ดอกไม้ไหว้พระพุทธบาท แรงศรัทธาเบื้องหลังประเพณี “ตักบาตรดอกไม้” สระบุรี

Share

 

ท่ามกลางแสงแดดยามบ่าย ผู้คนทั้งยืนทั้งนั่งรายเรียงเพื่อรอตักบาตรพระภิกษุ ในมือมีทั้งขวดน้ำและที่ขาดไม่ได้ดอกไม้เล็กๆ ต่างสีสันพร้อมธูปเทียน

ขวดน้ำเพื่อบรรจงรินรดบนหลังเท้า… เพื่อล้างเท้าพระภิกษุอันเปรียบเสมือนการชำระล้างบาปให้ตนเอง

ดอกเข้าพรรษากำน้อย หรือดอกหงส์เหิน…. เพื่อตักบาตร เพื่อเป็นเครื่องสักการะรอยพระพุทธบาทที่พระมณฑปด้านบน

หลังรับตักบาตร พระภิกษุจะนำดอกไม้ที่ได้รับไปวางไว้ยังพระพุทธบาท ซึ่งเชื่อกันว่าจะส่งผลให้ผู้ที่ทำบุญได้ขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นสวรรค์ชั้นที่ประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ที่บรรจุพระโมลี และพระเขี้ยวแก้วของพระโคตมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

ดอกเข้าพรรษาทั้งน้อยใหญ่ มีสีสันสดใสแตกต่างกัน ชาวอำเภอพระพุทธบาทเชื่อกันว่า กลีบดอกประดับสีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา ขณะที่สีเหลืองคือสีที่สื่อถึงพระสงฆ์ และกลีบประดับสีม่วงอันเป็นสีที่หายากจะส่งผลต่อกุศลผลบุญที่มากขึ้น เพราะฉะนั้น การตักบาตรนี้จึงเปรียบเสมือนหนึ่งได้นำดอกไม้กราบนมัสการแทบเบื้องพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง

มาถึงตรงนี้ สงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าเมื่อพิจารณาให้ลึกลงไป การสักการะพระพุทธบาท หรือตัวพระพุทธบาทเองมีที่มา ความเชื่อ หรือความสำคัญอย่างไรตั้งแต่อดีตที่ผ่านมายาวนานถึงปัจจุบัน

ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาท สืบทอดกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หลังจากมีการค้นพบรอยพระพุทธบาทบนแผ่นหินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี พระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าตัวพระพุทธบาทซึ่งมีความกว้าง 21 นิ้ว ยาว 5 ฟุต ลึก 11 นิ้วนี้ ต้องตามลักษณะลายมงคล 108 ประการ อันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งมหาบุรุษลักษณะ อันประกอบด้วยรูปรอยที่เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความเจริญความอุดมสมบูรณ์ คติเรื่องศูนย์กลางแห่งจักรวาล และอื่นๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปชั่วคราวครอบไว้ และสร้างวัดพระพุทธบาทนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2167

ตามคติของอินเดีย รอยพระพุทธบาทถือเป็น “อุทเทสิกเจดีย์” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศแก่พระพุทธเจ้าหรือแทนองค์พระพุทธเจ้า เป็นของนับถือแทนพระองค์ในยุคสมัยโบราณอันยาวไกลที่การสร้างพระพุทธรูปยังไม่นิยม ขณะที่แนวคิดของลังกา เชื่อกันว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ไว้ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น รอยพระพุทธบาทถือเป็นบริโภคเจดีย์อย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเครื่องบริขารของพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับสังเวชนียสถาน 4 แห่ง อันได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

เชื่อกันว่ารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเหยียบไว้ด้วยพระองค์เอง มีอยู่ 5 แห่ง ได้แก่ เขาสุวรรณมาลิก เขาสุมนกูฏ เมืองโยนก หาดทรายริมลำน้ำนัมมทานที และเขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี

คติการบูชารอยพระพุทธบาทในประเทศไทยสามารถย้อนกลับไปไกลได้ถึงสมัยทวารวดี ซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าชาวพุทธตั้งแต่ในครั้งอดีตมาจนถึงปัจจุบันได้ยึดถือรอยพระพุทธบาทขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์เพื่อน้อมรําลึกถึงและบูชา เพื่อเข้าถึงหลักธรรมและการสืบทอดพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

มาถึงวันนี้ แม้ความเข้าใจถึงที่มา ความสำคัญ และความหมายแฝงในรอยพระพุทธบาทอาจลางเลือน แต่สิ่งหนึ่งที่ใจเข้าใจอย่างชัดเจนคือความสุขและความอิ่มฟูในใจหลังได้ยกช่อดอกไม้กำน้อยวางลงในบาตรพระ เพราะเชื่อว่าหงส์เหินน้อยๆ จะโบยบินเพื่อนำพาความเคารพไปสู่พระพุทธองค์ ณ ดินแดนเบื้องบน

ที่มา: เวบสระบุรี พระพุทธบาท รอยพระพุทธบาทในศิลปะร่วมสมัยไทย: กรณีศึกษา พิชัย นิรันต์ และ พัดยศ พุทธเจริญ

พระจันทร์สีเงิน

พระจันทร์สีเงิน

พระจันทร์สีเงิน นักท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ผู้ตามหารอยเท้าและเรื่องราวระหว่างการเดินทาง ของโบราณสถาน ธรรมชาติรอบตัว และวัฒนธรรมการกินอยู่ของชุมชนต่างๆ รักการถ่ายภาพและการถ่ายทอดลมหายใจของสรรพสิ่งผ่านภาพถ่าย

Related Articles