โลกร้อน ทำหมีนอนไม่หลับ เดินงัวเงียไปทั่วไซบีเรีย

Insomnia Bear เมื่อสถานการณ์น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำหมีนอนไม่หลับ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่เรื่องของน้ำแข็งที่ละลายทำให้สัตว์ต่างๆ เริ่มใช้ชีวิตยาก
Share

 

ทุกคนบนโลกนั้นรู้สถานการณ์การละลายตัวของน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ เรื่องนี้ไม่ได้ก่อปัญหาแค่การเพิ่มอุณหภูมิในโลกแปรปรวน แต่ยังสร้างปัญหาเดือดร้อนไปยังสัตว์ที่อาศัยอยู่ที่นั่น

 

ไม่ใช่เรื่องโจ๊ก แต่เป็นเรื่องเศร้าที่บ่งชี้ว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นทุกขณะกำลังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของสัตว์หลายๆ ชนิด อย่างเช่น หมี จนกลายเป็น Insomnia Bear แทนที่ Siberian Bear ไปแล้ว

 

หนึ่งในบรรดาสัตว์ที่เรามักได้ยินเรื่องราวที่ผิดแผกแตกต่างไปกว่าปกติวิสัยคือ “หมี” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเนื่องจากภาวะโลกร้อน ส่วนหนึ่งมาจากการมีสถานีเฝ้าระวังสำหรับนักวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาร์กติก เพราะอะไรที่เกิดขึ้นที่นี่ย่อมส่งผลกระทบต่อโลกทั้งใบ

ไม่เพียงการได้ทราบข่าวอยู่บ่อยครั้งของหมีขั้วโลก ที่ต้องออกเร่ร่อนจากบ้านเกิด เพราะน้ำแข็งขั้วโลกซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยค่อยๆ ละลายหายไปทีละเล็กละน้อย เนื่องด้วยผลกระทบจาภภาวะโลกร้อน ยังมีหมีสีน้ำตาล หรือหมีกริซลี ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มจะบุกรุกเมืองบ่อยครั้ง โดยเฉพาะปีนี้ เชื่อว่าน่าจะเกิดจากลูกโอ๊คและถั่วบีชในป่าลดน้อยลง ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

ไม่เฉพาะคนที่นอนไม่หลับ หมีก็เริ่มเจอแล้ว

นี่ยังไม่นับการเกิดหมีสายพันธุ์ใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ หมีพิซลี (pizzly bears) อันเป็นส่วนผสมของหมีขั้วโลก (polar bears) และหมีกริซลี (grizzly bears)

มาวันนี้มีรายงานถึงพฤติกรรมผิดปกติอย่างยิ่งของหมีหลายสายพันธุ์ในเขตอามูร์ (Amur Region) ของรัสเซีย ซึ่งช่วงเวลานี้จะต้องเป็นช่วงของการจำศีล กลับเดินไปเดินมาด้วยท่าทีง่วงงุน แต่ไม่ยอมหลับยอมนอน โดยสำนักข่าว บีบีซี ไทย รายงานว่า สาเหตุมาจากอากาศช่วงต้นฤดูหนาวปีนี้อุ่นเกินกว่าจะจำศีลได้ ทั้งที่ควรจะเข้าไปอยู่ในโพรงตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมแล้ว

ทั้งนี้ สำนักงานพิทักษ์สัตว์ป่าของเขตอามูร์ ระบุผ่านทางแอปพลิเคชันเทเลแกรม เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า สภาพอากาศช่วงรอยต่อระหว่างปลายฤดูใบไม้ร่วงและต้นฤดูหนาวของปีนี้ มีความอบอุ่นเกินปกติจนหมีในบางพื้นที่พากันเดินไปมาอยู่โดยรอบโพรงของมัน ทั้งที่ควรจะเริ่มเข้าจำศีลตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมแล้ว

เจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าระบุว่า หมีส่วนใหญ่ที่มีอาการนอนไม่หลับนี้เป็นตัวผู้ ในขณะที่หมีตัวเมียซึ่งมีลูกเล็กเข้านอนหลับจำศีลในรังอย่างตรงเวลา สันนิษฐานว่า การที่หมีตัวผู้ต้องเดินไปมาแบบคนง่วงงัวเงียแต่ก็ไม่ยอมนอนเช่นนี้ แม้ว่าร่างกายได้ลดอัตราการเผาผลาญใช้พลังงานหรือเมตาบอลิซึมลงมากแล้ว เพราะสภาพอากาศที่ยังอุ่นเกินไป

ตามปกติแล้วหมีจะหลับจำศีลในโพรงตลอดฤดูหนาว และจะออกจากการจำศีลในฤดูใบไม้ผลิเมื่ออาหารในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยหมีนั้นแตกต่างจากสัตว์ที่จำศีลชนิดอื่นๆ ตรงที่ตัวมันจะเป็นผู้กำหนดว่าจะเริ่มจำศีลเมื่อไหร่ โดยพิจารณาจากสัญญาณต่างๆ ในธรรมชาติ เช่นปริมาณอาหารและระดับอุณหภูมิ

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่า มีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างฤดูหนาวที่สั้นลงและระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้น กับระยะเวลานอนหลับจำศีลของหมีซึ่งจะสั้นลงตามไปด้วย โดยอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส จะทำให้หมีตื่นจากการจำศีลและออกจากโพรงเร็วขึ้นโดยเฉลี่ย 3.5 วัน

