หัวลำโพง…ในทรงจำ

Share

 

หัวลำโพง…ในทรงจำ

 

โดย พระจันทร์สีเงิน

 

จากบทสนทนาตอนหนึ่งของการจองตั๋วรถไฟขบวนพิเศษไปเชียงใหม่ที่ผ่านมา…

เจ้าหน้าที่: “ไปเชียงใหม่ ผู้โดยสารจะขึ้นรถที่สถานีไหนคะ”

ฉัน: “หัวลำโพงค่ะ”

เจ้าหน้าที่: “เริ่มต้นที่สถานีกรุงเทพนะคะ”

ฟังแล้วหยุดคิดนิดนึงแล้วเลยระลึกได้ว่า สถานีหัวลำโพงและสถานีกรุงเทพ คือสถานีรถไฟคนละสถานีกัน นั่นสิ..แล้วทำไมเราถึงเรียกที่นี่ว่าหัวลำโพง

ตั้งแต่จำความได้ รถไฟปู๊นปู๊น ไม้โม้งเม้งที่กั้นถนนเวลารถไฟกำลังจะมาคือสิ่งหนึ่งที่ผนึกแน่นในความทรงจำ ในช่วงเวลาที่ยังเป็นเด็กน้อยและมีบ้านอยู่ในเมือง พ่อมักจะพามานั่งกินลมชมวิวที่ร้านอาหารที่มองเห็นรถไฟวิ่งผ่าน บอกว่าไปดูโม้งเม้งกัน ที่เรียกโม้งเม้งเพราะเวลาไม้กั้นค่อยๆ วางลงจะมีเสียงเตือนฟังคล้ายโม้งเม้งตลอดเวลา พอโตบย้ายบ้านไปอยู่ชานเมือง ก็ตื่นแต่เช้ามานั่งรถไฟเข้าเมืองไปโรงเรียน พอโตขึ้นอีกก็นั่งรถไฟออกไปนอกเมืองเพื่อไปมหาวิทยาลัยตอนปี 1 ส่วนสามปีสุดท้ายก็ยังนั่งมาลงหัวลำโพงเพื่อต่อรถเมล์เพื่อไปเรียน ชีวิตผูกพันกับรถไฟอย่างแน่นเหนียว

และเพราะขึ้นรถไฟเป็นว่าเล่น แน่นอนว่าย่อมมีความผูกพัน และหนึ่งในสถานีที่ผูกพันนั้นย่อมต้องเป็นหัวลำโพง

ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ เรียนพิเศษ หรือไปโน่นมานี่ หัวลำโพงมักเป็นต้นทางหรือปลายทางที่ใช้เดินทางเสมอ ภาพผู้คนที่นั่ง นอน ยืน หรือเดินขวักไขว่ในสถานีเป็นภาพที่ชินตา ยังมีภาพของคนที่แบกข้าวของขนาดใหญ่ลงจากขบวนรถที่มารู้ทีหลังว่านั่นคือข้าวของ หรือข้าวสาร อาหารแห้งที่หลายคนหอบหิ้วมาจากบ้านเกิดเพื่อนำมาใช้ดำรงชีวิตในเมืองหลวงที่ทุกอย่างแพงแสนแพง หัวลำโพงจึงเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางคนทุกเพศ ทุกวัย ให้สามารถลงรถไฟไปต่อรถเมล์ แท็กซี่ สามล้อ เรือ และปัจจุบันรถไฟใต้ดิน ในทุกยุคสมัยที่ผ่านมา

จากที่เคยอ่าน สถานีหัวลำโพงตัวจริงสร้างขึ้นก่อนสถานีรถไฟกรุงเทพที่เป็นสถานีต้นทางของทางรถไฟสายปากน้ำที่มีเส้นทางวิ่งจากกรุงเทพไปสมุทรปราการประมาณ 3 ปี จากนั้นในปี 2439 สถานีรถไฟกรุงเทพที่เรารู้จักจึงถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ไม่ห่างไกลกันโดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี ทรงเป็นประธานในการเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์

หลังจากเติบโตคู่เคียงกันมานาน สถานีรถไฟกรุงเทพก็ได้ปรับปรุงก่อสร้างให้ใหญ่โตขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางที่มีมากขึ้น สมัยหนึ่งเคยมองสถาปัตยกรรมการก่อสร้างของหัวลำโพงด้วยความชื่นชมทั้งการจัดวางตัวอาคาร ทั้งศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ ต่อเมื่อโตมากขึ้น ได้มีโอกาสเดินทางไปในหลายที่เลยรู้ว่าหัวลำโพงหน้าตาเหมือน Hauptbahnhof (ฮับ-บาห์น-โฮฟ) ที่หมายถึงสถานีรถไฟหลัก (central station) ในภาษาเยอรมัน และก็จริงตามนั้นเมื่อหาข้อมูลแล้วพบว่าหัวลำโพงได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี “มาริโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) ด้วยสไตล์อิตาเลียนผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองค์โดยมีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt Hauptbahnhof) ประเทศเยอรมนี

การก่อสร้างของสถานีกรุงเทพส่วนขยายนี้เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และมาเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ 6 สถานีทั้งสองแห่งยังคงให้บริการเคียงคู่กัน จนกระทั่งปี 2503 สถานีรถไฟหัวลำโพงสายปากน้ำจึงปิดตัวเองลง ทำให้สถานีกรุงเทพที่ตั้งอยู่ถูกเข้าใจว่าชื่อหัวลำโพงและถูกเรียกมาจนถึงวันนี้โดยปริยาย

หากหัวลำโพงเป็นคน คงเป็นชายชราอายุ 106 ปี ท่าทางภูมิฐานที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งรอบตัวจากรถลาก รถราง มาสู่รถยนต์ จนมาถึงรถไฟฟ้า จากยุคสงครามโลกมาสู่ยุคสงครามบนไซเบอร์และยุคของโควิด-19 อย่างเงียบงัน ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนผ่านไปแค่ไหน เทคโนโลยีก้าวหน้าไปเพียงใด หัวลำโพงยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การเดินทาง การขนส่งให้กับคนนับหมื่นนับแสนอยู่เช่นเดิม หัวลำโพงอาจดู ล้าหลังแต่ไม่ด้อยคุณค่าทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศ หรือความคลาสสิคด้านความงามของสถาปัตยกรรม และในอีกหลายๆ มุมมองที่อยู่ในความทรงจำของคนอีกหลายคน

ในวันนี้ หัวลำโพงหรือสถานีกรุงเทพ ยังได้ต่อลมหายใจออกไปอีกระยะ ยังคงมีความหวังที่คุณปู่สถานีรถไฟแห่งนี้จะยังไม่ถูกจับเกษียณทั้งที่ยังคงแข็งแรง ในขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้ อนาคตของหัวลำโพงยังไม่ถูกตัดสิน หวังว่าหลังจากนี้สถานีรถไฟกรุงเทพ-หัวลำโพงแห่งนี้ จะยังคงได้รับโอกาสให้ได้ไปต่อ และฉันก็จะยังคงแวะเวียนมาใช้บริการของหัวลำโพงต่อไป

 

รักนะ..หัวลำโพง..ในทรงจำ

 

 

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles