Global Tiger Day: ถึงเวลาเสือโคร่งไทยต้องไปต่อ

Share

 

..เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี..” – บทพระราชนิพนธ์ comedy opera “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ในรัชกาลที่ 6

 

แม้จุดมุ่งหมายของบทประพันธ์ข้างต้นจะมุ่งเน้นที่ความสามัคคีไม่มีการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มเหล่า แต่อีกมุมก็ยังหมายถึงถึงสิ่งที่ต้องพึ่งพากันและกันเพื่อความอยู่รอดไปพร้อมกัน ซึ่งนั่นก็คือระบบนิเวศของทั้งป่าใหญ่ สัตว์ป่า และมนุษย์ ทั้งมวล

Credit: องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

เมื่อวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก หรือ Global Tiger Day เดินทางมาถึง หลายคนอาจยังคงมีคำถามค้างคาใจ – ทำไมต้องอนุรักษ์ อะไรคือความสำคัญที่เรายังต้องมีเสืออยู่ในผืนป่า หรืออนุรักษ์แล้วได้อะไร

คำตอบคือเพราะเสือโคร่ง (Panthera tigris) หรือที่เรียกกันว่าเสือลายพาดกลอน คือสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร (food chain) ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศและยังเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของผืนป่า

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะในฐานะของผู้ล่า เสือโคร่งใช้พื้นที่อาศัยขนาดใหญ่เพื่อการล่าเหยื่อที่หลากหลายเพื่อการดำรงชีวิต หากเสือโคร่งสามารถอาศัยอยู่ได้ในสภาพแวดล้อม ย่อมหมายถึงสัตว์ต่าง ๆ ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติเช่นกัน

นอกจากนี้ การทราบว่าเสือโคร่งกินสัตว์ชนิดใดเป็นอาหาร ทำให้สามารถประเมินจำนวนประชากรของสัตว์ชนิดอื่นได้ด้วย เพราะเสือจะล่าเหยื่อเพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ไม่ได้ล่าเพื่อความสนุกหรือล่าเพื่อกินทิ้งกินขว้าง หากเศษซากของสัตว์ชนิดใดเริ่มน้อยลง หรือไม่มี ก็จะรู้ได้ว่าอาหารของเสือกำลังลดลง

ที่สำคัญ เสือคือตัวช่วยสำคัญในการคัดเลือกพันธุ์ของสัตว์ในห่วงโซ่อาหาร สัตว์ตัวใดที่อ่อนแอ หรือเจ็บป่วยก็จะถูกล่าได้ง่าย ทำให้สามารถยับยั้งการกระจายของโรคในสัตว์นั้นๆ ไม่ให้แพร่ไปไกล  ส่วนตัวที่แข็งแรงจะสามารถอยู่รอด และสืบพันธุ์ต่อไป นั่นหมายความว่าเสือโคร่งคือผู้ทำหน้าที่คัดสรรสายพันธุ์ที่แข็งแรงของมวลประชากรสัตว์ต่างๆ ให้ได้ไปต่ออย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

นอกจากนี้ การล่าและการกินของเสือโคร่งคือการควบคุมประชากรของสัตว์กินพืชไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป เพื่อรักษาความสมดุลย์และความอุดมสมบุรณ์ของผืนป่าอันเป็นประโยชน์ต่อทั้งสัตว์และมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นผู้สร้างแหล่งอาหารให้แก่สัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เพราะซากสัตว์ที่เสือโคร่งกินยังกลายมาเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์เล็กกว่านสายพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนกแร้ง  หรือกระทั่งกลุ่มสัตว์พันธุ์แทะก็ตาม

Credit: องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน ประชากรของเสือโคร่งลดลงจนถูกจัดให้อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ การสูญเสียที่อยู่อาศัย การถูกล่า และปริมาณของสัตว์ที่เป็นเหยื่อลดลง ในอดีตเสือโคร่งมี 9 สายพันธุ์ แต่ตอนนี้เหลือเพียง 6 สายพันธุ์ ได้แก่ เสือโคร่งไซบีเรีย เสือโคร่งเบงกอล เสือโคร่งอินโดจีน เสือโคร่งสุมาตรา เสือโคร่งจีนใต้ เสือโคร่งมลายู เพราะอีก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เสือโคร่งแคสเปียน เสือโคร่งชวา และเสือโคร่งบาหลี นั้นสูญพันธุ์ไปจากผืนป่าแล้ว

ประเทศไทยในฐานะของ 1 ใน 13 ประเทศที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งได้ลงนามข้อตกลงการอนุรักษ์เสือโคร่งไว้หลายฉบับ ซึ่งรวมถึงการลงนามในปี 2553 ที่ ประเทศรัสเซีย เพื่อรับรองปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง (The St. Petersburg Declaration on Tiger Conservation) รวมถึงการลงนามในปฏิญญาหัวหิน (Hua Hin Declaration on Tiger Conservation) ในปีเดียวกัน โดยการลงนามทั้งสองมีเป้าหมายเดียวกันในการส่งเสริมการปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือโคร่ง และเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งให้เป็น 2 เท่าภายในปี 2565

สิบกว่าปีที่ผ่านมา หน่วยงานงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระ ได้พยายาม และร่วมมือกันในการปกป้องคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัย ทั้งเฝ้าระวังและติดตามเหล่าผู้ล่าแห่งผืนป่าเพื่อให้พวกเขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญมีจำนวนประชากรเสือในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น

ท่ามกลางผืนป่าที่มีอาญาเขตขนาดใหญ่ติดต่อกัน  การสร้างระบบติดตามประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อาศัยคือสิ่งสำคัญ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สร้างระบบการสอดส่องดูแลเสือโคร่ง มุ่งเน้นที่ผืนป่าตะวันตก และผืนป่าอื่นๆ ที่มีศักยภาพ รวมทั้งนำเอาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการอนุรักษ์และคุ้มครองถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง เพื่อให้ความปลอดภัยและช่วยให้เสือโคร่งได้มีสืบต่อเผ่าพันธ์และเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการให้ความร่วมมือในการบังคับใช้กฏหมาย อาทิ เครือข่ายการบังคับใช้กฏหมายเพื่อป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฏหมายของอาเซียน (ASEAN-WEN) เครือข่ายการบังคับใช้กฏหมายฯ ของเอเชียใต้ (SA-WEN) เพื่อปกป้องเสือจากการถูกล่า หรือถูกขโมยตัวออกจากผืนป่า

Credit: องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

เป็นที่น่ายินดีที่ความพยายามของทุกฝ่ายในช่วงเวลาที่ผ่านมาช่วยให้จำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติมีเพิ่มขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น จำนวนเสือที่มีอยู่ก็ยังคงน้อยอยู่ดี จากแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ปี 2553-2565 ที่กำลังจะจบลงในปีนี้ ก็ถึงเวลาของ แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ปี 2565-2577 เพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าในอีก 12 ปีข้างหน้าให้ได้เติบโตและขยายตัวอย่างยั่งยืนต่อไป

เพราะถึงเวลาแล้ว… ที่เสือโคร่งไทยต้องไปต่อ

 

ที่มา: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า 

 

พระจันทร์สีเงิน

พระจันทร์สีเงิน

พระจันทร์สีเงิน นักท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ผู้ตามหารอยเท้าและเรื่องราวระหว่างการเดินทาง ของโบราณสถาน ธรรมชาติรอบตัว และวัฒนธรรมการกินอยู่ของชุมชนต่างๆ รักการถ่ายภาพและการถ่ายทอดลมหายใจของสรรพสิ่งผ่านภาพถ่าย

Related Articles