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนจากหนังสือพิมพ์มอสโกไทม์ที่รายงานว่า สภาพอากาศในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ของเขตอามูร์ ซึ่งตั้งอยู่ไกลสุดทางตะวันออกของรัสเซียและติดกับประเทศจีน ในเดือนตุลาคม และ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีอุณหภูมิสูงทำลายสถิติ อาจทำให้หมีสับสนได้

ผศ.ดร.ออยวินด์ ทูเอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาของสัตว์จากมหาวิทยาลัยอะแลสกาแฟร์แบงค์ส (UAF) ให้ความเห็นในกรณีเดียวกันนี้ว่า อุณหภูมิของพื้นดินที่สูงกว่าจุดเยือกแข็ง ประกอบกับหิมะที่ละลายหยดลงไปในโพรงอาจเป็นอีกปัจจัยทำให้หมีไม่สบายตัว และไม่อาจตัดใจลงไปนอนจำศีลในโพรงได้

“ส่วนสาเหตุที่ทำให้หมีตัวเมียกับลูกน้อยหลับจำศีลได้ตรงเวลานั้น เป็นเพราะแม่หมีคำนึงถึงลูกที่ร่างกายไวต่อการได้รับผลเสียจากอากาศหนาวสูงกว่า เนื่องจากลูกหมีตัวเล็กและมีอัตราการเผาผลาญสูงจนสูญเสียความร้อนได้ง่าย ทั้งยังมีพลังงานเก็บสะสมเอาไว้ในรูปของไขมันน้อยกว่าหมีที่โตเต็มวัยมากด้วย” ผศ.ดร.ทูเอน อธิบาย

แม้ว่า การที่หมีตัวผู้ยังคงเดินไปมาในช่วงต้นฤดูหนาวแทนที่จะจำศีล ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะในบางกรณีหมีตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่สามารถจะตื่นอยู่ในช่วงที่อากาศยังหนาวเย็นไม่มากนักได้ โดยมันจะเพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกายขึ้นเล็กน้อยขณะที่เคลื่อนไหวไปมา และทำให้ลดลงได้อีกครั้งเมื่อถึงเวลาจริงๆ ที่ต้องนอนพักผ่อนยาวในโพรง

แต่อย่าลืมว่า นี่คือสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจน เตือนว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเริ่มส่งผลกระทบกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเราทุกขณะ แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้ภาพที่น่าจะได้เห็นคงไม่ได้มีเพียงการสูญพันธุ์ของสัตว์หลายๆ ชนิด มนุษย์ก็อยู่ในห่วงโซ่นั้นด้วย ถ้าเรายังคงไม่แก้ไขและหยุดการทำร้ายทำลายธรรมชาติอย่างจริงจังสักที.

คำถามก็คือ จะช่วยน้องหมีเหล่านี้ให้พ้นจากสภาวะ Insomnia Bear หรือภาวะการนอนไม่หลับนี้ได้อย่างไร เร่งด่วนตอนนี้ก็คือการคืนธรรมดาชาติให้กลับไปใกช้เคียงที่สุด แต่ดูเหมือนใน COP28 เองก็ยังไม่ค่อยชัดเจนว่าเราจะลดความร้อนบนโลกลง 1.5 องศา ได้อย่างไร

 

หมายเหตุ : เกี่ยวกับปัญหาเรื่องโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน คือ การที่ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Green house effect ซึ่งมีต้นเหตุจากการที่มนุษย์ ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ การขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้น มนุษย์เรายังได้เพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโรคาร์บอน (CFC) เข้าไปอีกด้วย พร้อมๆกับการที่เราตัดและทำลาย ป่าไม้จำนวนมหาศาลเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ ทำให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศถูกลดทอนประสิทธิภาพลง และในที่สุดสิ่งต่างๆที่เราได้กระทำต่อโลกได้หวนกลับมาสู่เราในลักษณะของภาวะโลกร้อน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซี่งปรากฏการณ์ทั้งหลายเกิดจากภาวะโลกร้อนขึ้นที่มีมูลเหตุมาจากการปล่อยก๊าซพิษต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้แสงอาทิตย์ส่องทะลุผ่านชั้นบรรยากาศมาสู่พื้นโลกได้มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นที่รู้จักกันโดยเรียกว่า สภาวะเรือนกระจก

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเพราะการ เปลี่ยนแปลงของก๊าซในบรรยากาศ สาเหตุใหญ่มาจากมนุษย์เป็นผู้กระทำและเชื่อกันว่า อุณหภูมิของโลกที่ สูงขึ้นเป็นผลเนื่องมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจาก การสะสมของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ในชั้นบรรยากาศมากกว่าปกติ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ ก๊าชเรือนกระจก จะทำให้บรรยากาศโลกกักเก็บพลังงานความร้อนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสมดุลของพลังงาน เปลี่ยนแปลงไปและจะมีผลกระทบต่อเนื่องนานัปการ

ก๊าซเรือนกระจกในธรรมชาติ ประกอบด้วย ไอน้ำ (H2O) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โอโซน (O3) มีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซเหล่านี้ตามธรรมชาติมีปริมาณรวมกันไม่ถึงร้อยละ 1 ของ บรรยากาศ ซึ่งทำให้โลกมีความอบอุ่นอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

 

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles