนวณและอธิบายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มากมาย
ทั้งนี้ เนื่องจาก π เกี่ยวกับวงกลม คนที่ตื่นเต้นกับวันนี้จึงใช้ขนมพายเป็นอาหารแห่งการเฉลิมฉลอง ตั้งเเต่ที่เป็นพายขนมหวาน พายอาหารคาว หรือพิซซ่าทรงกลมก็มี โดยเริ่มจากนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน แลร์รี ชอว์ จัดให้มีการเลี้ยงพายเป็นการเฉลิมฉลองภายในที่ทำงานของเขาที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Exploratorium ในนครซานฟรานซิสโก
อีก 21 ปีต่อมา (ปี 2552) รัฐสภาอเมริกันจึงกำหนดให้วันที่ 14 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญ โดยหวังว่าจะทำให้คนสนใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น อ้างอิงจากตัวเลข 3 ตัวแรกของค่าพาย คือ 3.14
กว่าจะได้ “ค่าพาย”
…เพราะคณิตศาสตร์เป็นเรื่องน่าปวดเศียร โดยเฉพาะก่อนจะมีสูตรสำเร็จในการคำนวณสิ่งต่างๆ อย่าง ค่าพาย
ก่อนหน้าจะได้ค่าพายอย่างเป็นทางการ…แต่ยังไม่เบ็ดเสร็จ เพราะตัวเลขทศนิยมที่ไม่รู้จบ นับตั้งแต่ยุคโบร่ำโบราณ นักคณิตศาสตร์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นชาวอียิปต์ บาบิโลเนียน อินเดีย จีน ฯลฯ ต่างมีความพยายามอย่างยิ่งในการคำนวณหาค่าพายที่ถูกต้องและละเอียดแม่นยำที่สุด จนมาในยุคกรีก ด้วยวิธีการสร้างรูปหลายเหลี่ยมใส่ในวงกลม ยิ่งมากเหลี่ยมเท่าไรก็จะได้ค่าที่ใกล้เคียงมากขึ้นเท่านั้น
ล่าสุด ปี 2565 ทีมนักวิทยาศาสตร์สวิตเซอร์แลนด์ ได้คำนวณค่าพายออกมาได้เป็นทศนิยม 62.8 ล้านล้านหลัก! ด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และใช้เวลานาน 108 วัน กับอีก 9 ชั่วโมงในการคำนวณ
ไม่แปลกที่สรุปสุดท้ายจะใช้ค่าประมาณการกันที่ 3.1415926 หรือ 3.14 ก็พออนุโลม ส่วน 22/7 เป็นค่าตัวเลขที่อาร์คีมีดีส คำนวณโดยการสร้างรูปเหลี่ยม 96 เหลี่ยมใส่ลงในวงกลม
ส่วนสัญลักษณ์แทนค่าพายปรากฏเป็นครั้งแรกในหน้าตา π เช่นที่เรารู้จักกันจาก ในหนังสือ Synopsis Palmariorum Mathesios หรือ A New Introduction to the Mathematics (1706) โดยนักคณิตศาสตร์ชาวเวลส์ ชื่อ วิลเลียม โจนส์ นำมาจากอักษรกรีก จากคำว่า Periphery หมายถึง เส้นรอบวงในภาษาอังกฤษ ซึ่งถ้าเป็นภาษากรีกจะเขียนขึ้นต้นด้วย Pi
อีกความน่าสนใจคือ วันที่ 14 มีนาคม นอกจากจะเป็นวันพายเดย์ ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Enstein) และอีกวาระคือ “วันคณิตศาสตร์โลก” หรือ World Math Day สืบเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการแข่งขันคณิตศาสตร์สุดยิ่งใหญ่ผ่านเครื่องมือที่มีชื่อว่า Mathletics ของบริษัท 3P Learning มีนักเรียนทั่วโลกรวมเข้าแข่งขันและพัฒนาวงการคณิตศาสตร์มากกว่า 4 ล้านคน โดยจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2550 ซึ่งตรงกับวัน พายเดย์
ฉะนั้นกิจกรรมหลักๆ ของวันพายเดย์ หรือ วันคณิตศาสตร์โลก จะเป็นการแข่งขันทางคณิตศาสตร์ การพัฒนาและพูดคุยเกี่ยวกับคณิตศาสตร์กันทั่วโลก หรือใครไม่ถนัดจะเปลี่ยนเป็นแข่งขันกินพายก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด.
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่