Where FOOD Begins ถึงเวลา “ดิน” โลก เมื่อโลกปลอดภัย คนปลอดภัย

World Soil Day วันที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม
Share

 

เวลาพูดถึงน้ำท่วม ฝนแล้ง พูดถึงการเกิดโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ พูดถึงภาวะอากาศสุดขั้ว และวิกฤตต่างๆ นานาที่ถาโถมกันมามากมาย ฯลฯ หลายคนมองว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ทว่า ปัจจุบันการตั้งเป้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องขับเคลื่อนทุกปัจจัยไปพร้อมกัน เพราะคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งเชื่อมร้อยกันหมด…รวมถึง “ดิน”

 

วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี นอกจากจะเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อถวายราชสดุดีพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สืบเนื่องจากพระราชกรณียกิจด้านการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก เป็นที่มาของการได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Soil Scientist Award) เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียวของโลก

ไม่ว่าจะเป็นพระราชดำริให้มีการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝก วัชพืชมหัศจรรย์ที่มีรากยาวถึง 3 เมตร ช่วยยึดไม่ให้หน้าดินพังทลาย ลดแรงปะทะของน้ำฝนที่ไหลบ่าลงมากรณีที่ปลูกเรียงกันเป็นแนวขวางการลาดเทของพื้นที่ ยังช่วยดูดซับเก็บกักความชื้นให้กับดิน

หรือทฤษฎีแกล้งดิน การแก้ปัญหาดินแร้นแค้น ฯลฯ นั่นเพราะดินเป็นทรัพยากรที่ก่อกำเนิดชีวิตมากมาย ดินดีคือพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น โดยเฉพาะเมืองกสิกรรม ที่มีเกษตรเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ

ดินยังเป็นแหล่งกำเนิดของปัจจัยต่างๆ ทั้งอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย พลังงาน กล่าวกันว่าอาหารร้อยละ 95 กำเนิดมาจากดิน การที่ดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ย่อมหมายถึงครัวของโลกที่อุดมสมบูรณ์เช่นกัน

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ทั้ง 6 แห่งจึงเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นห้องเรียนให้ความรู้เชิงปฏิบัติการแก่ประชาชนได้เข้าศึกษาตัวอย่างจากของจริง และนำกลับไปปฏิบัติได้เอง รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงที่ตอบปัญหาเกี่ยวกับดิน

เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มาจากการแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมและเป็นดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส แก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร แก้ปัญหาดินเค็มและดินเสื่อมโทรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับการเกษตรมากกว่า 4,000 โครงการ ล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและปรับปรุงดินแทบทั้งสิ้น

5 ธันวาคม World Soil Day

ในวาระวันดินโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ถือเป็นโอกาสขับเคลื่อนกิจกรรมรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยปีนี้เป็นหัวข้อ “อาหารก่อกำเนิด เกิดจากดิน” (Soil : where food begins) เน้นความสำคัญของการสร้างสุขภาพดินที่ดี ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามแนว One Health

ทั้งนี้ One Health หรือที่ย่อมาจาก Our Necessity Encourage Human Environment Animal Living Together Harmony ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่แนวคิดนี้เป็นที่พูดถึงและดำเนินการร่วมกันมาในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งแรกโดย 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการระบาดของโรคระบาดที่มีสัตว์เป็นพาหะและติดต่อสู่คน เนื่องจากนับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะเห็นว่ามีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ มีไม่น้อยที่สาเหตุจากสัตว์ เช่น โรคซาร์ส หวัดนก อีโบลา (จากค้างคาว) โรคชิคุนกุนยา ไข้เลือดออกและมาเลเรีย (จากยุง) รวมทั้งล่าสุดที่กำลังเผชิญอยู่คือ โควิด-19 เป็นต้น

แนวคิด One Health จึงหมายถึงการพัฒนาสุขภาพคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ตามกรอบเป้าหมาย Four Better ของ FAO คือ Better Product การผลิตที่ดีขึ้น Better Nutrition โภชนาการที่ดีขึ้น Better Environment สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และ Better Life ชีวิตที่ดีขึ้น

เชื่อมความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิอากาศ และ Nature-based Solutions เข้าด้วยกัน เพื่อให้โลกแข็งแรงขึ้น สามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้คนจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย.

 

ถ้าคุณชอบเรื่องราวของ สาระ ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles