สัญญาณเตือนหายนะ… เบื้องหลัง “นาฬิกาวันสิ้นโลก” กับคำประกาศอีก 90 วินาทีจะเที่ยงคืน!

Share

 

ท่ามกลางสมรภูมิโลกที่ร้อนระอุทุกขณะ ประเทศมหาอำนาจน้อยใหญ่แข่งขันกันสะสมและพัฒนาอาวุธให้ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ แบบไม่มีใครยอมใคร โดยอ้างเหตุผลเพื่อสันติภาพ

มีตัวเลขระบุว่า ทั่วโลกมีหัวรบนิวเคลียร์มากถึง 13,000 ลูก 90% เป็นของรัสเซียและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างน้อย 6 ประเทศที่ประกาศตัวว่าเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ

โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ปากเหวแห่งความวิบัติสักแค่ไหน หนึ่งในสิ่งบ่งชี้ความสุ่มเสี่ยงชนิดที่ไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้อีก คือ นาฬิกาวันสิ้นโลก

“นาฬิกาวันสิ้นโลก” (Doomsday Clock) เป็นนาฬิกาเชิงสัญลักษณ์ เกิดขึ้นเมื่อปี 1947 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งสร้างระเบิดอะตอมหรือที่เรียกระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก ก่อนถูกนำไปใช้โจมตีญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ความที่ได้เห็นผลกระทบจากหายนะที่เกิดขึ้นกับเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ จึงต้องการเตือนให้สาธารณชนได้รับทราบ พร้อมกับการกดดันให้ผู้นำของโลกให้คำมั่นว่าจะไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง

การขยับของเข็มนาฬิกาแต่ละวินาทีจึงเป็นสัญลักษณ์เตือนถึงความหายนะที่คืบคลานเข้ามาใกล้โลกทุกขณะ เพราะเมื่อใดที่เข็มนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนนั่นหมายถึง “หมดเวลา” หรือเกมโอเวอร์ โดยนาฬิกาเริ่มตั้งต้นที่อีก 7 นาทีจะเที่ยงคืน

ก่อนหน้านี้ที่สร้างความตื่นตระหนกอย่างมาก คือในปี 1949 ที่เข็มนาฬิกาขยับมาที่ 3 นาทีจะเที่ยงคืน ผลจากสถานการณ์ที่สหภาพโซเวียตทำการทดสอบนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก และอีกครั้งในปี 1953 เมื่อสหรัฐอเมริกาทดสอบระเบิดไฮโดรเจน เข็มนาฬิกาขยับมาที่ 2 นาทีจะเที่ยงคืน

ล่าสุด ปีที่แล้ว เข็มนาฬิกาขยับมาที่ 90 วินาทีจะเที่ยงคืน ด้วยเหตุผลสนับสนุน 3 เรื่องด้วยกัน คือ ท่าทีของรัสเซียที่มีต่ออาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน สงครามในกาซากับอิสราเอลในฐานะรัฐนิวเคลียร์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลง

แม้ว่าปีนี้การประเมินเข็มนาฬิกายังคงอยู่ในตำแหน่งเดียวกับปีที่แล้ว คือ 90 วินาทีจะเที่ยงคืน แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์โลกจะดีขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการตอกย้ำอีกครั้งสำหรับประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เร่งลงมือถอนฟืนออกจากกองไฟ ก่อนที่จะสายเกินแก้

ราเชล บรอนสัน ประธานขององค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์ด้านปรมาณู หรือ Bulletin of the Atomic Scientists กล่าวว่า การที่นาฬิกาวันสิ้นโลกอยู่ที่ 90 วินาทีจะเที่ยงคืนนั้น ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าโลกมีเสถียรภาพ ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นการย้ำเตือนว่า นี่เป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลและกลุ่มชุมชนต่างๆ ต้องเร่งดำเนินการควบคุมอย่างใกล้ชิด

ราเชล ระบุว่า สงครามในยูเครน และการพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการนำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ต่างทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จนสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายจากการคำนวณหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิกาศที่ปรากฏเพิ่มขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า หรือน้ำท่วม รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่พัฒนาแบบล้ำหน้าจนน่าเป็นห่วง

ถามว่าเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกถอยได้ไหม?

ได้ เนื่องจากตำแหน่งของเข็มนาฬิกาขึ้นกับการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงของโลกโดยคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคงจากหลากหลายแขนงความเชี่ยวชาญ 22 คน พิจารณาบนพื้นฐานของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้า ตัวอย่างเช่น ในปี 1991 หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น เข็มนาฬิกาย้อนกลับมาที่ 17 นาทีจะเที่ยงคืน

ฉะนั้น การที่เข็มนาฬิกาอยู่ที่ 90 วินาทีจะเที่ยงคืน เป็นปีที่ 2 จึงสื่อความว่า ที่ผ่านมายังพยายามไม่มากพอ แค่การรณรงค์หรือเจรจาอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องลด-ละ-เลิกสะสมอาวุธสะสมอำนาจตั้งแต่บัดนี้อย่างจริงจัง และต้องทำด้วยกันทุกประเทศ…ไม่มียกเว้น.

 

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles