“กรุงเทพ กลางแปลง” เทศกาลพาย้อนยุคกับมหรสพยามค่ำคืนสำหรับคนรักหนัง พลังซอฟต์ พาวเวอร์ เพื่อการแบรนดิ้งกรุงเทพฯ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ท่ามกลางกระแสของ “เมตาเวิร์ส” และการเติบโตของสื่อบันเทิงดิจิทัลอย่างภาพยนต์บนออนไลน์สตรีมมิง
มนตร์เสน่ห์ของ “หนังกลางแปลง” เสียงพูดคุย รอยยิ้ม และความสุนทรีย์ยามค่ำคืนแบบเก่าๆ ที่เคยเลือนหายไปกำลังจะกลับมา ถึงเวลาเตรียมขนมขบเคี้ยว ลูกชิ้นปิ้ง ปลาหมึกย่าง ข้าวโพดคั่ว เครื่องดื่ม เพื่อเติมความรื่นรมย์ให้กับการดูหนังยามค่ำคืน
เริ่มต้นวันนี้แล้ว ที่พื้นที่โล่งกว้างกลางแจ้งของสถานที่ต่างๆ 10 แห่งในกรุงเทพมหานครจะกลายมาเป็นลานของการดูหนังกลางแจ้ง ทั้งหนังกลางเก่ากลางใหม่ หนังต่างประเทศ และหนังเก่าจริงๆ ที่เคยออกฉายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2502 มาถึงยุคปัจจุบันรวมทั้งหมด 25 เรื่อง เพื่อความสุข เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มให้คนกรุง ตั้งแต่นี้ไปจนจบเดือนกรกฎาคม โดยภาพยนต์ที่คัดมาถูกเลือกให้เหมาะสมสอดคล้องกัน ทั้งพื้นที่ถ่ายทำและพื้นที่ที่ฉายเป็นหลัก
โดยภาพยนต์เรื่องแรกที่ประเดิมฉายในวันนี้ (7 กรกฎาคม) คือ ‘2499 อันธพาลครองเมือง (2540)’ ภาพยนต์แอคชัน-ดราม่าที่เล่าถึงกรุงเทพมหานครยุคก่อนพุทธศักราช 2500 ตามด้วย ‘เวลาในขวดแก้ว (2534)’ ที่สะท้อนชีวิตและปัญหาของวัยรุ่นทั้งในเรื่องครอบครัว ความรัก การศึกษา สังคม และการเมือง (8 กรกฎาคม) และ “แพรดำ (2504)” ภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์เรื่องแรกของไทย ที่เป็นหนังอาชญากรรม-ชีวิต แฝงด้วยปรัชญาพุทธศาสนา ของผู้กำกับฯ “รัตน์ เปสตันยี” ที่ได้รับการบูรณะ-ทำต้นฉบับใหม่ (รีมาสเตอร์) ในระบบ 4K โดยหอภาพยนตร์ฯ และได้รับคัดเลือกอย่างเป็นทางการจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ให้เป็นผลงานที่อยู่ในสาย “คานส์ คลาสสิกส์ 2020” (9 กรกฎาคม) ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ก่อนไปดูหนัง มาทำความรู้จักกับหนังกลางแปลงกันสักนิดว่าจริงๆ แล้วมีที่มาจากที่ไหนและถูกนำเข้ามายัง ‘สยาม’ หรือประเทศไทยเมื่อใด
ภาพยนตร์หรือซีเนมาโทกราฟ (cinematograph) เริ่มเข้ามาในสยามตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยคณะละครเร่ฝรั่งได้นำภาพยนตร์ฝรั่งเข้ามาจัดฉายสู่สายตาสาธารณะชนครั้งแรกในปีพ.ศ. 2440 ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ นับแต่นั้นภาพยนตร์จึงเป็นมหรสพแบบใหม่ที่ได้รับความนิยม จากกระแสความชื่นชอบที่เพิ่มขึ้นผนวกกับข้อจำกัดในการฉายภาพยนตร์ที่ต้องฉายในสถานที่ปิด ทำให้คณะหนังเร่เริ่มปรับและดัดแปลงรูปแบบการฉายเพื่อให้คนดูเข้าถึงได้มากขึ้น จึงนำมาสู่การฉายหนังกลางแปลงมหรสพบันเทิงยามค่ำคืนในที่สุด
ครั้งหนึ่งในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยอิทธิพลจากโลกตะวันตก หนังกลางแปลงก็ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงที่ภาครัฐและภาคเอกชนต่างใช้ในการสื่อสาร เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสาร หรือโฆษณาผ่านทั้งหนังเร่ หนังขายยาไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดห่างไกล
การเกิดขึ้นของปรากฎการณ์หนังกลางแปลงย้อนยุค นอกจากตั้งใจที่จะคืนรอยยิ้มให้ชาวเมือง ยังมีความหวังในการใช้พลังของ “ซอฟต์ พาวเวอร์” ผสานรวมกับแผนยุทธศาสตร์และการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อช่วยสร้างชื่อหรือเป็นการ “แบรนดิ้ง” กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยว ให้กรุงเทพฯ ได้กลับมาครองตำแหน่งเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 อีกครั้ง พร้อมทั้งช่วยฟื้นฟูธุรกิจและเศรษฐกิจอันเป็นเป้าหมายถัดมา
ก่อนการเกิดโควิด-19 ตัวเลขเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครมีมูลค่าสูงถึง 800,000 ล้านบาทในปี 2562 ดังนั้น แผนงานในส่วนนี้จึงมุ่งหวังว่าจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสร้างงาน และการกลับมาของนักท่องเที่ยว เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
จากจุดเริ่มต้นในวันนี้ “กรุงเทพ กลางแปลง” คือส่วนหนึ่งของแนวคิดริเริ่มในการจัดทำ 12 เทศกาลที่กรุงเทพมหานครจะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งใจทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลแข่งเรือยาว เทศกาลดอกไม้ เทศกาลงานคราฟท์ด้านต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังรวมถึงแผนงานในการจัดทำอัตลักษณ์ของย่านต่างๆ 50 อัตลักษณ์เพื่อหาคุณค่าทางวัฒนธรรม รวมถึงนโยบายในการผลักดันเรื่องคลองที่ย้อนไปถึงการเป็น เวนิสตะวันออก เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเช่นกัน
การ “แบรนดิ้ง” ที่เข้มแข็งให้กับกรุงเทพฯ คือเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญ ในการดึงนักเดินทางที่รักการเสาะแสวงหา “เรื่องราว” ของพื้นที่ท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ และรื่นรมย์กับอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของกรุงเทพ เมืองฟ้าอมรของชาวไทยทุกคน ที่สะท้อนความโดดเด่นของวัฒนธรรมเข้มข้นที่ผ่านการเดินทางอันยาวนาน ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก
เลิกงานวันนี้ อย่าลืมคว้าร่ม เสื้อกันฝน หยิบขนม พร้อมยาทากันยุง แล้วมุ่งหน้าไปลานคนเมือง ความสุนทรีย์แบบย้อนยุคกำลังรอที่จะมอบรอยยิ้มและบรรยากาศที่ถูกลืมเลือนให้กลับมาอีกครั้งในยุคดิจิทัลอันรวดเร็วฉับไวนี้
Credit ที่มา ศิลปวัฒนธรรม , มติชนสุดสัปดาห์