Be My Bearentine! 122 ปี “เท็ดดี้แบร์” กร้าวใจใครทั้งโลก  เบื้องหลังการยึดครองพื้นที่ในใจมหาชน

Share

 

ใครไม่เคยมีตุ๊กตาหมียกมือขึ้น!

 

การมอบตุ๊กตาน้องหมีเป็นของขวัญ อย่างไรก็ถูกใจผู้รับ ยิ่งหมีตัวโตเท่าไร รอยยิ้มผู้รับยิ่งกว้างขึ้นเท่านั้น หรือจะเป็นหมีตัวน้อยๆ ก็ไม่เคยถูกตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์

เป็นเวลา 122 ปีแล้ว ที่หมีน้อย “เท็ดดี้แบร์” ได้รับการแนะนำตัวให้ชาวโลกรู้จัก

ใช่ กำลังพูดถึง “เท็ดดี้แบร์” ตุ๊กตาหมีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพลายเส้นการ์ตูนฝีมือ คลิฟฟอร์ด แบร์รีแมน ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1902 สื่อถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 26 ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ที่ปฏิเสธการยิงลูกหมีที่ถูกล่าม เมื่อครั้งเดินทางไปมิสซิสซิปปีช่วยเจรจาปัญหาเส้นแบ่งพรมแดนรัฐ แล้วเจ้าภาพชวนไปล่าหมีในป่า แต่เผอิญไม่เจอหมี จึงนำลูกหมีมาให้แทน

ภาพดังกล่าวเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก รวมทั้งกับสองสามีภรรยา มอร์ริสและโรส มิชทอมส์ เจ้าของร้านขายลูกกวาดและเครื่องเขียนแห่งหนึ่งในนิวยอร์ค จึงทำตุ๊กตาหมีขึ้นเพื่อยกย่องการกระทำของประธานาธิบดีรูสเวลต์ วางจำหน่ายในร้าน ปรากฏว่ามีลูกค้าชื่นชอบจำนวนมาก ทั้งคู่จึงเปิดโรงงานทำตุ๊กตาหมีจำหน่ายเป็นแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา โดยขออนุญาตนำชื่อ “เท็ดดี้” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของท่าน มาตั้งเป็นชื่อของตุ๊กตาหมี

เสน่ห์ของตุ๊กตาหมีกับรางวัลขวัญใจมหาชน

นอกจากการเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนโยน อบอุ่น ตุ๊กตายัดไส้ตัวนุ่มๆ เวลากอดยังให้ความรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย  เป็นเซฟโซน (Comfort Zone) ของเด็กๆ พาข้ามผ่านความกังวล โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาต่างๆ เสมือนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จึงไม่แปลกที่บางคนแม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะยังคงมีตุ๊กตาเป็นเพื่อนกอดนอน

สอดรับกับงานวิจัยเชิงจิตวิทยาวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่เด็กๆ ติดตุ๊กตาหมีว่า ความรู้สึกไม่ต่างๆ จากเด็กที่ติด “น้องเน่า” ซึ่งอาจจะเป็นตุ๊กตา หมอนข้าง หรือผ้าห่มเก่าๆ ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นเหมือนการนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในวัยเยาว์ ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกใบเล็กที่เต็มไปด้วยมิตรภาพที่อบอุ่นและอ่อนโยน

ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็น “วัตถุเปลี่ยนผ่าน” (Transitional Object) ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการก้าวข้ามจากวัยเด็กน้อยไปสู่วัยผู้ใหญ่ ค่อยๆ เรียนรู้ได้ว่าแม่ไม่สามารถอยู่กับเขาได้ตลอดเวลา โดยตุ๊กตาหมีเป็นเสมือนเพื่อน เป็นพี่เลี้ยงคอยอยู่ข้างๆ ตลอด

ที่น่าสนใจคือ Atomik Research บริษัทวิจัยการตลาด ซึ่งร่วมกับ Build-A-Bear ร้านจำหน่ายตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ และตุ๊กตาสัตว์อื่นๆ สัญชาติอเมริกัน ทำการสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวน 2,000 คน พบว่า 40% มีตุ๊กตาข้างกายเวลานอนหลับ กว่า 56% ครอบครองตุ๊กตาตัวโปรดมานานกว่า 20 ปี และกว่า 72% วางแผนว่าจะเก็บมันไว้ไปตลอดกาล

ทั้งนี้ นักจิตวิทยาเชื่อว่า Comfort Objects เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายและความไม่แน่นอนในชีวิต หลายคนหันไปกอดตุ๊กตาหมี พูดคุยและเล่นกับมัน การมีตุ๊กตาหมีอยู่ข้างๆ เหมือนมีเพื่อน มีสิ่งที่ให้ยึดมั่นและรู้สึกปลอดภัย

หรืออีกนัยหนึ่ง การได้กอดได้สัมผัสกับสิ่งที่นุ่มนิ่ม ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง ตุ๊กตายัดไส้ หรือน้องเน่า ยังช่วยกระตุ้นระบบประสาทสื่อไปยังสมองให้หลั่งสารอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งจะไปลดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ทำให้รู้สึกสบายใจ ลดอาการปวด สร้างความเชื่อใจ และทำให้ทักษะการเข้าสังคมดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีสาร “ซีโรโทนิน” (Serotonin) ที่จะช่วยลดความกังวล เพิ่มความสุข และทำให้ใจสงบ

Be My Bearentine! วันแห่งความรักปีนี้ถ้านึกอะไรไม่ออก ลองมอบตุ๊กตาหมีสักตัวเป็นของขวัญแทนใจจากผู้ให้ถึงผู้รับ เชื่อว่าจะได้รับรอยยิ้มแสนหวานคืนกลับมาแน่นอน.

 

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles