เรื่องของ “แดร็กคูล่า” กับ ดราม่า 55+

แดร็กคิวล่า ออฟ ฮอร์โมน
Share

 

เรื่องของ “แดร็กคูล่า” กับ ดราม่า 55+

 

เป็นดราม่ากันพอหอมปากหอมคอเมื่อมาร์เก็ตเพลสชื่อดัง อย่าง ค่ายตะกร้าส้มไม่สามารถให้บริการ “เมลาโทนิน” และวิตามินบางชนิดได้ รวมทั้งค่ายชมพู-น้ำเงินก็เกิดเหตุการณ์ลบผลิตภัณฑ์เมลาโทนินออกจากรายการสินค้า ทำให้ร้านค้าออนไลน์ต้องปรับกลยุทธ์ ออกมากวักมือเรียกสาวกกันเบาๆ ให้เข้าไปคุยกันผ่านทางไลน์ได้เหมือนเดิม

ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการค้าขาย เมื่อมีดีมานด์ ซัพพลายก็ต้องสนอง

เหตุผลไม่มีอะไรมาก เพราะเมลาโทนินในประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็น “ยาอันตราย” จำหน่ายได้เฉพาะในร้านขายยาหรือจ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น

คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงออกมาย้ำอีกครั้งว่า การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินตามโซเชียลมีเดียมากมาย รวมทั้งโฆษณาสรรพคุณว่าช่วยการนอนหลับนั้น “ผิดกฎหมาย” เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่หากได้รับติดต่อกันในระยะยาวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่ายกายได้ ประกอบกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเมลาโทนินส่วนมากมีวัตถุประสงค์การจำหน่ายเพื่อช่วยในการนอนหลับ ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวไม่จัดเป็น “อาหาร” ตามนิยามที่กำหนดในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 มีการทลายแหล่งจำหน่ายเยลลี่ผสมกัญชาที่เชียงใหม่ ครั้งนั้นถือเป็นการเตือนครั้งที่ 1 ไปแล้วกับ เยลลี่เมลาโทนินที่ถูกบวกเข้าไปด้วยโดยบังเอิญ

แล้วเมลาโทนินคืออะไร? ทำไมจึงใครๆก็เรียกหา?

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมไพเนียล (pineal gland) มีหน้าที่หลักคือ ควบคุมการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ (internal biological clock) ในร่างกายของเรา ปกติสมองจะผลิตเมลาโทนินออกมาในช่วงเวลา 3 ทุ่ม และจะคงอยู่ในกระแสเลือดเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงจนกระทั่ง 9 โมงเช้า

Melatonin

ด้วยปัจจัยของ “แสงและความสว่าง” ที่ส่งผลต่อการหลั่งเมลาโทนิน คือจะหลั่งออกมาในเวลากลางคืน เมื่ออยู่ในที่มืดและแสงน้อย และร่างกายจะถูกยับยั้งการหลั่งเมลาโทนินเมื่ออยู่ภายใต้แสงไฟ รวมทั้งความสว่างของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือแสงสีฟ้าของสมาร์ทโฟนก็มีผลเช่นกัน ทำให้ฮอร์โมนชนิดนี้มีชื่อเล่นว่า “แดร็กคิวล่า ออฟ ฮอร์โมน”

ส่วนรูปแบบของเมลาโทนินนั้นมีทั้งแบบปลดปล่อยทันที และแบบออกฤทธิ์เนิ่น ซึ่งแบบหลังมีจำหน่ายในประเทศไทย มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับปฐมภูมิระยะสั้น ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป โดยใช้ขนาด 2 มิลลิกรัม กินก่อนเข้านอนประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถใช้สูงสุดติดต่อกันได้เป็นเวลา 13 สัปดาห์

ที่น่าสนใจคือ ลักษณะสำคัญของเมลาโทนินที่จะมีการปลดปล่อยตัวยาออกมาทีละน้อยจนถึงระดับสูงสุด และค่อยๆลดลงตลอดช่วงการนอน ซึ่งคล้ายกับการหลั่งของเมลาโทนินตามธรรมชาติของร่างกาย และยังเหมาะสมกับภาวะการนอนไม่หลับแบบที่มีการตื่นกลางดึกบ่อยๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้การใช้เมลาโทนินได้รับความนิยม

นอกจากนี้เมลาโทนินยังใช้เพื่อรักษาความผิดปกติของนาฬิกาชีวภาพในคนตาบอด รักษากลุ่มอาการนอนผิดเวลาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถนอนหลับได้ก่อน 02.00 น. และมีปัญหาการตื่นนอนตอนเช้า บรรเทาอาการเจ็ตแลค รวมทั้งช่วยการนอนของคนที่ทำงานเป็นกะ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้เมลาโทนินในปริมาณตามกำหนดคือ 2 มิลลิกรัม ค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้ใช้ แต่การใช้ต่อเนื่องกันยาวนานเกิน 13 สัปดาห์ อาจส่งผลเสียให้เกิดอาการ เช่น ง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวัน ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ รวมทั้งอาจเกิดอาการข้างเคียง เช่น ภาวะซึมเศร้าในระยะสั้น อาการมวนท้อง วิตกกังวล หงุดหงิด มึนงง ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น จึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ถ้าไม่ใช้ เมลาโทนิน แล้วมีตัวเลือกอื่นไหม?

เว็บไซต์ goodlifeupdate.com ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหมอสมุนไพรและแพทย์แผนไทย พบว่ามีสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิดที่มีสรรพคุณช่วยคลายเครียด และมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับอ่อนๆ เช่น ใบอ่อนและดอกตูม “ขี้เหล็ก” เมล็ด “ชุมเห็ดเทศ” ดอก “บัวหลวงสีขาว” ต้น “พริกไทย” ใบหรือเถา “พลู” ต้น “ฟ้าทะลายโจร” เป็นต้น

…ที่เหลือก็อยู่ที่ว่าใครชอบใครถนัดแบบไหน.

 

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles